เอสซีจี เซรามิกส์ หรือ COTTO รายได้ปี 2563 ลดลง -10% แต่ทำกำไรอู้ฟู่เติบโต 150% จากการปรับโครงสร้างในองค์กร ต้นทุนก๊าซธรรมชาติลดลง ประเมินปี 2564 มูลค่าตลาดกระเบื้องไทยยังทรงตัวจากพิษ COVID-19 จำนวนโครงการสร้างใหม่ไม่สูง ส่งออกเจอปิดพรมแดน บริษัทเลือกแตกไลน์ปั้นแบรนด์ SUSUNN โซลูชันติดตั้งแผงโซลาร์ในโรงงาน-ห้างสรรพสินค้า
“นำพล มลิชัย” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO สรุปผลการดำเนินงานของบริษัทปี 2563 มียอดขายรวม 9,951 ล้านบาท ลดลง -10% จากปีก่อนหน้า แต่ทำกำไรสุทธิ 420 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 150% จากปีก่อนหน้า
เหตุผลของรายได้ที่ลดลงแน่นอนว่ามาจาก COVID-19 ทำให้ตลาดทั้งหมดหดตัว โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 1-2 ของปี ก่อนจะกระเตื้องขึ้นในช่วงไตรมาส 3-4 อย่างไรก็ตาม ตลาดส่งออกในกลุ่มประเทศ CLM (กัมพูชา ลาว เมียนมา) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 19% ของยอดขายรวม เริ่มมีอาการสะดุดในช่วงปลายไตรมาส 4/63 เพราะประเทศเพื่อนบ้านพบการระบาดรอบใหม่และมีการปิดชายแดน ทำให้การส่งออกลำบากมากขึ้น
ส่วนสาเหตุที่แม้ยอดขายจะลด แต่กำไรกลับเพิ่มขึ้น เกิดจากการปรับปรุงภายในองค์กรต่อเนื่องมา 2-3 ปี มีการยุบรวมบริษัทย่อย และจัดการสายการผลิตให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงต้นทุนการผลิตค่าก๊าซธรรมชาติลดลงเมื่อปีก่อน ทำให้ต้นทุนต่ำลง
จากคำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการบริษัทฯ สำหรับงวดปี 2563 ระบุว่า COTTO มีการจ่ายเงินชดเชยลูกจ้างถูกเลิกจ้างทั้งสิ้น 124 ล้านบาท เห็นได้ว่ายังเป็นอีกปีที่บริษัทมีการลดขนาดองค์กร และได้ผลเป็นอัตรากำไรที่ดีขึ้นมากโดยอยู่ที่ 4.2% เทียบกับปี 2561 บริษัทเคยมีอัตรากำไรบางมากเพียง 0.08% ซึ่งแทบจะเข้าสู่ภาวะขาดทุน
ปี 2564 เหนื่อยต่ออีกปี ลุ้นตลาดไม่ติดลบ
นำพลกล่าวต่อว่า ตลาดรวมกระเบื้องไทยปี 2563 มีมูลค่าราว 3 หมื่นล้านบาท มีการผลิตจำหน่ายรวม 165-170 ล้านตร.ม. ส่วนปี 2564 ยังประเมินได้ยากมากเนื่องจากเกิดการระบาดรอบใหม่ของ COVID-19 และเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี ซึ่งปกติจะเป็นหน้าขายของตลาดกระเบื้อง
ดังนั้น มองว่าไตรมาส 1-2 ปีนี้ตลาดน่าจะชะลอตัวเล็กน้อย แต่ถ้าวัคซีน COVID-19 มาตามแผนงานที่รัฐวางไว้ เชื่อว่า ไตรมาส 3-4 จะฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้ถัวเฉลี่ยตลอดปีตลาดน่าจะทรงตัวไม่ติดลบ
“เป้าหมายทั้งปี’64 น่าจะพูดยาก ต้องรออย่างน้อยให้พ้นไตรมาส 1 ไปก่อนถึงจะประเมินได้” นำพลกล่าว “ตอนนี้ทีมงานเราแทบจะทำงานสัปดาห์ต่อสัปดาห์อยู่แล้ว” พร้อมเสริมว่า ปัจจัยสำคัญของปีนี้คือหวังว่าจะไม่มีการระบาดหนักถึงขั้นล็อกดาวน์อีกครั้ง
ด้านภาพรวมลูกค้าแต่ละกลุ่ม แยกเป็นกลุ่มตลาดในประเทศ กลุ่มลูกค้าโครงการสร้างใหม่ คาดว่าจะยังมีจำนวนโครงการไม่สูงมากด้วยสภาพเศรษฐกิจ มีสัญญาณบวกจากกลุ่มดีเวลอปเปอร์บ้างว่าน่าจะมีการเปิดโครงการใหม่สูงกว่าปีที่แล้ว แต่ก็ต้องจับตามองใกล้ชิดเพราะอาจมีการเลื่อนแผนได้เสมอหากสถานการณ์ไม่ดี ขณะที่ กลุ่มลูกค้ารีโนเวตบ้าน เป็นกลุ่มที่ตั้งความหวังว่าจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันยอดขาย อาจทรงตัวถึงบวกได้เล็กน้อย
ส่วน ตลาดส่งออกต่างประเทศ ตั้งเป้าจะรักษาระดับสัดส่วน 18-20% ในยอดขายรวม และเชื่อว่าจะโตได้มากกว่าตลาดในประเทศ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ COVID-19 จะดีขึ้นหรือไม่
แตกไลน์รับติดแผงโซลาร์โรงงาน-ห้างฯ
ปีนี้ยังเป็นปีที่ COTTO จะแตกไลน์ไปทำธุรกิจโซลาร์อย่างเต็มตัว หลังจากเริ่มเปิดตัวปีก่อนบ้างแล้ว โดยใช้แบรนด์ SUSUNN ในการทำตลาด
บริการของ SUSUNN จะทำแบบโซลูชันครบวงจร รับติดตั้งและบริหารจัดการแผงโซลาร์ ซ่อมบำรุงให้ มีแอปพลิเคชันติดตามการใช้งาน โดยมุ่งเป้าไปที่ กลุ่มลูกค้า B2B เน้นกลุ่มโรงงานนิคมอุตสาหกรรม และกลุ่มห้างสรรพสินค้า สามารถนำไปติดบนหลังคาลานจอดรถได้ ส่วนกลุ่มลูกค้า B2C ยังไม่อยู่ในแผนขณะนี้
นำพลกล่าวว่า ตั้งเป้าปีนี้จะขายได้ 30-50 เมกะวัตต์ หรือถ้าเป็นเป้ารายได้ ต้องการให้ถึงสัดส่วน 5% ของรายได้รวมบริษัท โดยปัจจุบันมีลูกค้าประจำที่ติดต่อเข้ามาบ้างแล้ว แต่ยังต้องทำโฆษณาประชาสัมพันธ์เพิ่มเพื่อให้รับรู้เป็นวงกว้างขึ้น