แม้ว่าไทยจะได้วัคซีนป้องกัน COVID-19 ช้ากว่าบางประเทศ แต่หลายคนน่าจะเริ่มฝันถึงวันที่ได้ฉีดวัคซีนแล้วว่า หลังจากนั้นจะได้กลับไปใช้ชีวิตปกติ ปาร์ตี้ ท่องเที่ยว กินข้าวแบบสบายใจ ที่สำคัญจะได้ไม่ต้องใส่มาสก์ในที่สาธารณะเสียที ใจเย็นๆ ก่อน! เพราะการฉีดวัคซีนเฉพาะตัวเราคนเดียวไม่ได้ทำให้ปลอดภัยพอที่จะทำอย่างนั้น มาฟัง 3 ขั้นการค่อยๆ กลับสู่ชีวิตปกติจากผู้เชี่ยวชาญกัน
“ความจริงแล้ว วัคซีนไม่ได้เป็นสวิตช์กดเปิด/ปิดสู่ชีวิตปกติได้ทันที” เอเลียนอร์ เมอร์เรย์ นักระบาดวิทยาจาก มหาวิทยาลัยบอสตัน กล่าว
แล้วชีวิตหลังการกระจายวัคซีนในหมู่ประชาชนจะเป็นอย่างไร? คำตอบที่ตรงกับความเป็นจริงคือต้องแบ่งออกเป็น 3 ขั้น คือ
ขั้นที่ 1 สิ่งที่คุณสามารถทำได้เมื่อคุณและครอบครัว/เพื่อนสนิทได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว
ขั้นที่ 2 สิ่งที่คุณสามารถทำได้เมื่อเมืองหรือรัฐของคุณเกิด ‘herd immunity’ คือคนในเมืองมีภูมิคุ้มกันมากพอที่จะไม่เกิดการระบาดรอบใหม่
ขั้นที่ 3 สิ่งที่คุณสามารถทำได้เมื่อ herd immunity เกิดขึ้นในระดับสากลแล้ว (ขั้นตอนนี้มีแนวโน้มสูงมากว่าจะไม่เกิดขึ้นภายในปี 2021 นี้)
นอกจากการต้องรอให้มี herd immunity ในประชากรส่วนใหญ่แล้ว ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้เราต้องระวังแม้ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วคือ “วัคซีนยังไม่ได้รับการยืนยันว่าจะช่วยป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่น”
“ขณะนี้มีสมมติฐานว่า ในกรณีที่คุณได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว และร่างกายคุณเริ่มพัฒนาระบบภูมิคุมกันขึ้นมา คุณจะไม่ป่วยและไม่เสียชีวิตจากโรคนี้ แต่ไวรัสอาจจะยังเติบโตได้ในร่างกายคุณและแพร่เชื้อต่อให้คนอื่นได้” แบร์รี่ บลูม ศาสตราจารย์ด้านโรคติดเชื้อและภูมิคุ้มกันวิทยา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าว
บลูมและผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ มองในแง่บวกว่าวัคซีนน่าจะช่วยลดการแพร่เชื้อต่อได้ แต่ยังไม่มีใครฟันธงได้ในขณะนี้ “เราต้องการดาต้าเกี่ยวกับการแพร่เชื้อให้มากกว่านี้” เขากล่าว “หวังว่าจะมีผลลัพธ์การวิจัยได้ภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า”
ดังนั้น ระยะนี้แม้แต่คนที่ได้รับวัคซีนแล้วก็จำต้องระวังไว้ก่อนว่า ตัวคุณเองยังอาจจะมีเชื้อและเป็นพาหะแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ แม้ว่าตัวเองจะไม่ป่วยก็ตาม นั่นแปลว่า คนที่ได้รับวัคซีนแล้วก็ยังต้องใส่หน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างทางสังคม หากไปพบปะกับคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน
และเมื่อใดก็ตามที่มีคนได้รับวัคซีนมากขึ้น เราถึงมาเริ่มต้นนับ “ขั้นที่ 1” ของการกลับสู่ชีวิตปกติกัน!
ขั้นที่ 1 : เมื่อคุณและครอบครัว/เพื่อนสนิทได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว
สมมติว่าคุณและเพื่อนสนิทกลุ่มเล็กๆ ได้รับวัคซีนกันหมดแล้ว ทีนี้คุณกับเพื่อนๆ จะไปเช่าพูลวิลล่าสักหลังจัดปาร์ตี้สุดสัปดาห์ได้หรือยัง โดยไม่ต้องใส่มาส์กหรือเว้นระยะห่างทางสังคมจากกันอีก
คำตอบก็คือ “น่าจะได้แล้ว …แต่ยังมีข้อควรระวังอยู่”
ข้อแรก คือ ไม่ใช่ว่าคุณฉีดวัคซีนโดสที่สองแล้วจะกระโดดขึ้นรถไปปาร์ตี้ที่พัทยาได้ทันที แต่ต้องรออย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนเพื่อให้วัคซีนออกฤทธิ์
ข้อที่สอง คือ ร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้น บางคนอาจจะมีปัญหาสุขภาพที่ทำให้ระบบภูมิคุ้นกันตอบโต้ไวรัสได้ไม่ดีพอ ดังที่เห็นผลการวิจัยในขณะนี้ แม้แต่วัคซีนของ Pfizer/BioNTech และ Moderna ก็ยังให้ประสิทธิภาพที่ 95% ยังมีคนที่วัคซีนไม่ได้ผลอยู่
สรุปก็คือ การไปปาร์ตี้กับเพื่อนที่ฉีดวัคซีนกันหมดแล้วอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ปลอดภัย 100% แต่ก็พอทำได้ถ้ารอเวลาให้ผ่านไป 1 สัปดาห์หลังฉีดโดสสอง และอย่าลืมไปในสถานที่ปิด ไม่ปะปนกับคนอื่นๆ
ส่วนการปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันของขั้นที่ 1 ก็คือ คุณยังต้องใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ เพราะยังไม่เกิด herd immunity คุณอาจจะพบปะกับคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน และไปทำให้คนอื่นติดเชื้อได้
ขั้นที่ 2 : เมื่อเมืองหรือรัฐของคุณเกิด ‘herd immunity’ แล้ว
ดร.แอนโธนี เฟาชี ผู้อำนวยการ สถาบันโรคติดเชื้อและภูมิแพ้แห่งชาติ สหรัฐอเมริกา กล่าวในบริบทของประเทศสหรัฐฯ ว่า ชาวอเมริกันควรจะใส่มาสก์และเว้นระยะห่างอย่างต่อเนื่องจนกว่าประชากร 75-85% ในพื้นที่จะได้รับวัคซีนแล้ว นั่นแปลว่าทั้งประเทศสหรัฐฯ จะมี herd immunity ราวๆ กลางฤดูใบไม้ร่วง (ประมาณเดือนตุลาคม 2021) แน่นอนว่าเป็นข้อมูลการคาดการณ์ มีปัจจัยที่ทำให้เปลี่ยนแปรได้ไม่ว่าจะเป็นการกลายพันธุ์ของ COVID-19 จนถึงอัตราการยอมเข้ารับวัคซีนของประชาชน และอื่นๆ
สำหรับประชากรไทยคิดคร่าวๆ มีทั้งหมด 70 ล้านคน หากจะมี herd immunity ต้องมีประชากรได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 75% เท่ากับประมาณ 52.5 ล้านคน แปลว่าไทยเราต้องมีวัคซีนอย่างน้อย 105 ล้านโดสที่ฉีดให้ประชากรจนครบแล้วเราถึงจะกลับสู่ชีวิตปกติ
หากไปถึง จุดที่ประเทศมี herd immunity เมื่อไหร่ เราจะได้เห็นการกลับสู่ชีวิตปกติจริงๆ เช่น ร้านอาหารเปิดได้ตามปกติ ไม่ต้องเว้นระยะหรือมีฉากกั้น แต่พนักงานเสิร์ฟอาจจะยังต้องใส่มาส์กไปก่อนเพื่อความปลอดภัย โรงภาพยนตร์ไม่ต้องขายตั๋วเว้นที่นั่งว่าง และในที่สุด เราจะได้ไม่ต้องใส่หน้ากากอนามัยกันแล้ว
- นักวิทย์ “ออสเตรเลีย” ร้องระงับใช้วัคซีน “แอสตราเซเนกา” กังวลมีประสิทธิภาพแค่ 62%
- ‘ผู้นำสิงคโปร์’ ประเดิมฉีดวัคซีน COVID-19 หวังสร้างความเชื่อมั่น ชวนประชาชนมาฉีดฟรี
การรณรงค์ให้คนส่วนใหญ่ไปรับการฉีดวัคซีนจึงสำคัญมาก เพราะถ้ายังไม่ถึงจุดที่เกิด herd immunity การใช้ชีวิตของคนก็ยังไม่สามารถกลับมาเป็นปกติทั้งสังคมได้
“คุณอาจจะมีวัคซีนที่ยอดเยี่ยมมาก แต่มันไม่สามารถกำจัดไวรัสไปหมดได้จนกว่าจะมีคนไปฉีดวัคซีนเป็นวงกว้างมากๆ” แองเจล่า ราสมุสเซ่น นักวิทยาไวรัสที่ทำงานร่วมกับ มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กล่าว “อย่างไรก็ตาม คนมักจะคิดถึงวัคซีนในแง่ของการป้องกันส่วนบุคคล มากกว่าจะคิดว่าวัคซีนคือสิ่งที่ต้องใช้ให้ทั่วถึงทั้งสังคมจึงจะได้ผล”
พูดง่ายๆ ก็คือ “ไม่มีใครปลอดภัยจริงๆ จนกว่า ‘ทุกคน’ จะปลอดภัย”
ขั้นที่ 3 : เมื่อ herd immunity เกิดขึ้นในระดับสากลแล้ว
ฝันถึงทริปต่างประเทศอยู่หรือเปล่า? บอกกันตรงๆ ตรงนี้เลยว่า ปีนี้ยังเดินทางต่างประเทศลำบาก
เมอร์เรย์จาก ม.บอสตันกล่าวว่า สหรัฐฯ แคนาดา และประเทศกลุ่มยุโรปได้วัคซีนเร็วมาก แต่ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีจำนวนมากยังเข้าถึงวัคซีนได้ยาก และประชาชนจะได้รับวัคซีนช้ากว่า แปลว่าการเดินทางหากันโดยอิสระตามปกติจะยังไม่เกิดขึ้นในปีนี้
ในอีกมุมหนึ่ง เมื่อบางประเทศได้รับวัคซีนเร็วกว่า บุคคลที่ได้รับวัคซีนแล้วจะขอเดินทางไปยังประเทศใดๆ ก็ได้ได้หรือยัง?
เมอร์เรย์อธิบายว่า คำถามนี้ต้องกลับไปดูคำตอบของประเด็นที่ว่า “วัคซีนช่วยป้องกันการแพร่เชื้อด้วยหรือไม่” ที่ได้กล่าวถึงข้างต้น เพราะถ้าหากวัคซีนไม่ได้ช่วยป้องกันการแพร่เชื้อ (เสมือนว่าผู้ได้รับวัคซีนยังเป็นพาหะได้อยู่) การที่คนที่ได้รับวัคซีนเดินทางเข้าประเทศที่ยังไม่มี herd immunity คนต่างชาติก็จะไปทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อที่ประเทศนั้นๆ
แต่ถ้าหากผลการศึกษาพบว่า วัคซีนสามารถป้องกันการแพร่เชื้อต่อได้ด้วย ก็จะเป็นข่าวดีสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพิงเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เพราะจะสามารถเปิดประเทศให้คนที่ได้รับวัคซีนแล้วเข้ามาเที่ยวในประเทศ ฟื้นเศรษฐกิจที่ซบเซาให้กลับมาคึกคักอีกครั้งได้ โดยไม่ต้องรอให้คนในประเทศรับวัคซีนมากพอเสียก่อน
ดังที่กล่าวไปว่า ผลการศึกษาเรื่องวัคซีนช่วยป้องกันไม่ให้คนเป็นพาหะแพร่เชื้อด้วยหรือไม่ ต้องใช้เวลาอีก 2-3 เดือน ดังนั้น คำตอบของเรื่องนี้ต้องรอจนถึงอย่างน้อยเดือนมีนาคมนี้
ระหว่างนี้ก็สวมมาสก์ เว้นระยะห่าง ล้างมือกันต่อไปก่อน จนกว่าประเทศไทยเราจะมีประชากรได้รับวัคซีนครบอย่างน้อย 52.5 ล้านคน!