มาทำความรู้จัก “รถไฟฟ้าสายสีทอง”


รถไฟฟ้าสายสีทอง คือ รถไฟฟ้าสายเดียวที่วิ่งขนานกับแม่น้ำเจ้าพระยา (แทนที่จะวิ่งข้ามแม่น้ำ) มีเป้าหมายเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาจราจรหนาแน่นที่เกิดขึ้นจากการเติบโตแบบก้าวกระโดดของโครงการต่างๆ ในพื้นที่ธนบุรี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่ย่านคลองสาน ซึ่งมีสถานที่ราชการและสถานที่สำคัญต่างๆ ที่มีผู้คนเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก

นอกจากนั้นยังมีโครงการที่อยู่อาศัย โครงการเชิงพาณิชย์ โครงการเชิงชุมชนและวัฒนธรรม อีกจำนวนมากที่ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงสิบปีที่ผ่านมา จากวิเคราะห์ของนักวิชาการ คาดว่าการมาของรถไฟฟ้าสายสีทอง จะเป็นตัวแปรสำคัญที่เศรษฐกิจของฝั่งธนบุรีขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในอนาคตอันใกล้นี้

เส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีทอง

เอกลักษณ์ที่สำคัญของสายสีทอง คือ การเป็น “สายเชื่อม” ต่อการคมนาคมทางรถ เรือ และระบบราง ซึ่งได้มีการวางแผนก่อสร้างมา เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีแดง และสายสีม่วง ตั้งแต่ต้น โดยรถไฟฟ้าสายสีทองจะมีทั้งหมด 4 สถานี ซึ่งปัจจุบัน พร้อมเปิดให้บริการเฟสแรกจำนวน 3 สถานี ในวันที่ 16 ธันวาคมนี้

ที่มาของโครงการ

โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง มีกรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าของโครงการ และ มี บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (BTS) เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ ซึ่งภาครัฐไม่ต้องใช้เงินลงทุนใดๆ ในการก่อสร้าง และเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะกลายเป็นทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร และภาครัฐจะได้รับรายได้จากค่าตั๋วโดยสารทั้งหมด รถไฟฟ้าสายสีทอง เกิดจากการสนับสนุนของภาคเอกชน 100% โดยเงินลงทุนก่อสร้างมาจากการขายพื้นที่โฆษณาของรถไฟฟ้าสายสีทองให้กับเอกชนล่วงหน้า ซึ่งทำให้รัฐได้รับผลประโยชน์เต็มๆ

 

รถไฟฟ้าสายสีทอง: ทางออกการเดินทางของคนฝั่งธน

  • มีการคาดการณ์ว่า การมีรถไฟฟ้าสายสีทอง จะช่วยลดจำนวนรถยนต์บนถนนคลองสาน ประมาณ 6,000 คันต่อชั่วโมง ทำให้ผู้คนสามารถสัญจรได้อย่างสะดวกสบาย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในขณะที่คนนอกพื้นที่ สามารถเข้ามาใช้บริการ ทำงาน หรือใช้ชีวิตทุกวันๆ ในสถานที่ราชการ และสถานที่สำคัญต่างๆ ในพื้นที่บริเวณนี้ได้สะดวกขึ้น และทำให้บรรดาธุรกิจที่รายล้อมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ได้ประโยชน์จากการเชื่อมต่อของรถ เรือ และระบบรางขนส่งมวลชน สร้างความสะดวกในการสัญจรได้ครบวงจร
  • ในแต่ละวัน จะมีผู้คนเข้าออกเส้นทางนี้เกือบ 60,000 คน ตั้งแต่เดินทางไปใช้บริการโรงพยาบาลตากสิน กว่า 4,000 คน ไปโรงเรียน มหาวิทยาลัย และหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่บริเวณนี้กว่า 30,000 คน, และ เดินทางผ่านพื้นที่นี้เพื่อใช้บริการเรือข้ามฟากและเรือโดยสารจาก 20 ท่าเรือที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าสายสีทอง กว่า 25,000 คน
  • ซึ่งหลังจากที่รถไฟฟ้าสายสีทองเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งมวลชนสาธารณะคนเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้คนที่ต้องเดินทางมาในพื้นที่ทุกวัน เพื่อทำงานหรือใช้บริการสถานที่ราชการและสถานที่ต่างๆ อาทิ โรงพยาบาลตากสิน โรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จ สำนักงานเขตคลองสาน สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร ท่าเรือคลองสาน เป็นต้น จะได้รับประโยชน์ทันที ตั้งแต่การช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และช่วยประหยัดเวลาในการเดินทาง

จุดเด่นของรถไฟฟ้าสายสีทองที่สร้างบนความใส่ใจคุณภาพชีวิตของผู้คน

รถไฟฟ้าสายสีทอง เป็นระบบขนส่งมวลชนแบบนำทางอัตโนมัติ Automated Guideway Transit (AGT) แบบไร้คนขับสายแรกของประเทศไทย โดยคาดการณ์ว่าจะมีผู้โดยสาร 42,000 คน/วัน

เสาตอม่อของรถไฟฟ้าสายสีทอง ถูกออกแบบให้ยกสูงขึ้นมากกว่ารถไฟฟ้าสายอื่นทั่วๆ ไปในเมือง ประมาณ 3-4 เมตร โดยเสาตอม่อของรถไฟฟ้าสายสีทองมีความสูงประมาณ 15-19 เมตร ในขณะที่ เสาตอม่อรถไฟฟ้าสายอื่นทั่วไปในเมือง จะมีความสูงประมาณ 12-15 เมตร เพื่อไม่ให้บังตึกแถวบ้านเรือนประชาชน และช่วยลดผลกระทบทางเสียง

ระบบล้อของรถไฟฟ้าสายสีทอง ไม่ใช่ล้อเหล็ก แต่เป็นล้อยางเหมือนๆ กับล้อรถยนต์ทั่วไป ซึ่งจะช่วยลดเสียงดังจากการวิ่งของรถไฟฟ้า ลงได้ 40% หากเทียบกับระบบล้อเหล็ก โดยเสียงจากการวิ่งของล้อยางของรถไฟฟ้าสายสีทองก่อให้เกิดเสียงประมาณ 43.3-69.5 เดซิเบล (เอ) ในขณะที่เสียงจากการวิ่งของล้อเหล็กจะอยู่ที่ ประมาณ 90-115 เดซิเบล (เอ)

วงเลี้ยวของรถไฟฟ้าสายสีทองถือว่าดีมาก โดยมีรัศมีประมาณ 70 เมตร ในขณะที่รถไฟฟ้าทั่วไปมีรัศมีวงเลี้ยวปกติอยู่ที่ประมาณ 200 เมตร นั่นทำให้ช่วยลดจำนวนและขนาดของเสาตอม่อที่จะต้องสร้าง ณ บริเวณช่วงเลี้ยว ซึ่งส่งผลต่อการลดสิ่งกีดขวาง หรือสิ่งบดบังวิสัยทัศน์ของผู้ใช้รถใช้ถนนและคนเดินทางเท้า ทั้งนี้ เส้นทางเดินรถไฟฟ้าสายสีทองมีจุดหักเลี้ยวอยู่หลายตำแหน่ง ระบบล้อนี้จะช่วยให้สามารถชะลอความเร็วรถเมื่อเข้าโค้งช่วงต่างๆได้ดี