จับตา “คลังสินค้า” ในยุโรปขาดแคลน หลัง Amazon ขายดี อีคอมเมิร์ซจีนโหมบุกตลาด

คลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าของ Amazon ใกล้เมืองบริสตอล ประเทศอังกฤษ (Photo : Shutterstock)
ธุรกิจที่ได้รับปัจจัยบวกจาก COVID-19 อย่างอีคอมเมิร์ซ ทำให้ซัพพลายเชนเติบโตตามยกแผง การค้าระหว่างผู้ซื้อในยุโรปกับผู้ขายจากจีนโตแรงจน “คลังสินค้า” ยุโรปเริ่มขาดแคลน จับตาแหล่งทุนเทเม็ดเงินลงทุนในคลังสินค้า เมื่อยักษ์อีคอมเมิร์ซจีนขยับท่าลุยตลาดนี้เต็มสูบ

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซกำลังเติบโตอย่างเห็นได้ชัดอยู่แล้วช่วงก่อนเกิดโรคระบาด แต่ COVID-19 กลายเป็นตัวเร่งสำคัญเมื่อผู้บริโภคถูกล็อกดาวน์อยู่กับบ้าน หน้าร้านถูกปิด ช่องทางออนไลน์จึงเป็นทางเดียวในการช้อปปิ้ง

ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของธุรกิจนี้คือ ทำอย่างไรจึงจะตอบรับคำสั่งซื้อของลูกค้าได้เร็วที่สุดและมากที่สุด ธุรกิจเหล่านี้ที่เคยพึ่งพิงซัพพลายเชนของธุรกิจชิปปิ้งขนส่งสินค้า ต้องเผชิญกับปัญหาคอนเทนเนอร์ขาดแคลน ซึ่งทำให้ค่าจัดส่งสูงขึ้นและลูกค้าต้องรอของนานขึ้น

กลยุทธ์ใหม่ของธุรกิจนี้จึงเป็นการหา “คลังสินค้า” ให้ใกล้กลุ่มผู้บริโภคมากขึ้นและสต็อกสินค้าล่วงหน้า เพื่อให้นักช้อปได้ของที่สั่งภายในเวลาไม่กี่วัน

“มาร์คัส เดอ มินสก์วิทซ์” ผู้อำนวยการกลุ่มออมนิแชนแนล Savills ประจำลอนดอน เปิดเผยว่า เทรนด์นี้ทำให้ “คลังสินค้า” มีดีมานด์สูงขึ้นมากจนอัตราพื้นที่ว่างในคลังสินค้าทวีปยุโรปลดต่ำกว่า 5% น้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์ และอัตรานี้มีแนวโน้มจะลดลงอีกด้วย

“ตลอดปี 2020 เราเห็นเทรนด์การใช้พื้นที่คลังสินค้าพุ่งขึ้นแรงในทวีปนี้ นำโดยประเทศอังกฤษ” มินสก์วิทซ์กล่าว “ผู้ขับเคลื่อนเทรนด์รายสำคัญก็คือ Amazon และผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ต่างๆ”

 

อีคอมเมิร์ซจีนกำลังลุยตลาดยุโรป

การลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์ของยุโรปเมื่อปีก่อนขึ้นไปแตะ 38,640 ล้านยูโร สูงที่สุดนับในรอบ 7 ปี และทวีปยุโรปยังรอผู้เล่นคนสำคัญอีกรายนั่นคือ Alibaba ยักษ์อีคอมเมิร์ซจีนที่จะเข้ามาโหมตลาด

ที่ผ่านมา Alibaba เริ่มบุกเข้ามาในตลาดยุโรปบ้างแล้ว ผ่านธุรกิจอีคอมเมิร์ซแบบครอสบอร์ดเดอร์ AliExpress ซึ่งสนับสนุนการขนส่งด้วยบริษัทโลจิสติกส์ในเครือคือ Cainiao (ไช่เหนียว)

Cainiao เปิดเผยตัวเลขผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ปี 2020 ทำรายได้ไป 1,740 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตขึ้น 51% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หนึ่งในปัจจัยที่ส่งเสริมคือการเติบโตของการค้าข้ามชายแดนที่ทะยานขึ้น ดูจากผลประกอบการของ Alibaba มูลค่าค้าส่งข้ามชายแดนของไตรมาสเดียวกันอยู่ที่ 577 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 53%

ด้าน “ไดแอน หวัง” ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ DHgate บริษัทอีคอมเมิร์ซจีนอีกรายหนึ่ง เปิดเผยว่า เดือนที่แล้วบริษัทลงทุนเช่าคลังสินค้า 10 แห่งในต่างประเทศ และปีนี้บริษัทจะเพิ่มคลังสินค้าอีกประมาณ 40 แห่ง

เมื่อมีคลังสินค้า สินค้าประมาณครึ่งหนึ่งของบริษัทจะถูกสต๊อกล่วงหน้าในต่างประเทศ เพื่อให้ลูกค้าได้รับของเร็วภายใน 3 วัน

หวังคาดว่า การค้าครอสบอร์ดเดอร์ในตลาดรวมจะเพิ่มสัดส่วนขึ้นอีก 5% รวมแล้วการค้ากับต่างประเทศของอีคอมเมิร์ซจีนน่าจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 30% ของรายได้รวมได้ภายในทศวรรษหน้า

 

ชาวยุโรปชินกับการซื้อของจีนมากขึ้น

ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าประเทศใดหรือภูมิภาคไหนที่ค้าขายกับอีคอมเมิร์ซจีนมากที่สุด แต่มีข้อมูลที่เป็นสัญญาณได้ว่า ผู้ซื้ออีคอมเมิร์ซจีนจากต่างประเทศที่เติบโตมากก็คือผู้ซื้อยุโรป และกลายเป็นหนึ่งในคู่ค้ายอดขายสูงสุดของจีนไปแล้ว

Photo : Shutterstock

“ผู้บริโภคในยุโรปจำนวนมากหันมาซื้อสินค้าจีน” สุเรช ดาลัย ผู้อำนวยการอาวุโสของบริษัทที่ปรึกษา Alvarez & Marsal กล่าว เขาคาดว่าการลงทุนนับจากนี้จะเน้นการลงทุนในเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีติดตามคำสั่งซื้อ เดลิเวอรีภายในวันเดียว และการจัดเก็บพัสดุปลายทางไว้ในล็อกเกอร์ เพื่อให้ผู้บริโภคมารับพัสดุเองได้ในเวลาที่สะดวก

“ตลาดยังมีดีมานด์อีกมาก” ดาลัยกล่าว “มีผู้บริโภคจำนวนมากขึ้นๆ ที่เริ่มเคยชินกับการซื้อสินค้าจากต่างประเทศ และการช้อปปิ้งบนเว็บไซต์จีน”

 

กองทุนต่างๆ ลงทุนในโลจิสติกส์ – คลังสินค้า

ทิศทางธุรกิจที่น่าจะเป็นขาขึ้นของคลังสินค้ายุโรป ทำให้บรรดาแหล่งทุนต่างๆ เริ่มเทเม็ดเงินมาในธุรกิจนี้ เช่น GIC กองทุนบริหารความมั่งคั่งจากสิงคโปร์ ประกาศดีล 2 สัญญาเมื่อปีก่อน เพื่อขยายการลงทุนในธุรกิจศูนย์กระจายสินค้าและอสังหาริมทรัพย์ด้านโลจิสติกส์ที่เกี่ยวเนื่องในยุโรป

Blackstone ไพรเวทอิควิตี้ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งลงทุนในธุรกิจคลังสินค้าของยุโรปและอเมริกาอยู่แล้ว เพิ่งจะประกาศเข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัทฮับขนส่งโลจิสติกส์แห่งหนึ่งทางใต้ของประเทศจีน มูลค่าการลงทุนสูงถึง 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่บริษัท GLP จากสิงคโปร์ ซึ่งบริหารจัดการอสังหาฯ และกองทุนไพรเวทอิควิตี้มูลค่ารวม 97,000 ล้านเหรียญสหรัฐ กล่าวว่า กิจกรรมกลุ่มอสังหาฯ ปล่อยเช่าในยุโรปของบริษัทเมื่อปีก่อนเติบโตถึง 69% เนื่องจากบริษัทบรรลุสัญญาเช่าพื้นที่คลังสินค้ารวม 11 ล้านตารางฟุตกับบริษัทอีคอมเมิร์ซและขนส่งพัสดุยักษ์ใหญ่หลายแห่ง เช่น Amazon, DHL, XPO Logistics และยักษ์ขนส่งพัสดุจีน SF Express ก็เพิ่งจะเซ็นสัญญาเช่าครั้งแรกในยุโรปด้วย

น่าสนใจว่าเมื่อยักษ์ชนยักษ์ในตลาดอีคอมเมิร์ซยุโรป ใครจะเป็นผู้ชนะ แต่เวลานี้ผู้ที่ได้ชิ้นปลามันไปก่อนแล้วคือคนทำธุรกิจคลังสินค้านั่นเอง

Source