กระทรวงคมนาคมเตรียมจัดการระบบตั๋วร่วมระยะเร่งด่วน โดยให้สามารถใช้งานผ่านบัตรรถไฟฟ้า ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ บัตรแมงมุม, บัตร MRT Plus และบัตร Rabbit เพื่อให้ผู้โดยสารสะดวกมากขึ้น
กลายเป็นวาระแห่งชาติที่พูดคุยกันเป็นเวลานาน แต่ก็ยังไม่ลงตัวเสียที สำหรับการใช้ระบบบัตรร่วมในการใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT และรถไฟฟ้า BTS โดยทีก่อนหน้านี้ได้ออกบัตรแมงมุมมาแต่ก็ไม่สามารถใช้บริการได้
ทำให้ตอนนี้ในระบบบัตรรถไฟฟ้าในปัจจุบันมี 3 รูปแบบ คือ บัตร Rabbit (รถไฟฟ้า BTS) มีผู้ถือบัตรประมาณ 12 ล้านใบ, บัตร MRT plus (รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสีม่วง) มีผู้ถือบัตรจำนวน 2 ล้านใบ และบัตรแมงมุม มีจำนวน 2 แสนใบ
โดยในทางเทคนิคจะต้องพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้องทั้งหมดตั้งแต่ระดับที่ 1 เครื่องอ่านบัตรของแต่ละประตูทางเข้าสถานี ระดับที่ 2 ระบบคอมพิวเตอร์ของแต่ละสถานี ระดับที่ 3 Clearing House ของแต่ละหน่วยงาน
ทั้งนี้ที่ประชุมของกระทรวงคมนาคมได้เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รฟม. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM , บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) , กรุงเทพมหานคร (กทม.) , บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ปรับปรุงพัฒนาระบบให้สามารถใช้บัตรร่วมกันได้ภายใน 4 เดือน (ก.พ. – พ.ค. 63) และให้เริ่มใช้งานบัตรข้ามระบบได้ในเดือนมิ.ย. 2563 โดยให้หน่วยงานเจ้าของระบบ หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดสรรงบประมาณในการลงทุนพัฒนาระบบให้เชื่อมต่อกัน
ในส่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้พัฒนาระบบโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงให้เข้ากับระบบตั๋วร่วม และขอให้รายงานความคืบหน้าในการประชุมครั้งต่อไป และระดับที่ 4 ศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง เพื่อให้สามารถรองรับบัตรได้ทั้ง 3 รูปแบบ
ทั้งนี้มีการประเมินว่า การปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์หัวอ่านและระบบของรถไฟฟ้า 4 สาย ให้สามารถรับบัตรข้ามระบบได้ จะใช้เงินลงทุนรวมกว่า 300 ล้านบาท แต่ก็มีข้อกังวลเนื่องจากจะมีเวลาในการทำงานปรับปรุงระบบที่จำกัด เนื่องจากสามารถทำได้ในช่วงหลังปิดให้บริการแล้ว คือหลังเที่ยงคืน – ตี 5 เท่านั้น