สิงคโปร์เป็นชาติเเรกในโลก ที่อนุมัติให้มีการวางจำหน่าย “เนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยงในห้องเเล็บ”
เทรนด์ “อาหารทางเลือก” กำลังได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลก ด้วยความใส่ใจทั้งสุขภาพสวัสดิภาพสัตว์ และผล
กระทบด้านสิ่งแวดล้อม
ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก ขยับมูฟใหม่เข้าสู่ตลาด Plant-Based (เนื้อที่ทำจากพืช) กันอย่างต่อเนื่อง ตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เเละก็มาถึงคิวของ “เนื้อสัตว์สังเคราะห์” ที่ขึ้นชื่อว่าสะอาด และไม่มีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเนื้อสัตว์สังเคราะห์ที่เพาะเลี้ยงจากเซลล์กล้ามเนื้อสัตว์ในห้องทดลองนั้น ยังถือว่าอยู่ในระยะเริ่มต้นเเละตอนนี้ยังมีต้นทุนการผลิตสูง เเต่อนาคตราคาจะต้องถูกลงอย่างเเน่นอน
Eat Just สตาร์ทอัพผู้ผลิตเนื้อไก่เพาะเลี้ยงในห้องแล็บ (lab-grown chicken meat) ระบุในเเถลงการณ์ว่า การอนุมัติให้จำหน่ายเนื้อคุณภาพสูงที่สร้างมาจากเซลล์ของสัตว์ และปลอดภัยสำหรับการบริโภคของมนุษย์ ถือเป็นก้าวแรกสำหรับการวางขายเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์
Eat Just จะเริ่มนำเนื้อไก่มาทำเป็น “นักเก็ต” เพื่อขายในตลาด โดยก่อนหน้านี้เคยตั้งราคาเอาไว้ที่ชุดละ 50 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,500 บาท)
เเต่ Josh Tetrick ซีอีโอเเละผู้ร่วมก่อตั้ง Eat Just บอกว่า ราคาขายดังกล่าวจะลดลงจนมีราคาเท่ากับเนื้อไก่พรีเมียม เมื่อได้ประเดิมขายครั้งเเรกกับร้านอาหารในสิงคโปร์ในเร็วๆ นี้ ซึ่งถือว่าเป็นการลดราคาเพื่อแนะนำให้ผู้บริโภครู้จักผลิตภัณฑ์มากขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทยังตั้งเป้าว่าจะทำ “กำไร” จากการดำเนินงานให้ได้ก่อนสิ้นปี 2021 และหวังว่าจะนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังจากนั้น
ปัจจุบันสิงคโปร์ เป็นที่มีประชากรราว 5.7 ล้านคน เเต่ผลิตอาหารได้เพียง 10% เท่านั้น จึงต้องหานวัตกรรมทางอาหารใหม่ๆ มาเพื่อรองรับการเติบโต โดยรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนทำฟาร์มไฮเทคและหาวิธีการใหม่ในการผลิตอาหาร
ตอนนี้ในตลาด “เนื้อสัตว์สังเคราะห์” มีผู้ผลิตรายใหญ่ราว 20 รายทั่วโลก กำลังทดลองผลิตเนื้อปลา เนื้อวัว และเนื้อไก่จากห้องแล็บ เเละมีโอกาสจะเเย่งส่วนแบ่งในตลาดเนื้อสัตว์ทางเลือก (Alternative Meat) ที่ธนาคาร Barclays ประเมินไว้ว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 140,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2029