‘ลงทุนไอที’ ปีหน้าฟื้นแน่! เทคโนโลยีทำงานระยะไกลจะเป็น ‘พระเอก’ ดันตลาด

แม้สถานการณ์ COVID-19 จะทำให้องค์กรทั่วโลกต้องหันมาพึ่งพาไอทีมากขึ้น แต่ ‘การ์ทเนอร์’ ก็ยังคาดว่าเม็ดเงินการลงทุนด้านไอทีจะลดลง 5.4% เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ในปีหน้าคาดว่าจะกลับมาโตได้อีกครั้ง

ภายในงาน Gartner IT Symposium/Xpo Americas ที่จัดขึ้นในรูปแบบเวอร์ชวล เหล่านักวิเคราะห์ได้แสดงความคิดเห็นถึงแนวโน้มตลาดไอทีทั่วโลกในปี 2564 อาจจะแตะ 3.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตขึ้น 4% โดยตลาดซอฟต์แวร์สำหรับองค์กรจะกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่งอีกครั้งที่ 7.2%

เนื่องจากแรงกระตุ้นขององค์กรที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาส่งเสริมการทำงานจากระยะไกลของบุคลากรมากขึ้น รวมถึงบริการแบบเวอร์ชวล อาทิ บริการเรียนหรือบริการด้านสุขภาพทางไกล และการประยุกต์ใช้ระบบไฮเปอร์ออโตเมชั่น เพื่อให้องค์กรตอบรับความต้องการที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดได้อย่างเหมาะสม

ส่วนตลาดดาต้าเซ็นเตอร์จะเติบโตสูงเป็นอันดับสองที่ 5.2% เนื่องจากไฮเปอร์สแคลเลอร์เร่งสร้างศูนย์ข้อมูล และองค์กรทั่วไปกลับมาดำเนินแผนการขยายศูนย์ข้อมูลตามปกติ โดยอนุญาตให้พนักงานกลับเข้าทำงานในสำนักงานได้เหมือนเดิม และแม้ว่ากิจกรรมบนคลาวด์จะเพิ่มขึ้นในปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่องค์กรเปลี่ยนไปใช้ระบบการทำงานผ่านระยะไกล หรือมีการใช้จ่ายของคลาวด์ระดับองค์กรในหลากหลายหมวดหมู่ แต่กิจกรรมเหล่านั้นจะยังไม่ส่งผลต่อรายได้ของผู้ผลิตต่างๆ จนถึงปี 2564

“ภาวะการใช้จ่ายชะลอตัวที่เกิดขึ้นตั้งแต่ราวเมษายนจนถึงสิงหาคมปีนี้ รวมถึงโครงการต่าง ๆ ประเภท ‘ทดลองใช้’ ของผู้ให้บริการระบบคลาวด์กำลังจะเริ่มทำให้รายได้จากคลาวด์ขยับขึ้นจากปีนี้ และจะเติบโตยาวไปถึงปี 2565 เนื่องจากคลาวด์พิสูจน์แล้วว่าสามารถทำงานได้เป็นอย่างดี” จอห์น-เดวิด เลิฟล็อค รองประธานฝ่ายวิจัย บริษัท การ์ทเนอร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ด้วยความผันผวนของรายได้ทำให้ ‘เงินสด’ มีสถานะสำคัญสูงสุด ทำให้ตอนนี้เหล่าซีไอโอกำลังจัดลำดับความสำคัญว่างานไหนเหมาะสมกับการลงทุนด้วยต้นทุนต่ำที่สุด ดังนั้น แม้ว่าบริษัทต่าง ๆ มีงานด้านไอทีต้องทำมากขึ้นด้วยเงินให้ใช้ที่น้อยลง พวกเขาจึงเบรกในส่วนที่ไม่สำคัญ เช่น การเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือและเครื่องพิมพ์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้การเติบโตของตลาดอุปกรณ์และบริการด้านการสื่อสารลดลง

“จากนี้ต่อไปการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ดิจิทัลจะไม่อยู่ภายใต้เหตุผลเรื่อง ROI แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นก่อนการแพร่ระบาด ทั้งนี้เพราะเทคโนโลยีสารสนเทศวันนี้ได้เป็นตัวกำหนดความอยู่รอดของธุรกิจมากกว่าแง่ของการเติบโต”

ทั้งนี้ คาดการณ์ภาพรวมมูลค่าการใช้จ่ายไอทีของประเทศไทยในปีหน้าจะพลิกกลับมาเติบโตที่ 5.6% จากในปีนี้คาดว่าจะลดลง 6.8%