“โออิชิ กรุ๊ป” ปี 63 รุ่นฝ่า COVID-19 กำไร 1,066 ล้าน ลดลง 13.3% ปันผล 1.45 บาท

บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดผลประกอบการปี 2563 ปีที่มีการเปลี่ยนแปลง และความตึงเครียดสูงจากวิกฤต COVID-19 มีรายได้ และกำไรลดลง แต่ยังจ่ายปันผลอย่างต่อเนื่อง

สำหรับผลประกอบการปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 2562 – ก.ย. 2563)

  • มีรายได้รวม 11,007 ล้านบาท ลดลง 19.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
  • กำไรสุทธิ 1,066 ล้านบาท ลดลง 13.3% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ประกาศจ่ายเงินปันผลที่ 1.45 บาทต่อหุ้นจากผลประกอบการปี 2563

นงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า

“สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในด้านเศรษฐกิจ และสังคมโดยรวม อีกทั้งยังสร้างความท้าทายใหม่ๆ ให้กับทุกธุรกิจและทุกภาคส่วน บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวเช่นกัน บริษัทฯ จึงได้มีการปรับกลยุทธ์และแผนงานต่างๆ เพื่อเร่งสร้างรายได้ให้กลับมาให้มากที่สุด และในขณะเดียวกันก็ประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ พร้อมควบคุมการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังไม่ดีขึ้นประกอบกับผู้บริโภคมีกำลังซื้อที่ลดลง

ชาเขียวยังเบอร์ 1

ธุรกิจเครื่องดื่มชาเขียวโออิชิยังคงมีส่วนแบ่งการตลาดได้สูงถึง 48% (ข้อมูล 12 เดือนล่าสุด สิ้นสุด ณ เดือน ก.ย. 2563 จาก บริษัท เดอะนีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด) โดยทิ้งห่างคู่แข่งอย่างชัดเจน และครองตำแหน่งผู้นำตลาดชาเขียวพร้อมดื่มอย่างต่อเนื่อง

เจษฎากร โคชส์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจเครื่องดื่ม เปิดเผยว่า

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ประกอบกับการชะลอตัวของตลาดชาพร้อมดื่มภายในประเทศที่ปรับตัวลดลง 9.1% (ข้อมูล 12 เดือนล่าสุด สิ้นสุด ณ เดือน ก.ย. 2563 จาก บริษัท เดอะนีลเส็นคอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด) ส่งผลกระทบต่อยอดขายของธุรกิจเครื่องดื่มบ้าง แต่บริษัทยังสามารถประคองสถานการณ์ และสร้างผลกำไรที่เติบโตได้ จากการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องดื่มชาเขียวที่ดีต่อสุขภาพ เช่น โออิชิ โกลด์ เกียวคุโระ, โออิชิ พลัส ซี ชาเขียวผสมวุ้นมะพร้าวโดยพลัสประโยชน์จากวิตามินซี 200%

ประกอบกับทำการตลาดและกิจกรรมส่งเสริมการขายรูปแบบใหม่ๆ การกระจายสินค้าผ่านช่องทางต่างๆ ได้ครอบคลุมมากขึ้น การบริหารจัดการงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเดินหน้าขยายตลาดส่งออก โดยเข้าไปเปิดตลาดใหม่ในประเทศเมียนมา ทำกิจกรรมการตลาดในเขตพื้นที่แถบชายแดน ส่งผลให้ยอดขายในเมียนมาเติบโตต่อเนื่อง ส่วนในประเทศกัมพูชาและลาวยังคงรักษาตำแหน่งยอดขายอันดับหนึ่งไว้ได้อย่างเหนียวแน่น”

ธุรกิจอาหาร ลุยเปิดโมเดลใหม่

ไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจร้านอาหาร เผยว่า

“ในปี 2563 เราเน้นปรับตัวรับมือกับผลกระทบจาก COVID-19 และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง และซับซ้อนมากขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยี และดิจิทัลมาต่อยอดสร้างสรรค์บริการใหม่ๆ ในร้านอาหารญี่ปุ่นโออิชิ พร้อมพัฒนาช่องทางขาย-เดลิเวอรี่ (Delivery) และซื้อกลับบ้าน (Take Away) มากขึ้น”

มีการปรับรูปแบบร้านให้เหมาะสม และเข้ากับสภาพแวดล้อมทางการตลาดในปัจจุบัน เน้นเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างครอบคลุมและรวดเร็ว โดยการขยายธุรกิจ และเปิดตัวร้านอาหารรูปแบบใหม่ เช่น

  • โออิชิ ทู โก (OISHI to Go)
  • โออิชิ ฟู้ด ทรัค (OISHI Food Truck)

  • โออิชิ ราเมน X คาคาชิ บริการ 24 ชั่วโมง เป็นร้านอาหารประเภทไฮบริดสาขาแรกที่ เดอะ สตรีท รัชดา อีกทั้งมีการเฉพาะที่
  • โออิชิ คิทเช่น พัฒนาสูตรอาหาร และผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ นำเสนอเมนูแบบเอ็กซ์คลูซีฟ สามารถสั่งผ่านบริการจัดส่งอาหารโออิชิ เดลิเวอรี่ หรือแอปพลิเคชันฟู้ด เดลิเวอรี่

sakae oishi ซาคาเอะ

  • ซาคาเอะ (SAKAE : The Signature Taste of Shabu Shabu and Sukiyaki) ต่อยอดสู่ตลาดพรีเมียม ชาบูเมนู a-la-cart ให้บริการในรูปแบบหม้อเดี่ยวส่วนตัว เพื่อสร้างความแตกต่าง และคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคจับกลุ่มเป้าหมายระดับบนและกลางเป็นหลัก

อาหารพร้อมทานเติบโตรับเทรนด์

ด้านธุรกิจอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมทาน เมขลา เนติโพธิ์ รองกรรมการผู้จัดการสายงานธุรกิจอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า

“สถานการณ์การแพร่ระบาดและการปิดเมือง กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อการบริโภคและการเติบโตของตลาดอาหารสำเร็จรูป แช่เย็นและแช่แข็ง เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่มีคุณภาพ สะดวกในการบริโภค และมีความหลากหลาย เป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยในช่วงเวลานี้ เราจึงเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมทาน ภายใต้ตราสินค้า “โออิชิ อีทโตะ” (OISHI EATO) โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ เช่น โออิชิ อีทโตะ แซนด์วิชผสมธัญพืชไส้อกไก่สลัดไข่ – เวย์โปรตีน พร้อมเร่งขยายช่องทางใหม่ๆ เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น

ตั้งแต่การวางจำหน่ายสินค้าในห้างที่ให้บริการค้าปลีกและค้าส่ง การจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ของห้างต่างๆ เช่น Tops online, TESCO Lotus online และเครื่อง Vending Machine อีกทั้งมีการสร้างสรรค์หีบห่อบรรจุภัณฑ์ให้โดดเด่นและแตกต่าง นอกจากนั้นยังพัฒนาสินค้ากลุ่มใหม่ ๆ ที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์กลุ่มเดิม เช่น สินค้ากลุ่มซอสและเครื่องปรุงรส”

แม้ผลประกอบการรายได้ และกำไรจะลดลง แต่โออิชิยังคงจ่ายปันผลอย่างต่อเนื่องที่ 1.45 บาท ในปี 2563 เป็นปีแห่งการต่อสู้ของผู้ประกอบการจริงๆ