นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นใช้คำแรง ชาติกำลังเผชิญ “หายนภัย” COVID-19 สะเทือนเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอย่างสาหัส รัฐบาลต้องเร่งฟื้นฟูธุรกิจ และผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาดอย่างรัดกุม
โยชิฮิเดะ ซูงะ แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 26 ต.ค. เป็นครั้งแรกหลังรับตำแหน่งผู้นำญี่ปุ่น คำแถลงที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดคือ นายกฯ ญี่ปุ่นระบุว่า
“การระบาดของไวรัสโคโรนา ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นตกต่ำที่สุดหลังจากสงครามโลก ญี่ปุ่นกำลังเผชิญสถานการณ์วิกฤตที่อาจเรียกว่าเป็นหายนภัยแห่งชาติ 国難 ข้าพเจ้าในฐานะผู้นำรัฐนาวาตระหนักถึงความรับผิดชอบอันใหญ่หลวง”
การใช้คำที่สื่อความอย่างหนักหน่วงเช่นนี้สะท้อนว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 หนักหนากว่าที่ปรากฏ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้งบประมาณจำนวนมากในการโอบอุ้มธุรกิจ และประชาชน แต่การระบาดที่ยืดเยื้อ เกือบทุกประเทศทั่วโลกยังปิดประเทศ ระงับการเดินทาง ทำให้ยากที่ธุรกิจต่าง ๆ จะฟื้นตัวกลับมา
ถึงแม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในญี่ปุ่นแต่ละวันยังเพิ่มขึ้นราว 400-700 คน แต่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตัดสินใจแล้วว่าจะเดินหน้าเศรษฐกิจ และ “อยู่ร่วมกับเชื้อไวรัส” แต่ขณะนี้ญี่ปุ่นยังไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงต้องสนับสนุนการท่องเที่ยว และบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก
ประเด็นสำคัญจากถ้อยแถลงของนายกฯ ญี่ปุ่น ที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากไวรัส COVID-19 ประกอบด้วย
- ยกระดับการตรวจหาเชื้อของหน่วยงานสาธารณสุขในท้องถิ่นต่างๆ ให้ได้วันละเฉลี่ย 200,000 เคส ผู้ที่มีความเสี่ยงจะมีอาการหนัก ผู้สูงอายุ ผู้พิการจะได้รับการตรวจอย่างทั่วถึง
- จัดหาวัคซีน COVID-19 ให้กับประชาชนทุกคนฟรี ภายในกลางปีหน้า และรัฐบาลจะจ่ายค่าชดเชยหากประชาชนได้รับผลข้างเคียง รวมทั้งชดเชยให้หน่วยงานที่ถูกฟ้องร้องจากผลข้างเคียงจากการใช้วัคซีน
- สานต่อนโยบาย “อาเบะโนมิกส์” พร้อมปฏิรูปการทำงานในด้านต่าง ๆ
- ให้เงินสนับสนุนไม่เกิน 2 ล้านเยนกับบริษัทที่รายได้ลดลงจาก COVID-19 และให้เงินกู้ปลอดดอกเบี้ย ปลอดการค้ำประกันกับประชาชนที่เผชิญความยากลำบากในชีวิต
- จัดโครงการ “GO TO แคมเปญ” ส่งเสริมการท่องเที่ยว การบริโภค การจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ
- จัดตั้ง “สำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล” เร่งการปฏิรูปสู่ระบบราชการและโมเดลธุรกิจใหม่ ที่อยู่ร่วมกับไวรัสโคโรนา (With Corona) และหลังผ่านพ้นไวรัสโคโรนา (Post Corona)
- ยกเลิกการใช้ตราประทับในกระบวนการทำงาน เพื่อเอื้อต่อการทำงานออนไลน์ (ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการใช้ตราประทับชื่อ แทนการใช้ลายเซ็นเหมือนในประเทศต่างๆ)
- ปรับห่วงโซ่อุปทานของหน้ากากอนามัย และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้ผลิตในประเทศหรือกระจายการผลิตในหลายประเทศ รวมทั้งใช้การผลิตแบบอัตโนมัติ ไม่ต้องใช้มนุษย์
- ลดการกระจุกตัวของเศรษฐกิจที่กรุงโตเกียว และ 3 จังหวัดโดยรอบ (ไซตามะ, ชิบะ, คานางาวะ) ให้ไม่เกินร้อยละ 30 ของ GDP ส่งเสริมการกระจายเศรษฐกิจสู่ภูมิภาคอื่น ๆ
- ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตใหม่ รัฐบาลจะอุดหนุนค่าใช้จ่ายให้การเดินทางในประเทศราคาถูกลง
- รัฐบาลจะให้เงินสนับสนุนกับผู้มีประสบการณ์ในองค์กรขนาดใหญ่ ที่ต้องการออกมาทำธุรกิจ SME ในท้องถิ่นของตัวเอง
- เปิดรับแรงงานต่างชาติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจการเงิน โดยจะให้สิทธิพิเศษด้านภาษีและวีซ่าพำนักในญี่ปุ่น
- ปฏิรูประบบการทำงาน สนับสนุนสตรี ชาวต่างชาติ การโยกย้ายงาน เพื่อสร้างความหลากหลายในการทำงาน
- ยืนยันจัดงานโตเกียวโอลิมปิก และพาราลิมปิกในปีหน้า เพื่อแสดงถึงชัยชนะของมนุษยชาติต่อไวรัสโคโรนา
โยชิฮิเดะ ซูงะ เป็นผู้นำญี่ปุ่นในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด เขากล่าวว่าต้องการผลักดันให้ญี่ปุ่นเป็นสังคมที่พึ่งพาตนเอง ช่วยเหลือกันและกัน และสนับสนุนส่วนรวม เพื่อให้ญี่ปุ่นพ้นจากวิกฤตครั้งรุนแรงที่สุดครั้งนี้