“สี จิ้นผิง” ประกาศชัยชนะคนจีน “เลิกจน” 100 ล้านคน แต่ยอมรับยังต้องแก้ไขความเหลื่อมล้ำ

(Photo by Lintao Zhang/Getty Images)
สี จิ้นผิง ประกาศชัยชนะต่อความยากจน คนจีนพ้นขีดความยากจน 100 ล้านคน นับตั้งแต่เริ่มวางนโยบายลดความยากจนในปี 2013 อย่างไรก็ตาม ความเหลื่อมล้ำในจีนยังสูงมากระหว่างมณฑลแถบตะวันออกติดทะเลกับมณฑลตะวันตกลึกไปในแผ่นดิน

“สี จิ้นผิง” ผู้นำสูงสุดแห่งแดนมังกร ประกาศชัยชนะต่อความยากจน หลังจากคนจีน 100 ล้านคนพ้นขีดความยากจนขั้นร้ายแรงในช่วง 7 ปีที่มีการวางนโยบายเพื่อต่อสู้กับความยากจน

“เราได้ทำหน้าที่บรรเทาความยากจนในโลกยุคใหม่ได้เสร็จสมบูรณ์ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้” ประธานาธิบดีแห่งเมืองจีนกล่าวปราศรัยเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2020 “ตามมาตรฐานที่ตั้งไว้ในปัจจุบัน คนยากจนทั้งหมดในชนบทได้พ้นขีดความยากจนแล้ว และมณฑลยากจนทั้งหลายได้หมดสิ้นไป ความยากจนถึงขีดสุดและความยากจนทั้งภูมิภาคที่เคยมีได้ถูกกำจัดแล้ว”

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีสีกล่าวต่อว่า ยังมีงานอีกมากที่ต้องทำ โดยชี้ให้เห็นถึงอันตรายของความไม่เท่าเทียมกันในประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก

“ปัญหาของความไม่เท่าเทียมและการพัฒนาที่ไม่มีประสิทธิภาพของประเทศนั้นยังเห็นได้เด่นชัด และการกระจายความเจริญ รวมถึงขยายผลการบรรเทาความยากจนให้กว้างขวางนั้นยังเป็นงานที่ยากลำบาก” สี จิ้นผิงกล่าว

สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า แนวทางหลักที่จีนจะปฏิบัติเพื่อกระจายความเจริญ คือการสร้างเสถียรภาพในตลาดแรงงาน ส่งเสริมการฝึกทักษะอาชีพและสร้างความเป็นปึกแผ่นและร่วมมือกันในตลาดงาน ระหว่างมณฑลทางตะวันออกอันเกรียงไกรกับมณฑลตะวันตกซึ่งไม่ติดทะเล สิ่งเหล่านี้จำเป็นเพื่อดูแลไม่ให้คนจีนกลับไปสู่ความยากจนอีกครั้ง

สี จิ้นผิง อ่านคำอำนวยพรปีใหม่ 2020 และยังคงย้ำเรื่องการกำจัดความยากจน

นโยบายกำจัดความยากจนนั้นเป็นสิ่งที่จีนตั้งเป้าหมายไว้เมื่อปี 2013 โดยต้องการกำจัดความยากจนถึงขีดสุดในเขตชนบทให้หมดไปภายในสิ้นปี 2020 เป็นเป้าหมายของประธานาธิบดีสีที่จะสร้าง “สังคมที่คนมีความมั่งคั่งอย่างทั่วถึง” ก่อนจะถึงกำหนดครบรอบ 100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 2021

เฉพาะปี 2016-2019 ประเทศจีนใช้เงินไปกว่า 3.84 แสนล้านหยวนเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน และเพิ่มอีก 1.46 แสนล้านหยวนภายในปี 2020 ปีเดียว เนื่องจากชุมชนที่ยากจนนั้นได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโรคระบาด COVID-19

สำหรับเส้นความยากจนที่จีนกำหนดนั้น กำหนดให้บุคคลที่มีรายได้ไม่เกิน 4,000 หยวนต่อปีคือคนยากจนถึงขีดสุดเทียบแล้วเท่ากับเป็นคนที่มีรายได้ไม่เกิน 2.2 เหรียญสหรัฐต่อวัน (ประมาณ 66 บาทต่อวัน) ซึ่งสูงกว่าเส้นความยากจนที่ธนาคารโลกกำหนดเล็กน้อย โดยปกติธนาคารโลกกำหนดให้คนยากจนอย่างรุนแรงคือคนที่มีรายได้น้อยกว่า 1.9 เหรียญสหรัฐต่อวัน (ประมาณ 57 บาทต่อวัน)

แม้ว่าจะมีคนจนน้อยลง แต่ผู้สังเกตการณ์ต่างตั้งคำถามถึงความยั่งยืนของโครงการกำจัดความจนของประเทศจีนเพราะโครงการนั้นขึ้นอยู่กับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลส่วนกลาง ทำให้คนเคยจนเหล่านี้เสี่ยงที่จะกลับไปจนอีกถ้าหากรัฐบาลหมดแรงอุดหนุน

นอกจากนี้ การกำจัดความยากจนของภาครัฐยังไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ได้ และคนที่เสี่ยงจะกลับไปสู่ความยากจนที่สุดคือกลุ่มคนชราในชนบท ซึ่งมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะประเทศจีนเริ่มไปสู่การเป็นสังคมสูงวัย และกลุ่มคนเหล่านี้คือกลุ่มที่ประเทศจีนควรมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือด้วยรัฐสวัสดิการที่ดูแลทั้งการเงิน สุขภาพกาย สุขภายพใจ และคุณภาพชีวิตโดยรวมมากที่สุด

Source