เมื่อแสนสิริขอเป็นหลุยส์ วิตตอง

อ่านหัวข้อเรื่องอาจเข้าใจผิด คิดว่า “แสนสิริ” กำลังแตกไลน์ธุรกิจจากอสังหาริมทรัพย์ที่มีความชำนาญมากกว่า 20 ปี ก้าวสู่เส้นทางสาย “แฟชั่น”

แต่นี่เป็นเพียงแค่การเปรียบเทียบเป้าหมายที่แสนสิริ ต้องการสร้างแบรนด์ให้ไปถึงจุดหมายปลายทางอย่างที่หลุยส์ วิตตองเป็นนั่นคือ “Trendsetter”

มนู ตระกูลวัฒนกิจ Head of Sansiri Design Solution Department หรือ Sansiri DSD อธิบายความเป็น Trendsetter ของหลุยส์ วิตตอง ให้ชัดเจนขึ้นว่า มีอยู่ปีหนึ่ง หลุยส์ วิตตอง ประกาศเปิดคอลเลกชั่นใหม่ ที่มีสีม่วงเป็นจุดเด่น ซึ่งตัวเขาเองมองว่า ไม่เข้าท่าเอาเสียเลย แต่เมื่อวางขายวันแรก ผู้คนกลับต่อแถวกันอย่างยาวเหยียด เพื่อรอซื้อสินค้าคอลเลกชั่นสีม่วงนี้

ตามความคิดของมนู นี่เป็นพลังของ Trendsetter

เมื่อใดก็ตาม ที่ Trendsetter ขยับทำอะไรขึ้นมา แม้ว่าในสายตาบางคนอาจคิดว่าดูไม่ดี แต่ก็มีคนจำนวนมากที่พร้อมยอมเดินตามแบบไร้ข้อกังขา

และแสนสิริ ต้องการพัฒนาแบรนด์ให้ไปถึงจุดเดียวกับหลุยส์ วิตตองสร้างให้เกิดขึ้นในวงการแฟชั่น Sansiri DSD แผนกน้องใหม่ล่าสุดในแสนสิริ ที่มีหน้าที่ “คิดนอกกรอบ” ในการออกแบบ ด้วยชุดความคิดที่ว่า หากจะเป็น Trendsetter ต้องเริ่มต้นคิดต่างให้ได้ก่อน ถ้ายังตามหลังใครก็ไม่มีทางได้ภาพลักษณ์นี้มา

ไล่ตั้งแต่บรรยากาศภายในโครงการ รูปแบบบ้าน สโมสร ราวบันไดภายในบ้าน รถกอล์ฟที่ให้บริการภายในสำนักงานขาย แก้วน้ำที่ใช้เสิร์ฟ ทั้งหมดเหล่านี้ คือหน้าที่ของ Sansiri DSD ที่จะต้องออกแบบให้ผู้บริโภคได้รับรู้ถึงความต่างของแสนสิริกับโครงการอื่นๆ

แสนสิริ เชื่อว่า แบรนด์แข็งแรงมากพอที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เกี่ยวกับสินค้าตกแต่งบ้าน ด้วยการจับมือในรูปแบบ Co-brand กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างเช่น การผลิตเฟอร์นิเจอร์ร่วมกับ Modernform ในชื่อแบรนด์ Siri-Modernform โดยทีมแสนสิริมีส่วนเข้าไปออกแบบ หรือการร่วมมือกับ Cotto ผลิตสุขภัณฑ์ดีไซน์ต่างในชื่อแบรนด์ Siri-Cotto

การทำเช่นนี้ เท่ากับว่า แสนสิริยังสามารถรองรับแนวโน้มพฤติกรรมการซื้อที่อยู่อาศัยของลูกค้ายุคนี้ ที่ต้องเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งบ้านดูดีเข้ากับสไตล์บ้าน และพร้อมอยู่ได้ทันที

ขณะเดียวกัน ยังทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงแบรนด์แสนสิริได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นลูกค้าบ้านเท่านั้น และในอนาคตลูกค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านเหล่านี้ก็มีโอกาสเป็นลูกค้าที่อยู่อาศัยของแสนสิริได้เช่นกัน

ที่ผ่านมา แสนสิริสามารถสร้างสไตล์แบรนด์ การออกแบบบ้านและคอนโดมิเนียมทันสมัย ทำเลใจกลางเมือง สร้างคอมมูนิตี้ผ่านไลฟ์สไตล์มาร์เก็ตติ้ง จนมีกลุ่มลูกค้าชัดเจน คือกลุ่มเศรษฐีใหม่และคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการบ้านพรีเมียม ดูทันสมัย อินเทรนด์ เหมือนอย่างที่กลุ่มโนเบิลเคยจับตลาดกลุ่มลูกค้าคนโฆษณา นักออกแบบมาแล้ว การ Co-brand กับคู่ค้าที่เป็นต่างๆ จึงไม่ใช่เรื่องยาก อย่างน้อยการันตีได้ว่า มีลูกค้าที่เป็นแฟนของแสนสิริอยู่ และเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ

มนู บอกว่า ในช่วงแรก การแตกไลน์ไปยังการผลิตสินค้าอื่นๆ ไม่ใช่เพื่อผลกำไร เพราะแสนสิริมีส่วนร่วมแค่การออกแบบ ไม่ได้ร่วมจัดจำหน่ายแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการสร้างการรับรู้ในแบรนด์แสนสิริให้มากขึ้น รวมทั้งแบรนดิ้งให้ภาพของแบรนด์แสนสิริ ดูชัดเจน จับต้องได้ง่าย ให้ผู้บริโภคค่อยๆ ซึมซับไปกับสไตล์ของแสนสิริที่ได้สร้างไว้ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่

แนวความคิดเบื้องหลังการก่อตั้งแผนกนี้ มาจาก เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการของ บมจ.แสนสิริ เชื่อว่า หากยังทำอะไรเดิมๆ ก็คงยากที่จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายได้ แต่การสร้างสไตล์ให้แบรนด์จนผู้บริโภครับรู้และเข้าใจต่างหาก คือแนวทางแห่งการยั่งยืน เหมือนอย่างที่เกรย์ฮาวด์เคยทำสำเร็จมาแล้วกับการสร้างสไตล์ และไม่ว่าจะออกคอลเลกชั่นอะไร หรือต่อยอดไปทำธุรกิจไหน ผู้บริโภคก็จะรับรู้ได้ทันที่จากสไตล์ที่เกรย์ฮาวด์ได้สร้างไว้จนติดตา

Sansiri DSD ก็เป็นหนึ่งในแนวทางการสร้างแบรนด์ของแสนสิริ ที่ใช้การดีไซน์ สร้างสไตล์ของแสนสิริให้เกิดขึ้น แสนสิริ ต้องสร้างการรับรู้ที่สะท้อนแบรนด์ได้ชัดเจน ด้วยรูปแบบจัดนิทรรศการ “การสร้างสรรค์ที่อยู่อาศัยแห่งโลกอนาคต” (Tomorrow and Sustainable Living) และการเลือกใช้สถานที่อย่าง ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งความรู้ทางด้านการออกแบบ และถือเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายแรกๆ ที่ใช้วิธีการจัดกรรมผ่านนิทรรศการในลักษณะนี้

อย่างไรก็ตาม การจะเป็น Trendsetter ที่การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยก็สร้างความสะเทือนไปทั้งวงการ ไม่ใช่เรื่องง่าย และมนูเองก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าเมื่อไรที่แสนสิริจะก้าวไปถึงจุดนั้น

แต่เขาเชื่อมั่นว่า สิ่งที่เขาและทีมงานอีกกว่า 30 ชีวิตทำจะไม่สูญเปล่า เพราะอย่างน้อยผู้บริโภคก็จะค่อยๆ ซึมซับสไตล์ของแสนสิริผ่านงานดีไซน์รูปแบบต่างๆ ที่น่าจะออกมาไม่ต่ำกว่า 10 ผลงานต่อปี โดยเริ่มแรกกำจัดอยู่แค่ในกรอบที่เกี่ยวข้องกับบ้านก่อน และผลงานเหล่านี้จะค่อยๆ แปรเปลี่ยนพลังของดีไซน์ ให้เป็นพลังของ Trendsetter ได้ในที่สุด

เฟ้นไอเดีย

แนวทางการหาไอเดียในการสร้างสรรค์ผลงานของทีม Sansiri DSD มีอยู่ 2 แบบด้วยกัน คือ จากภายในองค์กร และการตระเวนงานแฟร์เกี่ยวกับการออกแบบทั่วโลก

จากภายในองค์กร นอกจากทีมงาน 30 กว่าคนที่ของแผนก Sansiri DSD แล้ว ยังได้ดึงทีมการตลาดของแบรนด์โครงการต่างๆ ในเครือแสนสิริเข้ามาร่วมเบรนสตรอมค้นหาไอเดียด้วย โดยมีทีมสื่อสารการตลาดคอยควบคุมอีกทีให้ไอเดียที่กลั่นกรองออกมาตอบโจทย์แนวทางการสร้างแบรนด์ที่ได้วางไว้

การตระเวนงานแฟร์ของทีม Sansiri DSD ในแต่ละปี เดินทางไปยัง 3 ประเทศที่เป็นต้นแบบในเรื่องดีไซน์ คือ อิตาลี ซึ่งทุกเดือนเมษายนได้มีการจัดงาน Milan Furniture Fair รวมทั้งการไปอัพเดตเทรนด์การออกแบบที่ญี่ปุ่น และเกาหลี

ประโยชน์จาก Sansiri DSD

– แตกไลน์ไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ

– Touch Point ที่เข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง และหลากหลายมากขึ้น

– ต่อยอดแบรนด์แสนสิริ

Profile

มนู ตระกูลวัฒนกิจ
หลังจากจบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโท จากคณะบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สถาบัน บัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (NIDA) ตลอดเวลา 30 ปี มนู ได้ร่วมงานกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำหลายแห่ง จนกระทั่งใน 2550 ได้เข้าร่วมงานกับทางแสนสิริ และได้ร่วมก่อตั้งแผนก Sansiri DSD โดยมนูรับหน้าที่ Head of Design Solution Department พร้อมกับทีมงานอีกกว่า 30 คน