“สารัชถ์ รัตนาวะดี” แชมป์เศรษฐีหุ้นไทย 63 สมัย 2 รวย 1.1 แสนล้านบาท

เศรษฐีหุ้นไทย63 สารัชถ์
พิษ COVID-19 กระหน่ำตลาดหุ้นไทย ฉุดความมั่งคั่งเศรษฐีหุ้นไทยปี 2563 หดหายกว่า 1.4 แสนล้านบาท บิ๊กพลังงานสารัชถ์ รัตนาวะดียึดบัลลังก์แชมป์เศรษฐีหุ้นไทยเป็นปีที่ 2 ครองหุ้นกัลฟ์ มูลค่า 1.1 แสนล้านบาท รวยลดลง 5.7 พันล้านบาท

รวยลดลง 5.7 พันล้าน

.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถนั่งแท่นเศรษฐีหุ้นอันดับ 2 ถือหุ้นบางกอกแอร์เวย์สโรงพยาบาลกรุงเทพ/นนทเวช รวมมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท รวยลดลง 1.6 หมื่นล้านบาท นักลงทุนรายใหญ่ทายาทโอสถสภานิติ โอสถานุเคราะห์ติดอันดับ 3 รวย 4.8 หมื่นล้านบาท

ปีนี้เป็นปีที่ 27 แล้ว ที่ วารสารการเงินธนาคาร ร่วมกับ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทย โดยวัดจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ประเภทบุคคลธรรมดาในประเทศที่ถือหุ้นสัดส่วน 0.5% ขึ้นไป ตามการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นล่าสุดก่อนวันที่ 30 กันยายน 2563

สำหรับผลการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยปี 2563 ใน วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนธันวาคม 2563 ปรากฏว่า เศรษฐีหุ้นไทยปี 2563 ยังคงเป็นของ สารัชถ์ รัตนาวะดี กรรมการ รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ซึ่งเป็นการครองแชมป์ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 โดยถือหุ้นมูลค่าสูงสุดรวม 115,290 ล้านบาท รวยลดลง 5,670 ล้านบาท หรือ 4.69% ซึ่งสารัชถ์เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ของ GULF ในสัดส่วน 35.44%

ย้อนไปเมื่อปี 2562 ที่สารัชถ์ได้ก้าวเข้ามาขึ้นเป็นแชมป์เศรษฐีหุ้นไทยเป็นปีแรก ขณะนั้นมูลค่าของหุ้น GULF ทะยานขึ้นมาอยู่ที่ 160 บาท ( 30 กันยายน 2562 ราคาพาร์อยู่ที่ 5 บาท) เพิ่มขึ้นถึง 83.75 บาท หรือ 109.84% จากราคาเสนอขายประชาชนครั้งแรก (IPO) ที่ 45.00 บาทต่อหุ้นเมื่อปี 2561

แต่มาในปีนี้หุ้น GULF ก็หนีไม่พ้นผลกระทบจาก COVID-19 ที่ฉุดให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงอย่างหนัก โดยราคาหุ้น GULF ตกลงมาอยู่ที่ 30.50 บาท ลดลงไป 4.69% ( 30 กันยายน 2563 ราคาพาร์ปรับเป็น 1 บาท) ความมั่งคั่งของสารัชถ์ในปีนี้จึงลดลงไปกว่า 5,600 ล้านบาท

เจ้าสัวเจริญรวยเพิ่มขึ้น 2.7 หมื่นล้าน 

เศรษฐีหุ้นอันดับ 2 ได้แก่ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ หรือ หมอเสริฐ เจ้าของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพนนทเวช และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส โดยถือครองหุ้นมูลค่ารวม 50,079.31 ล้านบาท ซึ่งหุ้นที่หมอเสริฐถือครองทั้ง บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส  บมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS)  บมจ.โรงพยาบาลนนทเวช (NTV) และกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย (SPF) นั้น ล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก COVID-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายการบินบางกอกแอร์เวย์สที่ต้องหยุดชะงักไปจากมาตรการล็อกดาวน์ ส่วนหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาลก็ราคาทรุดลงจากกลุ่มคนไข้ต่างชาติที่หดหายไป ส่งผลให้ปีนี้หมอเสริฐรวยลดลง 16,031.33 ล้านบาท หรือ 24.25%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 3 ในปีนี้ ยังคงเป็นของ นิติ โอสถานุเคราะห์ นักลงทุนรายใหญ่ ทายาทอาณาจักรโอสถสภา โดยถือครองหุ้นมูลค่ารวม 48,181.64 ล้านบาท ลดลง 431.68 ล้านบาท หรือ 0.89%  สำหรับพอร์ตการลงทุนของนิติในปีนี้ ประกอบด้วยหุ้นทั้งหมด 12 บริษัท โดยลงทุนต่อเนื่องจากปีที่แล้วใน 10 บริษัท และมีหุ้นใหม่ในพอร์ตอีก 2 บริษัทที่ลงทุนเพิ่ม

เศรษฐีหุ้นอันดับได้แก่ วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัททีโอเอ ทายาทคนโตของอาณาจักรสี TOA ขยับมาอยู่ที่ 4 จากอันดับ 6 เมื่อปีที่แล้ว โดยถือครองหุ้น บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) และ บมจ. ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) (TOA) รวมมูลค่า 41,213.15 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 157.85 ล้านบาท หรือ 0.38%

เศรษฐีหุ้นอันดับได้แก่ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี หลังจากก้าวเข้ามาติดทำเนียบเศรษฐีหุ้นไทยอันดับ 23 เมื่อปีที่แล้ว รวมมูลค่าหุ้นที่ถือครองทั้งสิ้น 38,178.70 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 27,848.13 ล้านบาท หรือ 269.57% จากการนำ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) ซึ่งเป็น Holding Company ที่ถือหุ้นในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของทีซีซี กรุ๊ปทั้งกลุ่มธุรกิจโรงแรม/การบริการ และกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อเดือนตุลาคม 2562

นอกจากนี้ ยังถือหุ้น บมจ.เครือไทย โฮลดิ้งส์ (SEG)  ซึ่งเป็น Holding Company ของกลุ่มสิริวัฒนภักดี ลงทุนในธุรกิจประกันชีวิต ประกันภัย และลิสซิ่งอีกด้วย

เศรษฐีหุ้นอันดับ 6 และอันดับ 7 ได้แก่  2 เศรษฐีหุ้นเจ้าของ บมจ.เมืองไทยแคปปิตอล (MTC) หรือชื่อเดิมคือ เมืองไทยลิสซิ่ง โดย ดาวนภา เพ็ชรอำไพ ขึ้นมาอยู่ในอันดับ 6 จากอันดับ 7 เมื่อปีที่แล้ว โดยถือหุ้นมูลค่า 35,460 ล้านบาท ลดลง 5,580 ล้านบาท หรือ 13.60% ส่วน  ชูชาติ เพ็ชรอำไพ ขึ้นจากอันดับ 8 มาอยู่อันดับ 7 โดยถือครองหุ้นรวมมูลค่า 35,277.91 ล้านบาท ลดลง 5,563.30 ล้านบาท หรือ 13.62%

เศรษฐีหุ้นอันดับได้แก่ สมโภชน์ อาหุนัย เจ้าของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) กิจการธุรกิจพลังงาน จำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์  หล่นจากอันดับ 5 เมื่อปีที่แล้ว โดยมีมูลค่าหุ้นที่ถือครองรวม 34,412.43 ล้านบาท ลดลง 7,671.82 ล้านบาท หรือ 18.23%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 9 ได้แก่  คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ขยับขึ้นเช่นเดียวกับเจ้าสัวเจริญ โดยขึ้นจากอันดับ 23 เมื่อปีที่แล้ว มีมูลค่าหุ้นที่ถือครองรวม 28,728.70 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 18,398.13 ล้านบาท หรือ 178.09%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 10 ได้แก่ ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานกลุ่มบริษัท บี.กริม กลุ่มธุรกิจสัญชาติเยอรมันยักษ์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าแห่งธุรกิจพลังงาน, โรงไฟฟ้า, อุปกรณ์การแพทย์, เครื่องปรับอากาศ, คมนาคม และอสังหาริมทรัพย์ โดยขยับขึ้นจากอันดับ 11 เมื่อปีที่แล้ว จากการถือครองหุ้นมูลค่ารวม 26,798.95 ล้านบาท ลดลง 632.63 ล้านบาท หรือ 2.31%

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19  มาตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวทรุดตัวลงอย่างหนัก ส่งผลมายังตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นวันที่ใช้คำนวณมูลค่าความมั่งคั่งของเศรษฐีหุ้นไทยปี 2563 ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 1,237.04 จากปี 2562 ที่อยู่ในระดับ 1,637.22  ลดลงถึง 400.18 จุด คิดเป็น 32.35% ทำให้มูลค่าความมั่งคั่งของเศรษฐีหุ้นไทยในปี 2563 ลดลงถึง 140,796 ล้านบาท หรือ 7.09%