“ชาวญี่ปุ่น” กว่า 27% ปฏิเสธการฉีดวัคซีน COVID-19 เพราะกลัวผลข้างเคียง

ญี่ปุ่นฉีดวัคซีน
(Photo by Behrouz Mehri - Pool/Getty Images)
ญี่ปุ่นเริ่มฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 แล้ว แต่ประชาชนจำนวนไม่น้อยยังลังเลที่จะรับวัคซีน ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อควบคุมการระบาดของโรค

วัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์สำหรับผู้คนเกือบ 420,000 คนได้ขนส่งมายังญี่ปุ่นแล้ว บุคลากรทางการแพทย์ได้ทยอยเข้ารับการฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มแรก หลังจากนั้นในเดือนมีนาคม บรรดาผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวจะเข้ารับวัคซีนเป็นกลุ่มต่อมา

รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าจะฉีดวัคซีนให้ได้ราว 80% ของประชากรทั้งประเทศ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่สำหรับโรค COVID-19

ผลการสำรวจของสำนักข่าวเกียวโดเมื่อวันที่ 6-7 ก.พ. พบว่า ประชาชนที่สุ่มสำรวจ 63.1% ยินดีที่จะรับการฉีดวัคซีน แต่อีก 27.4% ระบุว่าจะไม่รับวัคซีน โดยกลุ่มผู้หญิงวัย 40-50 ปีเป็นกลุ่มที่ปฏิเสธการรับวัคซีนมากที่สุด

ญี่ปุ่นสั่งซื้อวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์ และโมเดิร์นนาของสหรัฐฯ ที่มีประสิทธิภาพ 95% และวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกาของอังกฤษที่มีประสิทธิภาพ 70% คาดว่าประชาชนทั่วไปจะได้รับวัคซีนในเดือนพฤษภาคม เป็นต้นไป

Photo : Shutterstock

ผลการสำรวจอีกชิ้นหนึ่งโดยบริษัทวิจัย Ipsos พบว่า ญี่ปุ่นรั้งท้ายในอันดับที่ 4 ในเรื่องความเต็มใจของประชาชนที่จะรับวัคซีน โดยประเทศที่ประชาชนลังเลที่จะฉีดวัคซีนมากที่สุด คือ รัสเซีย ฝรั่งเศส แอฟริกาใต้ และญี่ปุ่น

ผลสำรวจพบว่า ชาวญี่ปุ่นเพียง 19% บอกว่า เต็มใจอย่างยิ่งที่จะรับวัคซีน และ 26% บอกว่าจะรับวัคซีนในทันทีที่พร้อม ส่วนประชาชนส่วนใหญ่ยังบอกว่าขอรอดูสถานการณ์ก่อน โดยเหตุผลสำคัญคือกังวลผลข้างเคียงจากวัคซีน

ผลการสำรวจพบว่า การรับหรือปฏิเสธวัคซีนแตกต่างกันตามเพศและอายุ ผู้ชายอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นกลุ่มที่เต็มใจรับวัคซีนสูงที่สุดถึง 72% ขณะที่กลุ่มผู้หญิงวัย 40-50 ปีเป็นกลุ่มที่ปฏิเสธการรับวัคซีนมากที่สุดถึง 40.9%

ญี่ปุ่นเคยมีประวัติผลข้างเคียงจากวัคซีนหลายกรณี ที่ทำให้รัฐบาลต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพมาจนถึงทุกวันนี้

วัคซีนโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน (MMR) ถูกเพิกถอนการใช้งานในปี 2536 จากความกังวลว่าอาจทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

ในปี 2554 วัคซีน 2 ตัวสำหรับเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และปอดบวม ถูกระงับการใช้หลังจากทำให้เด็ก 4 คนเสียชีวิต

ในปี 2556 กระทรวงสาธารณสุขระงับการส่งเสริมการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หลังพบว่ามีผลข้างเคียง เช่น อาการปวดเรื้อรัง ทั้งๆ ที่วัคซีนชนิดนี้ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกว่าปลอดภัย และยังตั้งเป้าให้เด็กหญิงทั่วโลก 90% ได้รับวัคซีนนี้ก่อนอายุ 15 ปีในช่วงทศวรรษ 2020-2030

ประสบการณ์ผลกระทบจากวัคซีนในอดีต และทัศนะของชาวญี่ปุ่นที่ระแวดระวังต่อการใช้ยาต่างๆ อยู่แล้ว ทำให้การการสร้างความมั่นใจให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง เพราะถึงแม้จะมีวัคซีนมากมาย แต่หากจำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีนมีไม่มากเพียงพอ ประสิทธิภาพในการป้องกันการระบาดก็จะไม่เกิดขึ้นได้

Source