ยุคสมัยนี้…การนำพาองค์กรให้ประสบความสำเร็จไม่ได้วัดกันที่ “ตัวเลขรายได้” อีกต่อไป เเต่เป้าหมายสำคัญคือความยั่งยืนขององค์กร สานต่อให้เกิด “ความยั่งยืนของโลก”
ช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นความเคลื่อนไหวสำคัญของบิ๊กเครื่องดื่มอย่าง ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ “ไทยเบฟ” ว่าเป็นองค์กรที่มีการ “เติบโตสูง” เเละมุ่งเติบโตไปพร้อมๆ กับการสร้างความยั่งยืนทั้งต่อธุรกิจ สังคมเเละสิ่งแวดล้อม
การใส่ใจโลกเหล่านี้ สะท้อนออกมาให้เห็น เมื่อไทยเบฟ คว้าอันดับ 1 DJSI ระดับโลกของกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม “3 ปีซ้อน”
“โฆษิต สุขสิงห์” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มธุรกิจต่อเนื่อง บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เล่าให้ฟังว่า ไทยเบฟ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (The Dow Jones Sustainability Indices-DJSI) โดยจัดลำดับให้เป็นสมาชิกของ DJSI Emerging Markets Index กลุ่มดัชนีตลาดเกิดใหม่เป็นปีที่ 5 และประเภทกลุ่มดัชนีโลก (World Index) เป็นปีที่ 4
โดยล่าสุด ได้รับการจัดอันดับ 1 Industry Leader ในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 จากปีนี้มีบริษัทในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มทั่วโลกกว่า 48 บริษัท
“ปีนี้เราทำได้ดีขึ้น ตอบโจทย์สังคมได้ดีขึ้น ในการบริหารจัดการคุณค่าในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคมเเละสิ่งเเวดล้อม เราทำคะเเนนสูงสุดใน 8 บริษัทใหญ่ของเมืองไทย สามารถทำ Perfect Score ของ DJSI ได้ถึง 15 Area”
โฆษิต ฉายภาพว่า บนเส้นทางธุรกิจเครื่องดื่ม ไทยเบฟมุ่งพัฒนาห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ให้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะส่งผลสำเร็จทางธุรกิจ เริ่มตั้งแต่การจัดซื้อจัดหา ไปจนถึงการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค การนำเทคโนโลยีทางด้านดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินธุรกิจแทบทุกกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นการประเมินความยั่งยืนด้านน้ำ การบริหารจัดการกระบวนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน พัฒนาบุคลากร คู่ค้าและพันธมิตร
โดยยกตัวอย่างสิ่งที่ “ไทยเบฟ” ได้ดำเนินการและเห็นผลชัดเจน นั่นก็คือ การบริหารจัดการเรื่อง “น้ำ” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจเครื่องดื่ม เเละถือโจทย์สำคัญในเชิงธุรกิจว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมกับชุมชนโดยรอบ ทั้งการลดใช้น้ำ ควบคุมคุณภาพของน้ำให้มีประสิทธิภาพ เเละบำบัดน้ำเสียให้ได้มาตรฐาน รวมไปถึงการใช้พลังงานทดเเทน
บริษัทยังให้ความสำคัญกับการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ เริ่มตั้งแต่การออกแบบ เพื่อลดผลกระทบระยะยาวของบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคที่มีต่อสิ่งแวดล้อม
“เราผลิตมาเท่าไหร่ ก็ต้องเอาคืนกลับไปเท่านั้น” นี่คือหลักการง่ายๆ ที่ไทยเบฟยึดถือในเรื่องการจัดการซัพพลายเชนกับชุมชน
“โครงการสมุยโมเดล เป็นความร่วมมือกับท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก คือถ้าส่งผลิตภัณฑ์ของไทยเบฟไปบนเกาะ คิดเป็น 100% เราเก็บกลับมาได้ 125% หมายความว่า เราเก็บของเจ้าอื่นกลับมาพร้อมๆกัน เเละยังช่วยทำให้เกิดการหมุนเวียนเป็น Reverse Logistics บนเกาะด้วย”
ส่วนการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่คำนึงถึงความยั่งยืนนั้น ไทยเบฟมีการพัฒนาฟิล์มยืดจากพลาสติกรีไซเคิล เพื่อห่อหุ้มผลิตภัณฑ์น้ำดื่มตราคริสตัล โดยผลิตจากพลาสติกประเภทโพลีเอทิลีน ที่มีส่วนประกอบจากวัสดุรีไซเคิลมากถึง 25%
รวมไปถึง การนำเอาบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคอย่างขวดพลาสติก PET มาเข้ากระบวนการรีไซเคิล ทำเป็นเส้นใย rPET ใช้ในการผลิตเสื้อโปโล เเละผ้าห่มเพื่อแจกในโครงการไทยเบฟ รวมใจต้านภัยหนาวจำนวน 200,000 ผืน คิดเป็นปริมาณพลาสติกกว่า 7 ล้านขวด
นอกจากนี้ การใช้เส้นใย rPET เมื่อเทียบกับการบวนการผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์แล้ว ยังใช้น้ำลดลงถึง 94% และใช้พลังงานน้อยกว่าถึง 60% สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 32% เเละยังมีการลดน้ำหนักขวด PET ที่ใช้บรรจุน้ำดื่ม และลดน้ำหนักกระป๋องอะลูมิเนียมอีกด้วย
การที่จะขับเคลื่อนสังคมให้เกิดการเปลี่ยนเเปลงได้จริงๆ นั้น ไม่สามารถทำโดยคนๆ เดียวหรือองค์กรเดียวได้ จึงนำมาสู่การทำงานร่วมกันกับหลายบริษัทชั้นนำของไทย เช่น ความร่วมมือกับ “ปูนซีเมนต์ไทย” (SCC) เพื่อพัฒนาด้านโลจิสติกส์ สร้างเเพลตฟอร์มการขับขี่อย่างปลอดภัย เเละการบริหารจัดการสิ่งเเวดล้อมร่วมกัน ฯลฯ
โดยปีนี้ไทยเบฟ ได้ต่อยอดแนวทางการสร้างความยั่งยืนผ่านการสร้างแพลตฟอร์ม Thailand Sustainability Expo (TSX) 2020 ซึ่งความร่วมมือขององค์กรต้นแบบด้านความยั่งยืนของไทย เพื่อสร้างแรงบันดาลเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนร่วมกัน ตามแนวคิด “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก”
โจทย์หลักของการนำธุรกิจฝ่าวิกฤติ COVID-19 คือการต้อง “คิดให้เร็ว ปรับให้เร็ว”
ผู้บริหารไทยเบฟ เล่าว่า ในช่วงวิกฤตโรคระบาดที่ผ่านมา บริษัทได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการติดตามและวิเคราะห์ข่าวสาร มีการนำเทคโนโลยีทางด้านดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เพื่อเป็นมาตราการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 สำหรับพนักงานในองค์กรซึ่งมีอยู่มากถึง 40,000 คน โดยมีการวิเคราะห์พนักงานที่มีความเสี่ยงต่างๆ
“ไทยเบฟจะมุ่งโฟกัสไปที่การทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัลมากขึ้น การมาของ COVID-19 เป็นเหมือนตัวเร่งให้เรามูฟเร็วขึ้น มีโอกาสในการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ มากขึ้น พนักงานหลายเจเนอเรชั่น ต่างปรับตัวเเละเปิดใจมาใช้เทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้เอื้อให้เกิดการนำดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ ทั้งการดูแลจัดซื้อ การจัดส่ง การกระจายสินค้า และการทำตลาด”
โฆษิต อธิบายเพิ่มว่า การยกระดับองค์กรดิจิทัลนั้นต้อง “เปลี่ยนในทุกภาคส่วน” เช่นการนำเทคโนโลยีมาใช้ทำตลาดออนไลน์ การพัฒนาช่องทางจำหน่ายให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น โดยมองว่าสินค้าเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ยังมีโอกาสอีกมากที่จะเติบโตต่อไปได้ในอนาคต
หลังไทยเบฟ ขึ้นครองอันดับ 1 ดัชนีความยั่งยืนโลก DJSI มาเเล้ว “3 ปีซ้อน” เกิดคำถามที่ว่า…อะไรคือความท้าทายในปีต่อไป
“ความท้าทายที่สุด คือเราต้องรักษามาตรฐานเดิมไว้ให้ได้ เเละต้องพัฒนาให้ดีขึ้นต่อๆ ไปด้วย จุดไหนที่ยังไม่เต็มที่ก็ต้องทำเพิ่ม จุดไหนที่เเข็งเเกร่งอยู่เเล้วก็ต้องส่งเสริม ภารกิจสำคัญคือการทำให้พนักงานหลายหมื่นคน มี DNA เดียวกันเเละมีการส่งต่อเเนวคิดที่ว่า ถ้าโลกยั่งยืน สังคมยั่งยืน บริษัทยั่งยืน พนักงานก็จะยั่งยืน เป็นการเเบ่งปันคุณค่าของการเติบโตไปด้วยกัน”