เเบรนด์กีฬายักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Nike พลิกฟื้นขาดทุนกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง มองว่ารายได้รวมของปีนี้ จะดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ หลัง “ยอดขายออนไลน์” เติบโตอย่างมากจากวิกฤตโรคระบาด
การเเพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ผู้คนใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น เเละหันมาทำกิจกรรมต่างๆ เช่น วิ่งหรือขี่จักรยาน ทำให้ชุดกีฬาของเเบรนด์ต่างๆ ได้รับความนิยมขึ้นอย่างมาก โดยในช่วงล็อกดาวน์ มีผู้เข้าใช้งาน
เเอปพลิเคชันของ Nike จำนวนมากเเละมีการสั่งซื้อสินค้าต่อเนื่อง ทำให้มีรายได้ส่วนนี้มาช่วยพยุงยอดขายสาขาที่หดหายไป
Jessica Ramirez นักวิเคราะห์ฝ่ายค้าปลีกของ Jane Hali & Associates ให้ความเห็นว่า การทุ่มลงทุนในอีคอมเมิร์ซของ Nike ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา สร้างความได้เปรียบครั้งใหญ่ เหนือคู่แข่งสำคัญอย่าง Adidas เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเเปลงเข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้น
“ความพร้อมเเละการใช้งานง่ายของเว็บไซต์ Nike รวมถึงการรวบรวมข้อมูลสินค้าและบริการที่สอดรับความต้องการของลูกค้า ช่วยให้สามารถกำหนดเป้าหมายไปยังผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสม เเม้ในช่วงที่ผู้คนต้องประหยัดเเละระะมัดระวังการใช้จ่าย”
ยอดขายออนไลน์ของ Nike เติบโตถึง 84% โดยเฉพาะในตลาดอเมริกาเหนือที่เติบโตมากกว่า 100% และพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลกก็เติบโตเป็นอัตราเลขสองหลัก สอดคล้องกับกระเเสการออกกำลังกายกลางเเจ้งในหลายพื้นที่ ได้เริ่มกลับมาอีกครั้ง ก็มีส่วนทำให้ยอดขายของ Nike ฟื้นตัวขึ้นจากช่วงวิกฤตได้ดี
Nike รายงานผลประะกอบการงวดไตรมาส 2/63 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2020 มีรายได้เพิ่มขึ้น 9% มาอยู่ที่ 1.12 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ที่ 1.05 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ด้านกำไรสุทธิไตรมาส 2 อยู่ที่ 1.25 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 12% คิดเป็นกำไรต่อหุ้นที่ 78 เซ็นต์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดกำไรต่อหุ้นไว้ที่ 62 เซ็นต์
ส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารก็ลดลง 2% สู่ระดับ 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้นทำให้ Nike ไม่ต้องใช้ทุ่มงบโฆษณา หรือจัดกิจกรรมกระตุ้นตลาดมากเท่ากับปีก่อน ๆ
จากปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตเหล่านี้ ทำให้ Nike ได้ปรับคาดการณ์รายได้ในปีปฏิทิน 2021 (มิ.ย. 2020-พ.ค. 2021) จากเดิมที่คาดกว่าจะโตเเค่ “หลักเดียว” เเต่ตอนนี้คาดว่าจะโตได้ถึง “สองหลัก” อย่างเเน่นอน โดยกลุ่มลูกค้าที่บริษัทจะมุ่งตีตลาดต่อไปนั่นก็คือ “กลุ่มวัยรุ่น” นั่นเอง