U BEER น้องใหม่ที่เคยเป็นดาวรุ่งของค่าย “สิงห์” เตรียมอำลาวงการ หลังวางขายได้ 3 ปี
อะไรที่ทำให้ “บุญรอด” ต้องตัดใจปล่อย U BEER (ยูเบียร์) ออกจากพอร์ต “เลิกผลิต–เลิกทำการตลาด” ท่ามกลางสถานการณ์ตลาดเบียร์ที่สะเทือนหนักจากวิกฤต COVID-19 … เราจะมาหาคำตอบกัน
ภูริต ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด ให้สัมภาษณ์ว่า บริษัทได้ยกเลิกผลิต U BEER แล้ว ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ซีอีโอบุญรอดเทรดดิ้ง ตอบถึงเหตุผลของการยกเลิกผลิต U BEER เเบบกว้างๆ ว่า ปกติเเล้วจะมีการ “ให้เวลา” สินค้าเพื่อดูว่ามีการเติบโตเป็นอย่างไรในช่วง 2-3 ปี หากไม่ประสบความสำเร็จ หรือ “ไม่ทำกำไร” ตามที่ตั้งเป้าไว้ก็จำเป็นต้องถอดออกไป เพื่อให้บริษัทได้หันไปทุ่มกำลังกับแบรนด์อื่นๆ ในเครือที่ยังเป็นเทรนด์เเละมีเเววจะไปต่อได้
โดยในอนาคต จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ U BEER จะฟื้นกลับมาทำตลาดอีกครั้งนั้น ภูริตขอไม่ตอบในประเด็นนี้
ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2559 เเบรนด์สิงห์ เปิดตัว U BEER เพื่อจับกลุ่มลูกค้า “คนรุ่นใหม่” อายุ 21-25 ปีโดยเฉพาะ ไม่ทับไลน์กับเเบรนด์สิงห์เเละลีโอ ที่มีฐานเเฟนคลับ 35 ปีขึ้นไป
ในช่วงเเรก U BEER “เเจ้งเกิด” ได้ดีในกระเเสโลกออนไลน์ ตามกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ ที่นิยมใช้โซเชียลมีเดียเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ประกอบกับการรุกทำการตลาดออนไลน์อย่างหนักหน่วงของเเบรนด์ ผ่านการทุ่มสารพัดเเคมเปญ
อีกจุดเด่นของ U BEER “บรรจุภัณฑ์” ที่มีการดีไซน์ให้แหวกแนวไปจากแบบเดิม ด้วยการเน้น “สีเหลือง” และตัวอักษร U เเบบมินิมอล
U BEER เริ่มต้นจากการเน้นวางขายใน “ช่องทางเฉพาะ” ผ่านเอเย่นต์ในตลาดเล็กๆ ที่หาซื้อไม่ได้ตามร้านทั่วไปก่อน ค่อยๆ เข้าไปเจาะลูกค้าตามร้านอาหาร ผับ บาร์ เพื่อสร้างกระแสให้ในโลกโซเชียลก่อน ตามสไตล์ “ยิ่งหายาก คนยิ่งสนใจ” จากนั้นค่อยขยับมาตลาดเเมส กระจายสินค้าไปสู่โมเดิร์นเทรด ตามห้างร้านเเละซูเปอร์มาร์เก็ต
อย่างไรก็ตาม มาปีนี้ “ตลาดเบียร์ไทย” ที่มีมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาท ที่ฟาดฟันกันระหว่าง 2 ค่ายใหญ่ ได้รับผลกระทบจากการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ไปไม่น้อย
เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติหาย สถานบันเทิงต้องปิดชั่วคราว เเละรัฐมีคำสั่งห้ามขายแอลกอฮอล์ 1 เดือนในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งเคยเป็นช่วงพีคของยอดขายจากการสังสรรค์ในเทศกาลสงกรานต์ คาดว่าจบสิ้นปี 2563 นี้ ตลาดเบียร์จะติดลบถึง 15-20% เลยทีเดียว
บุญรอดบริวเวอรี่ มีเเบรนด์ตัวท็อปอย่าง Singha , LEO ที่ติดลมบนอยู่ในตลาดเเมสมายาวนาน เเละมีเเบรนด์นอกที่นำเข้ามาอย่าง Carlsberg , Corona , Asahi , kronenbourg เเละโซจูของเกาหลีใต้ Jinro
นอกจากนี้ ยังมี MY BEER ที่เป็นตัว Lager Beer นำมาเจาะตลาดคนรุ่นใหม่ (เช่นเดียวกันกับ U BEER) เเละ Snowy Weizen ที่ทำตลาดเบียร์พรีเมียม ส่วน Est 33 Kopper เป็นแบรนด์ “คราฟต์เบียร์” ที่สิงห์ลงมาทำเอง
“ภูริต ภิรมย์ภักดี” เริ่มให้ความสำคัญกับ “คราฟต์เบียร์ไทย” มากขึ้น เห็นได้ชัดจากการประเดิมเข้าไปถือหุ้นใน
‘ชาละวัน’ มาตั้งเเต่ปี 2561 ซึ่งตอนนี้บริษัทได้ให้การสนับสนุนด้วยการผลิตและจัดจำหน่ายให้ โดยภูริต ย้ำว่าการเข้ามาของสิงห์ เป็นเพียงการเข้ามาถือหุ้นเพื่อสนับสนุนให้เเบรนด์ไปได้ไกลเท่านั้น การตัดสินใจเเละการบริหารต่างๆ ยังเป็นไปตามทิศทางของผู้ก่อตั้งเเบรนด์ชาละวัน
อีกหนึ่งสาเหตุที่น่าจะเป็นเหตุผลในการตัดใจปล่อย U BEER ของสิงห์ในครั้งนี้คือ คำสั่งซื้อห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางออนไลน์ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 เพื่อป้องกันเยาวชนไม่ให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย และเพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือบริการที่เกี่ยวข้องกับการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทาง “ออนไลน์” ให้กับผู้บริโภคโดยตรงได้
ด้วยความที่ลูกค้าหลักของ U BEER คือคนรุ่นใหม่ มีพฤติกรรมซื้อของผ่านออนไลน์ จึงได้รับผลกระทบโดยตรง ก่อนหน้านี้ บุญรอดได้ปลุกปั้น “Singha Online” จนเริ่มทำยอดขายจากเดือนละ 10-30 ล้านบาท ขยับขึ้นมาเป็น 100 ล้านบาทได้เเล้ว เเต่เมื่อมีคำสั่งดังกล่าว ยอดขายเบียร์ออนไลน์ทั้งหมดจึงกลายเป็น “ศูนย์” บริษัทจึงต้องปรับหาทิศทางเเละกลยุทธ์ใหม่
สิงห์ บุกขยายพอร์ตในเครื่องดื่มกลุ่มนอนแอลกอฮอล์มากขึ้น ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ตามกระเเสนิยมโลก อีกทั้งยังไม่มีข้อจำกัดด้านโฆษณามากเท่ากับกลุ่มเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์
ในปีนี้มีการออกสินค้า “นอน-เเอล” ตัวใหม่มาเจาะตลาดทั้ง สิงห์ เลมอนโซดา และ เพอร์ร่า วิตามิน วอเตอร์ โดยสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ สิงห์จะมีการออกสินค้าใหม่อีก 1 ตัว เน้นไปที่กลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ อย่างกลุ่ม 0 cal เเละ Functional Drink
อ่านต่อ : เบื้องหลัง “เพอร์ร่า วิตามิน วอเตอร์” ช้าเเต่ชัวร์…สิงห์ส่งหมัดเด็ด ชิงตลาดน้ำผสมวิตามิน
โดยสิงห์มีเเผนปรับสัดส่วนในพอร์ตเครื่องดื่ม ดังต่อไปนี้
ปี 2562 – alcoholic 85 : 15 non-alcoholic
ปี 2563F – alcoholic 80 : 20 non-alcoholic
ปี 2564F – alcoholic 70 : 30 non-alcoholic
เเม่ทัพบุญรอดเทรดดิ้ง มองว่า การที่ธุรกิจจะเติบโตได้ในปีนี้ ถือเป็น “เรื่องยาก” จากผลกระทบของสถานการณ์ต่างๆ ต้อง “รัดเข็มขัด” ลดต้นทุน มอง “กำไร” ไว้ทีหลัง เพราะต้องประคองกิจการให้อยู่รอด เเละเตรียมความพร้อมกลับมาเเข็งเเกร่งให้ได้ในปีต่อไป ซึ่งปี 2564 อาจจะ “สาหัส” กว่านี้ โดยบริษัทมีการจัดสรรงบฯ บางส่วนไปช่วยเหลือสังคม เพื่อให้ทุกภาคส่วน รวมถึงคู่ค้ารอดพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน