เปิด 3 เหตุผลที่ทำให้ “เบลเยียม” วิกฤตหนักเมื่อ COVID-19 ระบาดซ้ำสองในยุโรป

(Photo : Pixabay)
หลังจากการระบาดรอบสองเกิดขึ้นในทวีปยุโรปตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2020 หลายประเทศยุโรปมีการออกมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ และรอบนี้ดูเหมือน “เบลเยียม” จะกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดที่หนักที่สุด เมื่อคิดอัตราผู้ติดเชื้อต่อประชากร 1 แสนคน และนี่คือ 4 เหตุผลที่ทำให้เบลเยียมรับมือ COVID-19 ได้ยาก

ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2020 เบลเยียมมีจำนวนผู้ติดเชื้อเกือบ 4.8 แสนคน และผู้เสียชีวิต 12,520 คน ตัวเลขนี้อาจจะไม่ได้มากเท่ากับประเทศใหญ่อย่างฝรั่งเศสและสเปนที่มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 สะสมทะลุ 1 ล้านคนไปแล้ว แต่ถ้านับตามอัตราผู้ติดเชื้อต่อประชากร 1 แสนคน เบลเยียมจะกลายเป็นประเทศที่วิกฤตที่สุดในยุโรป

ค่าเฉลี่ย 7 วันที่ผ่านมา เบลเยียมมีอัตราจำนวนผู้ติดเชื้อ 110 คนต่อประชากร 1 แสนคน สูงกว่าประเทศอื่นมาก โดยอันดับรองลงมาคือฝรั่งเศสที่มีผู้ติดเชื้อ 70 คนต่อประชากร 1 แสนคน ตามด้วยอิตาลีซึ่งมีผู้ติดเชื้อ 50 คนต่อประชากร 1 แสนคน

อัตราผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นต่อประชากร 1 แสนคน

หายนะครั้งนี้ทำให้ Frank Vandenbroucke รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของเบลเยียม ถึงกับออกปากว่า สถานการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญเปรียบเสมือน “สึนามิ” ของผู้ติดเชื้อ และเจ้าหน้าที่รัฐ “เสียการควบคุมไปแล้ว”

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น CNBC ได้สรุปออกมาเป็น 4 ปัจจัยที่ทำให้เบลเยียมรับมือได้อย่างยากลำบาก

 

1)พื้นฐานการเมือง

หนึ่งในเหตุผลเบื้องหลังวิกฤตคือพื้นฐานการเมืองการปกครองของเบลเยียมซึ่งมีความจำเพาะอย่างมาก เนื่องจากเบลเยียมปกครองแบบสหพันธรัฐ โดยแบ่งการปกครองออกเป็น 3 ส่วน คือ เขตเมืองหลวงบรัสเซลส์ เขตวัลลูน และเขตฟลามส์ ซึ่งเป็นการแบ่งตามภาษาที่ใช้ในแต่ละเขต คือภาษาเยอรมัน ฝรั่งเศส และดัตช์ นโยบายการปกครองบางอย่างใช้ร่วมกันก็จริง แต่แต่ละเขตมีสิทธิปกครองตนเองในบางเรื่อง เช่น การศึกษา

ระหว่างเกิดวิกฤต COVID-19 นักการเมืองในกลุ่มที่ใช้ภาษาดัตช์กับภาษาฝรั่งเศสมีความเห็นขัดแย้งกันว่า จะจัดสมดุลอย่างไรระหว่างการจำกัดการระบาดของไวรัสกับการหลีกเลี่ยงวิกฤตด้านเศรษฐกิจ

ในที่สุด Alexander de Croo ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่เข้ารับตำแหน่งเมื่อช่วงปลายเดือนกันยายน 2020 ตัดสินใจที่จะวอนขอให้ทั้งประเทศนี้ที่มีประชากรร่วม 11 ล้านคน พร้อมใจกันต่อสู้กับโรคระบาดไปด้วยกัน จากนั้นเมื่อต้นสัปดาห์นี้เอง เขาได้ออกมาตรการล็อกดาวน์ซึ่งจะใช้ยาวไปจนถึงกลางเดือนธันวาคม 2020 เป็นอย่างน้อย และจะยังคงมีมาตรการที่เข้มงวดต่อเนื่องจนกว่าจะมีวัคซีนออกมา

 

2)ประชากรหนาแน่นสูง

เปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างเยอรมนีและฝรั่งเศส เบลเยียมมีความหนาแน่นของประชากรสูงกว่ามาก โดยมีประชากร 380 คนต่อตารางกิโลเมตร ขณะที่เยอรมนีมีประชากร 240 คนต่อตารางกิโลเมตร ฝรั่งเศสนั้นมีเพียง 120 คนต่อตารางกิโลเมตร ดังนั้น การเว้นระยะห่างทางสังคมในเบลเยียมจึงยากกว่า

เบลเยียมเป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่น เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในยุโรป (Photo : Pixabay)

 

3)ผ่อนคลายล็อกดาวน์เร็วเกินไป

“เมื่อช่วงสิ้นฤดูร้อน เรากลับมาเปิดโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถม และโรงเรียนมัธยมพร้อมๆ กัน และผู้ใหญ่ก็กลับไปทำงานกันตามปกติ” Simon Dellicour นักพันธุวิศวกรรมจาก Universite Libre de Bruxelles กล่าว
“ทุกอย่างรวมกันนั้น ทำให้สถานการณ์ของเราแย่ลงและแย่ลงเรื่อยๆ”

ในช่วงการระบาดรอบแรก เบลเยียมเป็นหนึ่งในประเทศที่มีมาตรการล็อกดาวน์เข้มงวดที่สุดในยุโรป โดยมีตำรวจคอยตรวจเช็กการเดินทางออกจากบ้านต้องเป็นการเดินทางที่จำเป็นจริงๆ แต่เมื่อเจอการระบาดรอบสอง กลายเป็นว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากยิ่งกว่ารอบแรก อย่างไรก็ตาม มองในแง่ดีคือมีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับรอบแรก

ปัจจุบัน วิกฤตของเบลเยียมทำให้ประเทศต้องทำเรื่องขอส่งผู้ป่วยหนักข้ามไปรักษาที่เยอรมนี เพราะเตียงโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยหนักอาจไม่เพียงพอ ขณะนี้เบลเยียมมีผู้ป่วยหนัก 1,412 คน แต่จะรองรับได้เพียงแค่ 2,000 คนเท่านั้น

Source