เมื่อกลุ่มทุนค้าปลีกจากฝรั่งเศสเกิดอาการถอดใจ จึงประกาศขายกิจการ “คาร์ฟูร์” ทั้งในไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ให้กับผู้ที่สนใจ
อันที่จริงแล้ว ทางสำนักงานใหญ่ของคาร์ฟูร์ในประเทศฝรั่งเศสตั้งใจจะขายคาร์ฟูร์ทั้ง 3 ประเทศให้จบในดีลเดียวกัน เพื่อปิดการขายให้ได้รวดเร็วที่สุด แต่ดูเหมือนว่า จะเป็นการยากในการหาผู้ซื้อที่พร้อมทั้งกำลังทรัพย์ และศักยภาพในการบริหารงานถัดจากคาร์ฟูร์ใน 3 ประเทศและมีความเป็นไปได้สูงมากว่า ต้องขายกิจการแยกในแต่ละประเทศ
ในไทย ที่ซึ่ง “คาร์ฟูร์” ครองอันดับ 3 ในไฮเปอร์มาร์เก็ต แม้ไม่มีการให้ข่าวอย่างเป็นทางการจากทางผู้บริหารคาร์ฟูร์ในประเทศไทย และพนักงานในองค์กรยังคงยืนยันว่า ทุกอย่างยังคงปกติ แต่ก็มีข้อมูลออกมาเป็นระยะจากทางกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในประเทศไทย
เริ่มแรกด้วยสหพัฒนพิบูล ที่ออกมาให้ข่าวเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ทางคาร์ฟูร์ได้ติดต่อมาทางสหพัฒน์ว่า สนใจที่จะรับช่วงกิจการต่อจากคาร์ฟูร์หรือไม่ โดย บุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ และกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยว่า ได้รับการติดต่อจากคาร์ฟูร์จริง ซึ่งทางบริษัทฯ ก็สนใจ เพราะทำธุรกิจอุปโภคบริโภคอยู่แล้ว โดยการซื้อคาร์ฟูร์เข้ามาจะสามารถนำไปต่อยอดได้
เช่นเดียวกับทางเบอร์ลี่ยุคเกอร์ ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ อัศวิน เตชะเจริญวิกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี บอกว่า ได้รับการติดต่อจากทางคาร์ฟูร์ ซึ่งเป็นผู้ขาย ให้เข้าร่วมประมูลกิจการคาร์ฟูร์ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้ลงลึกในรายละเอียด เป็นเพียงคำเชิญชวน และมายื่นข้อเสนอเท่านั้น
เบื้องต้น ขั้นตอนการประมูลจะมีทั้งหมด 2 รอบด้วยกัน โดยบรรดาผู้ซื้อที่ทางผู้ขายได้ติดต่อไป จะเข้าร่วมประมูลในครั้งแรก ก่อนที่จะเหลือ Candidate สำคัญเพียงไม่กี่ราย เพื่อประมูลรอบ 2 ต่อไป
หากถามว่าสนใจหรือเปล่า อัศวินตอบอย่างชัดเจนว่า ทางบีเจซีก็กำลังมองธุรกิจปลายน้ำแบบค้าปลีกอยู่ เพราะตอนนี้ทางบีเจซีมีธุรกิจต้นน้ำ อย่างเช่น ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ประเภทแก้ว และกระป๋อง ซึ่งเป็นยูนิตที่สร้างรายได้สูงสุดให้กับบริษัท และมีธุรกิจกลางน้ำ โดยเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค อย่างเช่น กระดาษทิสชูเซลล็อกซ์ และขนมคบเคี้ยวเทสโต เป็นต้น ซึ่งธุรกิจที่ยังขาดหาย คือ ธุรกิจปลายน้ำแบบค้าปลีกและบีเจซีต้องการส่วนนี้เข้ามาเติมเต็มธุรกิจให้สมบูรณ์มากขึ้น
ดูเหมือนว่าค้าปลีกจะเป็นธุรกิจในฝันของเจริญ สิริวัฒนภักดี มาโดยตลอด เนื่องจากเขาเองก็เป็น Landlord เจ้าของที่ดินรายใหญ่ในเมืองไทย และมีความพยายามในการปลุกปลั้นธุรกิจรีเทลมาอย่างต่อเนื่อง ถึงขนาดแตกบริษัท ทีซีซี แลนด์ รีเทล เพื่อมาดูแลตรงนี้โดยเฉพาะ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้เปิดตัวโครงการ Food Channel ตามพื้นที่สำคัญต่างๆ ในเมือง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก มีเพียงห้าง “พันธุ์ทิพย์” ศูนย์กลางไอทีบริเวณราชเทวีเท่านั้น ที่ได้รับการตอบรับสูงสุด
ยิ่งพิจารณาดีลที่บีเจซี จะร่วมประมูลการเข้าซื้อกิจการคาร์ฟูร์ ก็ยิ่งเห็นความเป็นไปได้มากขึ้น เพราะเรื่องเงินคงไม่ใช่ปัญหาสำหรับบีเจซีอย่างแน่นอน เมื่อบวกกับแนวทางการทำธุรกิจของเจริญที่เน้นใช้ทางลัดด้วยการ Joint Venture หรือ Merge & Acquisition มาโดยตลอด และแนวโน้มที่สหพัฒน์จะปฏิเสธดีลนี้ เพราะยังคงเจ็บปวดจากการพัฒนา 108 ช็อป รีเทลที่มีอยู่ในมือซึ่งยังไม่ประสบความสำเร็จ
บีเจซี จึงกลายเป็น Candidate ลำดับต้นในการเป็นเจ้าของคาร์ฟูร์คนต่อไปที่ต้องจับตามอง