Ugly Marketing พลังการตลาดของคน “ขี้เหร่”

ปรากฏการณ์ “ตุ๊กกี้ฟีเวอร์” สุดารัตน์ บุตรพรหม ที่สร้างค่านิยมในวงการดารา และธุรกิจบันเทิงขึ้นมาใหม่ ให้เล็งเห็นถึงความสามารถในตัวมากกว่าคุณค่าความสวยที่มี และเป็นแรงส่งให้ภาพยนตร์เรื่อง “ตุ๊กกี้ เจ้าหญิงขายกบ” ที่เน้นขายความฮาจากหน้าตาขี้เหร่ของเธอ ทำรายได้สูงสุดเกิน 70 ล้านบาท

ในขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ก็มีสาวมากความสามารถ คาแร็กเตอร์แรงและชัดเจน โอปอล์ ปาณิสรา พิมพ์ปรุ เป็นไอดอล ท่ามกลางคนหน้าตาดีที่มีอยู่รายรอบ

ทั้งสองไม่ใช่แค่คนหน้าตาไม่ดีที่บังเอิญได้มีโอกาส และพื้นที่ในวงการบันเทิงเท่านั้น แต่เธอได้รับการยอมรับนับถือในฝีมือและตัวตนที่แท้จริงของเธอทั้งสอง เอาชนะเสียงครหาทางด้านหน้าตา ฝ่ากระแสสวยด้วยศัลยกรรม โดยที่ไม่จำเป็นต้อง “เฟค” หรือ “แอ๊บ” อีกต่อไป

และกลายเป็น “บรรทัดฐาน” และ “ค่านิยม” ใหม่ของคนที่อยู่ท่ามกลางไฟสปอตไลต์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของความสามารถที่อยู่ข้างใน ด้วยความธรรมดา ที่หน้าตาเหมือนกับ “เรา” ได้สร้างและสานสายสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นระหว่างพวกเธอและคนทั่วไปได้อย่างง่ายดาย

จนพัฒนากลายมาเป็นเครื่องมือทางการตลาด ที่คนหน้าตาบ้านๆ มีประสิทธิภาพในการชักจูงใจได้ดีเท่ากับพรีเซ็นเตอร์ดังๆ

หน้าตาไม่ดี แต่มีคาแร็กเตอร์

ถึงแม้สิ่งที่ขาดหายไปของตุ๊กกี้และโอปอล์ คือ หน้าตาและรูปร่างที่สมบูรณ์แบบ แต่ทั้งสองก็มีคาแร็กเตอร์ที่โดดเด่นมาทดแทนได้อย่างเพียงพอ และเป็นเหตุผลหลักที่สร้างให้ทั้งสองคนเป็นที่จดจำในกลุ่มผู้ชม

ท่ามกลางความเหมือน ที่ไม่ว่ามองไปทางไหนก็เห็นเทรนด์เกาหลี และในยุคที่ศัลยกรรมกลายเป็นเรื่องสามัญประจำผู้หญิงไปแล้ว ทั้งตุ๊กกี้และโอปอล์ได้ใช้หน้าตาที่มีมาแต่เกิด การยอมรับในข้อด้อยและนำมาใช้ให้เป็นจุดเด่น ทำให้ทั้งสองคนแตกต่าง และทำได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะการเป็นนางเอกภาพยนตร์

“ยุคนี้ หน้าตาไม่ต้องดีแต่ต้องมีคาแร็กเตอร์” เล็ก พรรษพล ลิมปิศิริสันต์ และหมิ่น วิบูลย์ สีภักดิ์ปรีดา คู่ดูโอผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทเอเยนซี่โฆษณา Monday ว่าไว้อย่างนั้น

ที่ผ่านมา แม้นักแสดงตลกจะใช้ความสามารถในการเรียกเสียงหัวเราะจนกลายเป็นซูเปอร์สตาร์ และก้าวไปเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับหลายแบรนด์สินค้า อย่างเช่น หม่ำ จกม๊ก เป็นต้น แต่ความสำเร็จแบบนี้กลับไม่เคยเกิดขึ้นกับนักแสดงตลกหญิง

ดังนั้น เมื่อคาแร็กเตอร์ของตุ๊กกี้เกิดโดนใจผู้บริโภคขึ้นมา ก็ยิ่งทำให้ชื่อเสียงของเธอโดดเด่นมากกว่านักแสดงตลกคนอื่น ซึ่งที่ผ่านมาเธอได้พิสูจน์ว่าคาแร็กเตอร์ของเธอได้รับการยอมรับจากแบรนด์สินค้า โดยตั้งแต่ต้นปีเธอทำหน้าที่เป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับไอศกรีมเนสท์เล่ เพื่อมอบเสียงหัวเราะให้กับผู้บริโภค

โดยพี่เล็ก พี่หมิ่น ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า คาแร็กเตอร์ของตุ๊กกี้ เข้าได้ดีกลับกลุ่มแมส ที่สร้างเสียงหัวเราะให้เกิดขึ้นได้ตั้งแต่เด็กจนผู้ใหญ่ ส่วนโอปอล์ คาแร็กเตอร์ของเธอกลับถูกใจกลุ่มหนุ่มสาว Urban มากกว่า

คนหน้าตาธรรมดาในงานโฆษณา

ความโด่งดังของทั้งตุ๊กกี้และโอปอล์ ได้เปลี่ยนมุมมองของทั้งผู้บริโภค คนทำงานโฆษณา และเจ้าของแบรนด์สินค้า ให้หันมาเห็นความสำคัญของคนหน้าตาไม่ดีมากขึ้น

โดยเฉพาะการเลือกใช้คนเหล่านี้ เป็นตัวแทนแบรนด์ในการสื่อสารกับผู้บริโภคผ่านโฆษณาทางโทรทัศน์มากขึ้น

การปรากฏของคนหน้าตาบ้านๆ ในงานโฆษณาทางพี่เล็ก พี่หมิ่นแห่ง Monday บอกว่า เทรนด์นี้มีมาแล้วประมาณ 4 ปี โดยเกิดขึ้นจากความต้องการของทางครีเอทีฟ ที่ต้องการสร้างสรรค์งานโฆษณาออกมาให้แตกต่างจากเดิมที่ไม่เลือกใช้ดารามาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ก็เลือกคนรูปร่างหน้าตาดีมาแสดงเป็นตัวแทนของแบรนด์ที่สื่อสารกับผู้บริโภค

นั่นกลายเป็นข้อจำกัดของธีมโฆษณาที่ครีเอทีฟไม่สามารถคิดนอกกรอบ สร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ เพราะต้องมีภาพลักษณ์ของดาราที่มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ตีกรอบไว้อยู่

เมื่อเบื่อมากเข้า ทางครีเอทีฟจึงพยายามนำเสนอแนวทางเลือกด้วยการใช้คนหน้าตาธรรมดา แต่อาจมีคาแร็กเตอร์ชัดเจน หรือบุคลิกที่โดดเด่นทางใดทางหนึ่ง มาผนวกเข้ากับเนื้อเรื่องที่สร้างการจดจำ และสะท้อนจุดประสงค์ของแบรนด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้งานโฆษณาหันมาใช้คนหน้าตาธรรมดามากขึ้น เป็นเพราะ Local Brand เริ่มให้ความสำคัญกับโฆษณาทางโทรทัศน์มากขึ้น

พี่หมิ่น พี่เล็ก ตั้งข้อสังเกตว่า Local Brand ส่วนใหญ่มักใช้คนทั่วไป ที่ไม่จำเป็นต้องสวย หล่อ หรือรูปร่างดี เพราะพวกเขาต้องการสื่อสารกับคนอีกค่อนประเทศ ที่ไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับดารา ซึ่งคนหน้าตาธรรมดาสามารถตอบสนอง สร้างให้พวกเขารู้สึกถึงความเชื่อมโยง เชื่อในสิ่งที่โฆษณานำเสนอ ขณะเดียวกันการใช้ดารามารับบทพรีเซ็นเตอร์ต้องใช้เงินมากกว่าการผลิตงานโฆษณาทั่วไปถึง 3 เท่า

ดังนั้น หากเงินไม่หนาพอที่จะจ้างซูเปอร์สตาร์ดังๆ มารับบทพรีเซ็นเตอร์ การใช้คนหน้าตาธรรมดาบวกกับเนื้อเรื่องที่โดดเด่น เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

แต่ทาง Monday ก็มีข้อแนะนำอยู่ว่า คนหน้าตาธรรมดาไม่เหมาะกับแบรนด์สินค้าที่ต้องเน้นการสร้างภาพลักษณ์ อย่างเช่น โทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น สินค้าเหล่านี้จำเป็นที่ต้องนำเสนอว่าใช้แล้วออกมาดูดี ถือแล้วเท่ มีแล้วเจ๋ง

ตัวอย่างงานโฆษณาที่เห็นได้ชัดในการนำเสนอความธรรมดาที่ไม่ธรรมดา ได้แก่ เนเจอร์กิฟ ที่ได้ใช้สามสาวหุ่นนางแบบ ที่หน้าตาไม่เข้าขั้น เพราะคนที่ดื่มกาแฟเนเจอร์กิฟไม่ใช่คนที่สวยพร้อม สมบูรณ์แบบ แต่พวกเธอมักมีปัญหาในเรื่องของรูปร่าง ซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้หญิงกว่าค่อนประเทศต้องเผชิญ

หรือแม้กระทั่งยูนิลีเวอร์ ในแคมเปญที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมส่งเสริมการขายในทุกผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ที่ไม่ต้องยึดติดกับภาพลักษณ์แบรนด์สินค้าใดๆ ก็เลือกใช้ตัวแสดงที่มีความธรรมดา หน้าตาชาวบ้านให้ได้มากที่สุด