บรรยากาศ MBK ยุคหลัง COVID-19 น่าใจหาย คนเดินเงียบเหงา พบห้องเช่าว่างจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มร้านรับนักท่องเที่ยวที่โบกมือลา ผู้เช่าเผยเตรียมย้ายออกอีกเพียบจนถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้ ตามแผนของ MBK ที่จะปรับศูนย์การค้ารับคนไทยแทนต่างชาติ
Positioning ลงสำรวจพื้นที่ในศูนย์การค้า MBK Center หรือ มาบุญครอง ช่วงเวลา 17.30-18.30 น. เมื่อวันอังคารที่ 26 ม.ค. 64 พบบรรยากาศเงียบเหงาและร้านค้าจำนวนมากปิดกิจการเป็นห้องว่าง หรือกำลังขึ้นป้ายลดล้างสต๊อกเลิกกิจการ
โดยตั้งแต่ชั้น 1-3 ซึ่งปกติเป็นร้านขายสินค้าแฟชั่น ของฝาก เสริมด้วยร้านอาหารบางส่วน พบห้องว่างขึ้นป้าย “พื้นที่อยู่ระหว่างการปรับปรุง เตรียมพบกับบรรยากาศใหม่เร็วๆ นี้” มีเพียงบางจุดเท่านั้นที่ล้อมป้ายชื่อร้านใหม่ที่จะมาแทนที่ร้านเดิมเรียบร้อยแล้ว เช่น ร้าน “ป้อน” บริเวณชั้น 1 ของศูนย์ฯ เตรียมเปิดสาขาใหม่ และมีกลุ่มร้านชาไข่มุกเปิดใหม่หลายร้านเข้ามาให้เห็น
ถัดขึ้นไปชั้น 4 ซึ่งเป็นชั้นซื้อขายและรับซ่อมโทรศัพท์มือถือดูโล่งกว่าที่เคย มีล็อกว่างหลายล็อก แต่โซนธนาคารและร้าน Daiso ยังตั้งอยู่เหมือนเดิม
ขณะที่ชั้น 5 เรียกว่าพลิกโฉมใหม่หมดจด เพราะกลายเป็นดินแดนสถาบันกวดวิชาทั้งเวิ้ง โดยมีสถาบันที่ขึ้นป้ายล้อมร้าน อยู่ระหว่างตกแต่ง หรือเปิดดำเนินการแล้ว เช่น ออนดีมานด์, Absolute Learning, คณิตครู Sup’K, Monkey Monkey เป็นต้น
ส่วนชั้น 6 ปีกฝั่งเดียวกับโรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส พื้นที่ยังอยู่ระหว่างปรับปรุงทั้งหมด เกือบทุกร้านเดิมได้ย้ายออกไปแล้ว โดยมีป้ายระบุว่ากำลังปรับปรุงพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย. 63 – 10 ก.พ. 64 ขณะที่ฝั่งฟู้ดคอร์ทและร้านอาหารใหม่ๆ ที่เคยปรับไปตั้งแต่ก่อนเกิด COVID-19 ก็ยังอยู่เหมือนเดิม แต่อาจจะเงียบเหงาไปบ้าง
ถัดขึ้นไปที่ชั้น 7 ชั้น โรงภาพยนตร์ SF คาราโอเกะ โบว์ลิ่ง แหล่งรวมตู้เกม ร้านขายการ์ตูนยักษ์ใหญ่ Animate และมีเธียเตอร์ของ BNK48 กิจกรรมความบันเทิงเหล่านี้ยังอยู่กันครบ แต่ร้านอาหารบางร้านย้ายออกไปแล้ว โดยมีป้าย SF One Floor Entertainment ล้อมเอาไว้ก่อน
นอกจากนี้ ห้างสรรพสินค้าโตคิว ซึ่งกินพื้นที่ 4 ชั้น 12,000 ตร.ม. ก็กำลังจะปิดกิจการ 31 ม.ค. นี้ ดังที่มีการประกาศออกไปตั้งแต่เดือนตุลาคมปีก่อน
ทั้งนี้ Positioning ได้สอบถามเจ้าของร้านขายของฝาก-เครื่องประดับบนชั้น 3 ที่ขึ้นป้ายเลิกกิจการ ระบุว่าร้านของตนกำลังจะปิดกิจการสิ้นเดือนมกราคมนี้ โดยสถานการณ์ร้านที่จับกลุ่มนักท่องเที่ยวทยอยย้ายออกนั้นเกิดขึ้นมาแล้วหลายเดือน และมีอีกหลายร้านรอบๆ จะไม่ต่อสัญญา ทยอยย้ายออกกันจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2564 เนื่องจากทาง MBK จะปรับศูนย์ฯ ไปเจาะกลุ่มคนไทยมากขึ้น
ขณะที่พนักงานร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดร้านหนึ่ง ระบุว่าช่วงหลังการระบาดของ COVID-19 รอบใหม่ สถานการณ์ยิ่งหนักขึ้น เพราะทำให้ลูกค้าคนไทยไม่เข้ามา จากปกติช่วงปีก่อนยังมีลูกค้าเดินห้างฯ บ้างในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์
แผนการปรับเปลี่ยน MBK ให้เป็นศูนย์การค้าเจาะกลุ่มคนไทยนั้น ทาง บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวแจ้งตั้งแต่เดือนตุลาคม’63 ว่า บริษัทเตรียมงบลงทุน 1,000 ล้านบาทเพื่อทยอยปรับศูนย์ฯ ไปจนถึงสิ้นปี 2564 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ชั้น G และ ชั้น 2 จะมีการปรับโซนด้านหน้าห้างฯ และโซนแฟชั่นทั้งหมดให้เป็นร้านอาหาร ที่ตกลงแล้วมี 9 ร้าน เช่น สุกี้ตี๋น้อย, 2 Fast Food เป็นต้น บางร้านจะเปิดบริการตั้งเเต่ 7 โมงเช้า และบางร้านปิดดึกถึงตี 2
ชั้น 3 รวมสินค้าขายชาวต่างชาติ และเล็งพัฒนาเป็นศูนย์รวมสินค้าไทยคุณภาพดี เช่น ผลไม้ที่ขายตรงโดยเกษตรกร
ชั้น 4 โซนโทรศัพท์และและธนาคารเหมือนเดิม แต่จะมีร้านเพิ่มเติม อาทิ เสียวหมี่ คอมเซเว่น และบานาน่าไอที
ชั้น 5 ปรับจาก Outlet เป็นโซนการศึกษาสำหรับ “สถาบันกวดวิชา” ต่าง ๆ ครบ 19 สถาบัน มีศูนย์บริการทำพาสปอร์ต และปรับเป็นโซนบริการความงาม
ชั้น 6 เป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซ และออฟฟิศ
ชั้น 7 จะเป็นโซนเอนเตอร์เทนเมนต์เหมือนเดิม โดยมีโรงภาพยนตร์ SF, เกม, เธียเตอร์ของ BNK48
ก่อนเกิดสถานการณ์ COVID-19 ศูนย์การค้า MBK มีลูกค้าเป็นชาวต่างชาติถึง 70% ส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันออกกลาง อินเดีย อินโดนีเซีย ทำให้ร้านค้าจำนวนมากจะตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้ เป็นกลุ่มร้านขายเสื้อผ้า เครื่องประดับ สูท กระเป๋า กระเป๋าเดินทาง ของฝาก ที่ตรงกับรสนิยมชาวอาหรับ ส่วน 30% ที่เหลือที่เป็นคนไทย ได้อานิสงส์ส่วนใหญ่จากนักเรียน นิสิต นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาที่อยู่โดยรอบ
ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤต COVID-19 ขึ้นทำให้ทราฟฟิก MBK ลดจาก 100,000 คนต่อวัน เหลือ 30,000-40,000 คนต่อวัน (ข้อมูลเมื่อเดือนตุลาคม’63) ยิ่งช่วงนี้ที่สถาบันการศึกษายังปิดชั่วคราว เป็นไปได้ว่าทราฟฟิกจะลดลงอีก
อย่างไรก็ตาม จากแผนการปรับร้านค้าภายในแบบ “ยกเครื่อง” ทางบริษัทเชื่อว่าจะทำให้สัดส่วนสมดุลขึ้น วางเป้ามีชาวต่างชาติ 50% และคนไทย 50% ทำให้ทราฟฟิก MBK กลับมามากยิ่งกว่าเดิม โดยคาดหวังเป้า 120,000 คนต่อวันในปี 2565
ส่วนช่วงนี้นั้นนับได้ว่า MBK หรือ มาบุญครอง ศูนย์การค้าเก่าแก่อายุ 36 ปี ยังอยู่ท่ามกลางพายุครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่เปิดศูนย์ฯ ต้องรอลุ้นว่าแผนครั้งนี้จะพาผ่านพ้นวิกฤตได้สำเร็จหรือไม่!