เมื่อเทียบสัดส่วนประชากรกับการใช้งานโมบายแบงก์กิ้ง คนไทยถือว่ามีการใช้งานมากที่สุดในโลก โดยมีการผูกบัญชีกว่า 76 ล้านบัญชี ในแต่ละเดือนมียอดธุรกรรมกว่า 1.4 หมื่นล้านรายการ/เดือน มีการใช้งานเฉลี่ย 19 ครั้ง/เดือน ในขณะที่หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยมีเกือบ 90% คิดเป็นมูลค่า 14 ล้านล้านบาท โดยธุรกรรมเล็ก ๆ คิดเป็น 50% และอย่างน้อย 5% เป็นหนี้นอกระบบ
จากตัวเลขดังกล่าวจึงไม่น่าแปลกใจที่หลายบริษัทที่ไม่ใช่ธนาคารหันมาจับตลาด Digital Lending ที่เห็นชัด ๆ น่าจะเป็น Grab, Line เป็นต้น โดย รัชนี แสนศิลป์ชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แรบบิท แคช จำกัด กล่าวว่า ที่เห็นว่ามีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มหลายรายทำ Digital Lending ส่วนหนึ่งก็เพื่อ เสริมลูกค้าของตัวเอง เพราะลูกค้าของหลาย ๆ แพลตฟอร์มทำงานอิสระมากขึ้น ดังนั้น เมื่อไม่มีเงินเดือนการเข้าถึงเงินทุนก็ยาก
ดังนั้น แรบบิท ที่มีข้อมูลของลูกค้าในมืออยู่แล้ว จึงร่วมกับพันธมิตร ได้แก่ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และมี บริษัท ฮิวแมนิก้า จำกัด (มหาชน), บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ถือหุ้นและพันธมิตร โดยจัดตั้งบริษัท ‘แรบบิท แคช’
ทั้งนี้ บริษัท บีเอสเอส โฮลดิ้งส์ จำกัด ในเครือของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) จะถือหุ้น 77%, บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 8% และบริษัท ฮิวแมนิก้า จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 5% ทุนจดทะเบียนประมาณ 800 ล้านบาท และมีแผนจะเพิ่มทุนอีก 800 ล้านบาท
สำหรับบริการสินเชื่อของแรบบิท แคชนั้นได้ถูกออกแบบให้ทำผ่านช่องทางดิจิทัล 100% ตั้งแต่ต้นจนจบ โดยจะใช้ Alternative Data หรือข้อมูลทางเลือกที่แสดงถึง Digital Footprint และ Behavioral Footprint ต่าง ๆ ของผู้บริโภคมาใช้ในการประเมินความเสี่ยงและพิจารณารูปแบบสินเชื่อที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละคน
“เนื่องจากแรบบิท แคชเป็นบริษัทในเครือบีทีเอส ทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลายเพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การซื้อสินค้าหรือบริการ การแลกคะแนนแรบบิท รีวอร์ด แต่ทุกอย่างอยู่ภายใต้การได้รับความยินยอมจากลูกค้า”
เบื้องต้น วงเงินสินเชื่อจะเป็นไปตามระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท จะกู้ได้ไม่เกิน 1.5 เท่า ส่วนผู้ที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท จะได้รับวงเงิน 5 เท่าของรายได้ ส่วนอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 1.25% ต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดว่าจะได้ใบอนุญาตการประกอบธุรกิจสินเชื่อจาก ธปท. ในช่วงไตรมาสแรกปี 2565 ดังนั้น จะเริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการในช่วงเวลาดังกล่าว โดยจะมีทั้งสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย หรือสินเชื่อนาโน, สินเชื่อสวัสดิการ, สินเชื่อ Payday Loan, สินเชื่อผ่อนชำระ Buy Now Pay Later
ทั้งนี้ บริษัทได้เริ่มทดลองนำเสนอสินเชื่อเพื่อลูกค้าของเคอรี่ โดยเลือกจากกลุ่มของผู้ประกอบธุรกิจขายของออนไลน์ที่เป็นสมาชิกเคอรี่ เอ็กซ์เพรส โลยัลตี้ คลับ ที่มีประวัติในการจัดส่งสินค้าพัสดุกับทางเคอรี่เป็นประจำ โดยพบว่าได้รับการตอบรับจากสมาชิกเข้ามามาก และในปีหน้าจะเริ่มปล่อยสินเชื่อให้พนักงานเคอรี่
“ปัจจุบันเคอรี่มีลูกค้ากว่า 10 ล้านราย มีพนักงานส่งของทั้งหมด 20,000-30,000 ราย ซึ่งเราพบว่าลูกค้าเราส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ต้องการใช้สินเชื่อ เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ หรือการจัดการสภาพคล่องเป็นการชั่วคราว” วราวุธ นาถประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าว
ทั้งนี้ แรบบิท แคชตั้งเป้าหมายว่าจะเห็นยอดสินเชื่อในปี 2565 ประมาณ 2-3 พันล้านบาท และในปี 2566 จะปล่อยสินเชื่อได้ถึง 5 พันล้านบาท