“มายด์แชร์” แนะ 5 ข้อแก่นักการตลาด ช่วงการระบาด COVID-19 รอบใหม่ที่ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนอีกครั้ง ต้องปรับตัวตามให้เหมาะสม โดยไม่ควรทิ้งการทำตลาดโดยสิ้นเชิง และมุ่งเน้นการขายผ่านอีคอมเมิร์ซที่มาแรงตั้งแต่ปีก่อน
สถานการณ์ COVID-19 ระบาดรอบใหม่ถาโถมตลาดตั้งแต่ต้นปี ทำให้นักการตลาดต้องปรับแผนกันใหม่ในการลงโฆษณา “ปัทมวรรณ สถาพร” กรรมการผู้จัดการ มายด์แชร์ จึงสรุป 5 ข้อแนะนำถึงนักการตลาดเพื่อให้เม็ดเงินที่ใช้มีประสิทธิภาพ ในช่วงเวลานี้ ดังนี้
1.จัดลำดับความสำคัญ
- พิจารณาแผนใหม่อีกครั้งว่าแคมเปญใดที่สำคัญกับแบรนด์บ้าง โดยจัดสมดุลระหว่างแคมเปญที่เป็นการโปรโมตคุณค่าหลักของแบรนด์ กับแคมเปญโปรโมชันระยะสั้น
- บริษัทที่มีสินค้าหลายอย่าง เน้นหนักไปที่แบรนด์เกี่ยวกับสุขภาพ อนามัย เป็นสำคัญก่อน
- เน้นแคมเปญที่สื่อสารสิ่งที่ “ทำที่บ้าน” ก่อน เช่น สินค้าไอศกรีม จากที่โปรโมตการซื้อชิ้นเล็ก กระตุ้นการตัดสินใจฉับพลัน อาจเปลี่ยนมาเป็นการกระตุ้นให้ซื้อแบบไซส์ใหญ่ เก็บไว้ทานที่บ้าน
2.ผู้รับสาร
- การลงโฆษณาแบบ Hypertargeting ต้องกลับมาอีกครั้ง เลือกผู้รับสารให้เหมาะทั้งความสนใจและพฤติกรรม
- ใช้ประโยชน์จากดาต้าผู้บริโภคที่เก็บไว้ให้มากที่สุด
- เน้นการบอกต่อในกลุ่มผู้บริโภค
3.การใช้สื่อ
- รักษาความต่อเนื่องในการทำการตลาด ไม่ควรหยุดทำตลาดโดยสิ้นเชิง เพราะการหยุดทำโฆษณาในช่วงวิกฤตและจะกลับมาสร้างการรับรู้ใหม่อีกครั้งเป็นเรื่องที่ยากกว่า และมีโอกาสที่ระหว่างนั้นคู่แข่งจะดึงลูกค้าไปได้ โดยย้ำว่าไม่จำเป็นต้องลงทุนงบประมาณเท่าเดิม สามารถลดงบลงได้ แต่ไม่ควรเงียบหายไปทั้งหมด
- เนื่องจากการระบาดรอบใหม่มีความรุนแรงต่างกันในแต่ละพื้นที่/ภูมิภาค ดังนั้นควรจะยืดหยุ่นการใช้สื่อในแต่ละภูมิภาค เช่น กลุ่มจังหวัดที่อยู่ในช่วงกึ่งล็อกดาวน์ คนออกจากบ้านน้อย ควรจะลดหรืองดการใช้สื่อนอกบ้านไปก่อน และหันไปใช้เครื่องมือสื่อภายในบ้านแทน
4.ปรับตัวเร็วในการทำคอนเทนต์สื่อสาร
- คอนเทนต์เน้นการคิดสร้างสรรค์เรื่องการบริโภค “ภายในบ้าน” เป็นหลัก
- หลีกเลี่ยงไอเดียที่เกี่ยวกับการบริโภค “นอกบ้าน” เช่น ท่องเที่ยว ปาร์ตี้
5.อีคอมเมิร์ซและ Search
- ปี 2563 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมียอดขายเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัว และได้เห็นเทรนด์ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าใช้ประจำผ่านทางออนไลน์ด้วย
- ดังนั้น สินค้าทุกอย่างควรมุ่งเน้นกลยุทธ์การตลาดสำหรับค้าออนไลน์โดยเฉพาะด้วย เน้นการเข้าถึงลูกค้าและปิดการขายให้ได้ รวมถึงพิจารณาการจัดแพ็กขนาดสินค้าให้เหมาะกับการขายออนไลน์
- “Keywords” ในการ Search ออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้านั้นสำคัญมาก ต้องใช้ประโยชน์จากจุดนี้ให้ได้
ปัทมวรรณกล่าวว่า พฤติกรรมผู้บริโภคในช่วงที่ COVID-19 มีการระบาดจะคล้ายกับปีก่อน แต่สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือ “คอนเทนต์มีมากขึ้นแต่ผู้บริโภคมีเวลาน้อยลง” ทำให้การทำคอนเทนต์ต้องเจาะไปถึงผู้บริโภคให้ได้ อีกสิ่งหนึ่งที่น่าจับตาคือ “Mobile Payment” ผลโดยตรงจากโครงการคนละครึ่งของรัฐ ทำให้ผู้บริโภคคุ้นชินมากขึ้นในการชำระเงินผ่านมือถือ ดังนั้น การตลาดและการขายควรคำนึงถึงจุดนี้ว่าผู้บริโภคได้เปลี่ยนไปแล้ว
ทิ้งท้ายคือการวางแผนล่วงหน้าในระยะใกล้ ปกติช่วง “ไฮซีซั่น” ของการโฆษณาคือช่วงปิดเทอมหน้าร้อนก่อนถึงเทศกาลสงกรานต์ แต่ปีนี้มีแนวโน้มจะเป็นเหมือนปีก่อน คือ COVID-19 ทำให้เทศกาลสงกรานต์หรือการท่องเที่ยวหน้าร้อนไม่มีหรือมีน้อย เนื่องจากรัฐบาลอาจไม่สนับสนุนให้จัดเทศกาลเพื่อป้องกันการระบาด นักการตลาดอาจจะต้องระมัดระวังการเตรียมแผนงานในส่วนนี้