ประเทศพัฒนาแล้ว “อัตราการเกิด” ลดฮวบ ยิ่งล็อกดาวน์ยิ่ง “เครียด” มากกว่าได้ใช้เวลาดีๆ

ผ่าน 9 เดือนหลังจากช่วงล็อกดาวน์เมื่อปีก่อน ฝรั่งเศสเผชิญภาวะ “อัตราการเกิด” ต่ำกว่าปกติราว 10-25% ผิดจากที่คาดว่าการล็อกดาวน์จะทำให้คู่รักได้ใช้ช่วงเวลาดีๆ ด้วยกันมากขึ้น และมีบุตรสูงขึ้น เทรนด์นี้เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่ง สาเหตุก็คือ แทนที่จะเป็นช่วงเวลาอบอุ่นของครอบครัว การล็อกดาวน์กลับเป็นตัวการความกังวลด้านเศรษฐกิจและความเครียดของคน

ฝรั่งเศส ประเทศซึ่งมีประชากรมากกว่า 64 ล้านคน เข้าสู่ช่วง 9 เดือนหลังการล็อกดาวน์เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 รอบแรก โดยฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการล็อกดาวน์เข้มงวดมากที่สุดในโลก จนมีการคาดการณ์ว่า การล็อกดาวน์น่าจะนำไปสู่อัตราการเกิดที่สูงขึ้นเพราะทุกคนติดอยู่ในบ้านเดียวกัน

แต่กลับกลายเป็นว่า อัตราการเกิดของฝรั่งเศสลดต่ำลงอย่างมาก เนื่องจากความกังวลด้านเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ความเครียด และบางกรณีคือความกังวลเกี่ยวกับไวรัสอาจจะมีอันตรายต่อเด็ก ทำให้ครอบครัวจำนวนมากเลื่อนแผนหรือยกเลิกแผนการมีลูกไปก่อน

ยกตัวอย่างจำนวนทารกเกิดใหม่ที่ โรงพยาบาล Saint-Denis ชานเมืองปารีส ในช่วงระหว่างกลางเดือนธันวาคม 2020 ถึงกลางเดือนมกราคม 2021 กลับลดลงกว่าช่วงปีก่อนหน้าถึง 20% และยังคาดการณ์ด้วยว่า ตัวเลขทารกเกิดใหม่ของปีนี้น่าจะยังคงต่ำกว่าปีก่อน อย่างน้อยก็ในช่วงครึ่งปีแรก

 

ล็อกดาวน์ยิ่งเข้มงวด การมีลูกยิ่งน้อยลง

ไม่เพียงแต่ชานเมืองปารีส เทรนด์นี้เกิดขึ้นในเมืองอื่นๆ ของฝรั่งเศส มีอัตราการเกิดลดลงระหว่าง 10-25% ในช่วงเดือนมกราคม 2021 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (ข้อมูลจาก University Hospital in Nancy) ซึ่งการเกิดที่ลดลงเท่านี้ถือว่าเป็นตัวเลขที่ลดลงอย่างมาก

17 ตุลาคม 2020 : บรรยากาศร้านอาหารแห่งหนึ่งในปารีส ต้องเก็บร้านก่อนเวลาเนื่องจากการประกาศเคอร์ฟิวของภาครัฐ เพื่อควบคุมการระบาดระลอกสอง (Photo: Adnan Farzat/NurPhoto via Getty Images)

รวมถึงใน “อิตาลี” และ “สหรัฐอเมริกา” เกิดเทรนด์แบบเดียวกัน ข้อมูลจาก สำนักสถิติแห่งชาติอิตาลี ระบุว่าเมืองหลัก 15 เมืองของอิตาลีมีอัตราการเกิดต่ำลงมากกว่า 21% ทั้งนี้ บางเมืองในประเทศพัฒนาแล้วก็ไม่เกิดผลกระทบมากนัก เช่น เบอร์ลิน มีอัตราการเกิดต่ำลงไม่มาก แต่เปรียบเทียบกันแล้ว ความเข้มงวดในการล็อกดาวน์ของเยอรมนียังไม่หนักหนาเท่าฝรั่งเศสและอิตาลี

สะท้อนให้เห็นว่า COVID-19 จะมีผลโดยอ้อมต่ออัตราการเกิด และทำให้ภูมิประชากรของประเทศเปลี่ยนแปลง ซึ่งเทียบได้กับเหตุการณ์สำคัญๆ ในประวัติศาสตร์ที่มีผลกับภูมิประชากร เช่น สงคราม วิกฤตเศรษฐกิจ หายนะภัยครั้งใหญ่ หรือแม้แต่ภาวะโลกร้อนก็สามารถมีผลได้

อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกัน ประเทศกำลังพัฒนากลับมีอัตราการเกิดสูงขึ้น เพราะโรคระบาดทำให้รัฐลดงบที่เกี่ยวกับการป้องกันการตั้งครรภ์ เช่น ยาคุมกำเนิด บริการวางแผนครอบครัว (อ่านเพิ่มเติม: สิงคโปร์งัดนโยบาย “มีลูกเพื่อชาติ” ขณะที่ฟิลิปปินส์-อินโดฯ การเกิดพุ่งจนน่ากังวล)

 

กังวลเรื่องรายได้-เครียดจนไม่อยากมีลูก

สำนักข่าว Independent รายงานว่าปัจจัยใหญ่ที่ทำให้คนในประเทศพัฒนาแล้วมีลูกลดลง คือปัจจัย “ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ” เพราะคนที่กำลังพิจารณามีบุตรในช่วงที่โรคระบาดเพิ่งเริ่มขึ้น อาจจะประสบปัญหาตกงานหรือรายได้ลดลงพอดี

แม้ว่ารัฐบาลฝรั่งเศสหรือประเทศในยุโรปอื่นๆ ต่างมีเงินช่วยเหลือให้กับคนตกงาน แต่แน่นอนว่าเงินช่วยเหลือจะมีให้เพียงชั่วคราว และความจริงที่ว่าอุตสาหกรรมหรือธุรกิจจะไม่ฟื้นตัวเร็ว ประชาชนจึงไม่รู้สึกมั่นคงพอที่จะมีลูก

การล็อกดาวน์ไม่ได้ช่วยให้เกิดช่วงเวลาดีๆ ของครอบครัว แต่เป็นในทางตรงกันข้าม คนในครอบครัวเครียดมากขึ้น

ลำดับต่อมาคือ “ความเครียด” การติดอยู่บ้านในช่วงล็อกดาวน์ไม่ใช่ช่วงเวลาดีๆ ของคู่สามีภรรยาอย่างที่คิด แต่หลายๆ ครอบครัวเครียดหนักขึ้นเพราะสามีภรรยาอยู่ตัวติดกันมากเกินไป หรือบางครอบครัวมีลูกที่โตพ้นวัยทารกแล้ว ปกติเด็กๆ จะอยู่ที่โรงเรียนในเวลากลางวัน ช่วยผ่อนบรรเทาภาระพ่อแม่ แต่เมื่อเกิดล็อกดาวน์ ทั้งพ่อแม่และเด็กต้องมาติดอยู่ในบ้านเดียวกันตลอดวันตลอดคืน

ความเครียดเหล่านี้ร้ายแรงกว่าที่คิด เพราะกลายเป็นตัวนำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัว

“มีผู้หญิงจำนวนมากกว่าปกติที่มาที่โรงพยาบาลเพื่อขอทำแท้ง พวกเธอจะบอกว่า ‘ฉันมีลูกกับคนที่กลายเป็นคนใช้ความรุนแรงในช่วงล็อกดาวน์แบบนี้ไม่ได้หรอก'” Ghada Hatem-Gantzer สูตินรีแพทย์ประจำโรงพยาบาล Saint-Denis กล่าว อย่างไรก็ตาม จำนวนการทำแท้งที่แท้จริงไม่ได้สูงขึ้น แต่เหตุผลเรื่องความรุนแรงในครอบครัวมีสัดส่วนที่สูงขึ้นจริง

น่าสนใจว่า COVID-19 จะทำให้กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วยิ่งมีประชากรจำนวนน้อยลงหรือไม่ จากที่หลายประเทศมีภาวะสังคมสูงวัยอยู่ก่อนแล้ว ส่วนประเทศไทยนั้น กระทรวงสาธารณสุขเพิ่งเปิดสถิติเด็กเกิดใหม่ปี 2563 ที่ลดต่ำกว่า 6 แสนคนต่อปีเป็นครั้งแรก เนื่องจากคนไทยมีค่านิยมอยู่เป็นโสดและไม่มีบุตรมากขึ้น

Source