โรคระบาดทำเศรษฐกิจซบเซา คนระวังใช้จ่าย ประหยัดมากขึ้น รูดบัตรเครดิตน้อยลง “เเบงก์กรุงเทพ” ขยับเจาะลูกค้าจ่ายตามไลฟ์สไตล์ เน้นดีลซูเปอร์มาร์เก็ต–สินค้าในชีวิตประจำวัน ลุยต่อกลยุทธ์กระตุ้นรูดบัตรได้ “ร่วมทำบุญ” จ่อปรับเพิ่มรายได้ขั้นต่ำสมัครบัตรเครดิตเป็น 25,000-30,000 บาทต่อเดือน ห่วงกลุ่มหนี้ครัวเรือนสูง
โชค ณ ระนอง ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการสายบัตรเครดิต ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก เพราะภาคการท่องเที่ยวยังไม่กลับมา เเละคาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 12 เดือนจึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติซึ่งต้องจับตาดูการพัฒนาวัคซีนด้วย
การที่เศรษฐกิจซบเซานั้น ส่งผลกระทบต่อ “ธุรกิจบัตรเครดิต” เเละการจับจ่ายใช้สอยของผู้ถือบัตรของธนาคารโดยตรง
ล่าสุด ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตกรุงเทพ ลดลง 11-12% เมื่อเทียบจากปีก่อน “ดีขึ้น” เมื่อเทียบกับช่วงล็อกดาวน์ ในเดือนเม.ย.-พ.ค. ที่ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรลดลงไปต่ำสุดที่ 16-17% เนื่องจากการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวหายไป
สำหรับเป้าหมาย “บัตรเครดิตใหม่” ของปีนี้ ผู้บริหารเเบงก์กรุงเทพ ยอมรับว่า ไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 2.8 แสนบัตร เพราะปัจจุบันทำได้เพียง 1.8 แสนบัตรเท่านั้น หลักๆ มาผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 และคาดว่าสิ้นปีนี้จะทำได้ 2 แสนบัตร ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพมีฐานลูกค้าบัตรเครดิตทั้งหมดราว 2.5 ล้านราย
“ปีหน้าถ้าได้ยอดบัตรใหม่ 2 แสนบัตร เท่ากับปีนี้ก็เก่งแล้ว ส่วนยอดใช้จ่ายมองว่าจะทรงตัวจากปีนี้“
ขยับหาลูกค้า ซื้อของอุปโภค-บริโภค
เมื่อผู้คนต้อง “ประหยัด” เเละระมัดระวังการใช้เงินมากขึ้น ทำให้การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตลดน้อยลงไปด้วย ประกอบกับการใช้จ่ายเพื่อ “ท่องเที่ยวต่างประเทศ” ที่เคยเป็นหมวดที่มีการใช้จ่ายสูงหายไป
ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้เเบงก์กรุงเทพต้องขยับหันมามุ่งไปส่งเสริมการใช้จ่ายเน้นด้าน “อุปโภคบริโภค” รูดบัตรเพื่อซื้อสินค้าเเละการเดินทางในชีวิตประจำวัน
“ธนาคารกรุงเทพ จะทำโปรโมชันกับกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต เติมน้ำมัน การรักษาพยาบาล เเละการท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มมากขึ้น”
เรียกได้ว่า เป็นไปตามเทรนด์ของผู้ให้บริการบัตรเครดิตหลายราย ที่เริ่มหันมาเปิดบัตรใหม่ตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมากขึ้น อย่าง บัตรเครดิตช้อปปิ้งออนไลน์ บัตรเครดิตเพื่อตรวจสุขภาพ ฯลฯ
ผู้บริหารเเบงก์กรุงเทพ มองว่า เป็นโอกาสที่ดีในการจะเข้าถึงลูกค้าใหม่เเละตอบโจทย์ลูกค้าเก่ามากขึ้น เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ใช้จ่ายเฉพาะส่วนตาม “จุดประสงค์” มากขึ้น ไม่รูดบัตรเกินเพื่อเผื่อใช้ เเต่คิดว่าจะใช้อย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งยังมีอีกหลายเซกชั่นการใช้ชีวิตที่ธุรกิจบัตรเครดิตจะขยายไปหาลูกค้าได้อีก
“ทำบุญ” กระตุ้นรูดบัตร
อีกหนึ่งบัตรเครดิตของธนาคารกรุงเทพที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในปัจจุบัน ทั้งเรื่องสุขภาพเเละการชอบ “ทำบุญ” ของคนไทย ก็คือการ Co- Brand กับโรงพยาบาลศิริราช ที่ทำมาเเล้ว 5 ปี เเละเพิ่งมีการ “อัพเกรดสิทธิประโยชน์” ต่อไปอีก 5 ปี เนื่องจากมีกระเเสตอบรับที่ดี สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้
สำหรับ “บัตรบีเฟิสต์ สมาร์ท ทีพีเอ็น แรบบิท ศิริราช” จะให้ฟรีประกันอุบัติเหตุ พร้อมค่ารักษาพยาบาล แตะจ่ายได้เหมือนบัตรแรบบิท ขณะที่ “บัตรเครดิตวีซ่า แพลทินัม ศิริราช” ให้ผ่อนจ่ายค่ารักษาค่ารักษา 0% นาน 3 เดือนพร้อมส่วนลดคะแนนสะสมเเละตรวจสุขภาพฟรี
โดยทุกยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรดังกล่าว ธนาคารกรุงเทพจะสมทบให้ศิริราช 0.2% ของยอดใช้จ่าย
ปัจจุบัน บัตรร่วมศิริราช มีผู้ถือบัตรรวมกว่า 1.4 ล้านราย มียอดบริจาคของลูกค้าและเงินสมทบธนาคารแก่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล รวมกว่า 275 ล้านบาทในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา
“การที่เราทำให้ผู้ถือบัตรสามารถเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับในคราวเดียวกัน ทุกครั้งที่มีการใช้จ่ายผ่านบัตร เป็นการสร้างความแตกต่างจากบัตรอื่น ๆ ในตลาด ตอบโจทย์ผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับการได้มีส่วนช่วยดูแลสังคม หรือการทำดีในแบบที่สามารถจับต้องได้จริง รู้สึกดีเมื่อรู้ว่าทุกการใช้จ่ายของลูกค้า ได้ทำประโยชน์ให้ผู้อื่นด้วย”
ผู้บริหารเเบงก์กรุงเทพ บอกอีกว่า บัตรเครดิตที่เเบ่งยอดการใช้จ่ายไปทำบุญเเละช่วยเหลือสังคมนั้น กระตุ้นผู้บริโภคให้ตัดสินใจเลือกหยิบบัตรมาใช้จ่ายง่ายขึ้น เป็นอีกหนึ่งเเนวทางในการเพิ่มยอดใช้จ่ายผ่านบัตรได้ดี โดยเฉพาะในยามเศรษฐกิจไม่เเน่นอน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพมีบัตรเครดิตที่ทำโปรโมชันร่วมทำบุญกับหลายโรงพยาบาล เเต่เป็นไปในลักษณะการเเลกพอยท์ ไม่ได้เป็น Co- Brand เหมือนกับศิริราช โดยคาดหวังว่าจะมีลูกค้าผู้ถือบัตรร่วมศิริราชทั้ง 2 แบบเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านราย ภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า
“ต่อไปก็อาจจะมีการพิจารณาร่วมกับโรงพยาบาลอื่นๆ เเต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะออกบัตร Co- Brand ในช่วงเร็วๆ นี้”
ปรับรายได้ขั้นต่ำของลูกค้าเป็น 2.5-3 หมื่นต่อเดือน
ส่วนภาพรวมแผนธุรกิจปี 2564 ในเบื้องต้นธนาคารกรุงเทพ จะปรับฐานคุณสมบัติของลูกค้าใหม่เป็นผู้มีรายได้ 25,000 -30,000 บาทต่อเดือน จากเดิมที่มีการพิจารณาปล่อยกู้ บัตรเครดิตอยู่ที่รายได้ราว 20,000 บาทต่อเดือน เพื่อหวังชะลอหนี้ครัวเรือนที่ปัจจุบันคนกลุ่มนี้อยู่ระดับสูง และไม่อยากส่งเสริมให้คนใช้จ่ายเกินตัว
“เราจะเน้นไปที่การกระตุ้นการใช้จ่ายบัตรเครดิตกับลูกค้าเดิมเป็นหลัก”
จากสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อลูกค้าของธนาคาร โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับภาคท่องเที่ยว โรงแรม สายการบิน โดยล่าสุด มีลูกค้าที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ราว 35,000 ราย ส่วนใหญ่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ มีลูกค้าราว 20-25% ที่ยังต้องการความช่วยเหลือต่อ
โดยธนาคารกรุงเทพ มีมาตรการให้ความช่วยเหลือต่างๆ เช่น ด้วยการพักชำระหนี้ 3 เดือน , คิดดอกเบี้ย 12% จาก 16% และแปลงหนี้บัตรเครดิตเป็นสินเชื่อที่มีระยะเวลา ซึ่งจะมีการประเมินทุกๆ 3 เดือนหากลูกค้ายังไม่สามารถกลับมาชำระได้ก็จะมีการช่วยเหลือต่อไป
ส่วนแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ภาพรวมมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามสภาพที่เป็นไป โดยขณะนี้อยู่ที่ 2.6% จากสิ้นปี 2019 อยู่ที่ 2.15%