เปิดหมาก “รมต.กระทรวงความเหงา” ญี่ปุ่น กับงานสางปมความเศร้าในยุคโมเดิร์นไลฟ์

นาทีนี้โลกกำลังจับตา “เท็ตสึชิ ซากาโมโตะ” (Tetsushi Sakamoto) รัฐมนตรีที่ได้ชื่อว่าเป็น Minister of Loneliness ซึ่งจะรับบทบาทใหม่ในภารกิจแก้ปัญหาความเหงาและโดดเดี่ยวของชาวญี่ปุ่น ความน่าสนใจคือทำไมนายกรัฐมนตรี “โยชิฮิเดะ สุงะ” จึงวางใจแต่งตั้งหัวกะทิคนนี้ ซึ่งจะต้องรับมือกับความคาดหวังเร่งด่วนในช่วงที่วิกฤตโควิด-19 ยิ่งทำให้คนเหงาและเศร้ามากขึ้น

Tetsushi Sakamoto ภาพจาก : https://fr.wikipedia.org/wiki/Tetsushi_Sakamoto

เท็ตสึชิ ซากาโมโตะ มีดีกรีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการฟื้นฟูภูมิภาค หรือ regional revitalization minister ของญี่ปุ่น การแต่งตั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อสานต่อความพยายามของรัฐบาลแดนปลาดิบในการแก้ไขปัญหาความเหงาและความโดดเดี่ยวซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นท่ามกลางชีวิตนิวนอร์มัล คาดว่ากลุ่มเป้าหมายหลักของภารกิจนี้คือกลุ่มผู้หญิง ซึ่งสำรวจพบว่ามีความทุกข์ทรมานจากการโดดเดี่ยวมากกว่าผู้ชาย และเป็นกลุ่มที่มีจำนวนการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

ความคาดหวังที่รัฐมนตรีซากาโมโตะได้รับ คือการระบุปัญหาและส่งเสริมมาตรการเชิงนโยบายอย่างครอบคลุม ความหวังนี้เป็นเรื่องเดียวกับที่ “เทรซีย์ คราวช์” (Tracey Crouch) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความเหงาคนแรกของโลก เคยได้รับมาจากรัฐบาลอังกฤษตั้งแต่ปี 2017 

2 รมว.กระทรวงความเหงาของโลกมีไอเดียการจัดการกับความจริงอันน่าเศร้าของวิถีชีวิตสมัยใหม่ได้อย่างน่าสนใจ บนเดิมพันว่าหากประชากรคนเหงาลดลง ต้นทุนหลายด้านที่ประเทศจะต้องเสียไปก็จะลดลงตามไปด้วย

Photo : Shutterstock

แผนคือควบคุม

ในการแถลงข่าวที่ประเทศญี่ปุ่น รัฐมนตรีซากาโมโตะเผยแผนดำเนินการเบื้องต้นว่าจะเดินหน้าทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อป้องกันและควบคุมภาวะความเหงาและความโดดเดี่ยวทางสังคม และเพื่อปกป้องความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคมลูกพระอาทิตย์ ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับซากาโมโตะ นักการเมืองวัย 70 ปีชาวเมืองจังหวัดคุมาโมโตะที่โลดแล่นในวงการเมืองญี่ปุ่นมาหลายทศวรรษ

หลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชูโอ ซากาโมโตะเข้ารับราชการในสภาจังหวัดคุมาโมโตะเป็นเวลา 4 วาระตั้งแต่ปี 1991 ก่อนจะได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรกในปี 2003 โปรไฟล์ของซากาโมโตะที่แสดงบนเว็บไซต์พรรค LDP (Liberal Democratic Party) แสดงว่าซากาโมโตะได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการรัฐสภาฝ่ายกิจการภายในและการสื่อสาร รวมถึงรองประธานคณะกรรมการกิจการอาหาร และประธานคณะกรรมการองค์กรด้านการเกษตร ป่าไม้ และการประมง

Photo : Pixabay

ตำแหน่งใหม่อย่าง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความเหงา” นี้มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2021 กิจกรรมแรกที่ซากาโมโตะเริ่มลุยคือการจัดเวทีเปิดฟอรั่มระดมสมองในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานช่วยเหลือผู้ที่ต้องเผชิญกับความเหงาและความโดดเดี่ยว เพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการสนับสนุนอย่างจริงจัง

ทั้งหมดนี้ ซากาโมโตะได้รับแรงหนุนจากทีมงานพรรค LDP ที่กำลังศึกษาขอบเขตการร่างกฏหมายเพื่อสนับสนุนมาตรการในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรม และเนื่องจากปัญหานี้เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน การตั้งซากาโมโตะจึงเหมาะสมในการประสานงานกับทุกฝ่ายเพื่อนำแนวคิดนโยบาย ไปสู่การปฏิบัติจริงในสังคม

ซากาโมโตะจะเป็นผู้กระตุ้นและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนด้วย ขณะเดียวกันก็มีงานที่เกี่ยวข้องกับมาตรการที่สอดคล้องกับสังคมญี่ปุ่นที่มีเด็กเกิดใหม่ลดลง 

งานหินนี้มีบางส่วนคล้ายกับงานของเทรซีย์ คราวช์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความหงอยคนแรกของโลกที่รัฐบาลอังกฤษตั้งขึ้นมาเพียง 1 ปีก็ยุบไป 

เวลานั้น เทรซีย์ คราวช์ถูกมองเป็นรัฐมนตรีหญิงที่มีความเหมาะสมกับตำแหน่ง เธอยืนยันว่าตัวเองรู้ดีว่าการรู้สึกหวาดกลัวกับการอยู่คนเดียวเป็นอย่างไร หลังจากคลอดลูกคนแรก “น้องเฟรดดี้” ในปี 2016 เธอก็เริ่มรู้สึกว่าถูกตัดขาดจากโลกใบนี้แม้ว่าจะมีกลุ่มเพื่อน ครอบครัว และคู่ชีวิตที่ยอดเยี่ยม แถมคราวช์ยังเคยเป็นโรคซึมเศร้าเมื่อ 6 ปีก่อนในช่วงเข้าร่วมเป็นสมาชิกรัฐสภาระยะแรก ทำให้เธอรู้สึกเหมือนว่าจมอยู่กับส่วนดาร์กที่เงียบเหงาและมืดมนมาก

เหงาแล้วเสียหาย

เวลานั้นคราวช์ได้รับแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ (Theresa May) เพื่อแก้ปัญหาเรื่องจริงที่น่าเศร้าของวิถีชีวิตสมัยใหม่ ซึ่งเมื่อย้อนไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว รายงานของคณะกรรมาธิการด้านความเหงาของอังกฤษพบว่าผู้คนมากกว่า 9 ล้านคนในสหราชอาณาจักร หรือประมาณ 14% ของประชากรมักจะรู้สึกเหงา นั่นทำให้บริษัทหรือองค์กรที่จ้างงานในสหราชอาณาจักรมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงถึง 3,500 ล้านดอลลาร์ต่อปี

คราวช์เคยให้สัมภาษณ์ว่านับตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้ง เธอได้พบปะกับฝ่ายนิติบัญญัติจากแคนาดาและสวีเดนซึ่งกำลังจับตามองมาตรการที่จะใช้จัดการกับความโดดเดี่ยวของคนในชาติ เพราะในประเทศที่พัฒนาแล้วอื่น ๆ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับภาวะสังคมสูงวัย ผู้สูงอายุที่นับเป็นส่วนใหญ่ในประเทศอาจจะมีปัญหาเหงาเช่นเดียวกับประชากรที่ยากจน ว่างงาน ผู้พิการ และผู้อพยพ ซึ่งทุกคนต้องดิ้นรนเพื่อเข้าถึงสังคม รวมถึงคนหนุ่มสาวที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน เพราะอินเทอร์เน็ตนั้นถูกมองว่าเป็นแหล่งรวมต้นเหตุความโดดเดี่ยวสำหรับคนหนุ่มสาว แม้จะสามารถเป็นทางออกสำหรับคนรุ่นเก่าที่ใช้อินเทอร์เน็ตต่อติดพบปะกับครอบครัว

คราวช์มองว่าการแก้ไขปัญหาความเหงา จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมที่จะช่วยลดปัญหานี้ คราวช์ย้ำอีกว่าภารกิจลดความเหงานั้นมีมากกว่าแค่การลดสถิติลง และดัชนีชี้วัดความเหงาบางตัวยังให้ผลลัพธ์ที่ขัดแย้งกัน หลายดัชนีไม่อาจประเมินได้ว่าความรู้สึกของความเหงาสามารถพัฒนาไปในตัวบุคคลได้อย่างไรเมื่อเวลาผ่านไป 

สิ่งที่คราวช์มองในเวลานั้นคือการออกแบบกองทุนมูลค่าหลายสิบล้านทำโครงการนวัตกรรมต่อต้านความเหงา ซึ่งรวบรวมทีมงานจากหน่วยงานต่างๆของรัฐบาล เชื่อมโยงชุมชนเข้าด้วยกัน โดยเน้นว่าวิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับความเหงา จะต้องไม่ผูกอยู่กับเจ้าภาพหลักอย่างรัฐบาลกลางฝ่ายเดียว แต่จะต้องทำผ่านกิจกรรมชุมชนทั้งแบบไม่เป็นทางการหรือเป็นทางการ

หนึ่งในโครงการน่าสนใจที่อาจเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความเหงา คือโครงการแบ่งปันบ้านที่หน่วยงานอังกฤษเคยสนับสนุนให้มีการจับคู่ผู้สูงวัยผู้รับบำนาญที่ต้องทนพิษความเหงา กับคนหนุ่มสาวที่ต้องการที่พักอาศัย ขณะเดียวกันก็มีการเปิดชุมชนมากกว่า 400 แห่งเพื่อเชื่อมโยงชายที่เกษียณอายุ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่นงานไม้และงานซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นครั้งแรกในญี่ปุ่น

สิ่งที่ต้องรอดูคือรัฐบาลญี่ปุ่นจะถอดใจกับการตั้งกระทรวงความเหงาเหมือนอังกฤษหรือไม่ เพราะวันนี้คราวช์ไม่ได้มีตำแหน่งเป็นสมาชิกรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร ภายใต้พรรคอนุรักษ์นิยมเท่านั้น โดยตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกีฬาภาคประชาสังคมและความเหงา นั้นสิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่ปี 2018 รวมถึงมาตรการของรัฐบาลญี่ปุ่นจะไอเดียกระฉูดขนาดไหน ซึ่งหากทำได้ “เท็ตสึชิ ซากาโมโตะ” จะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงความเหงาที่สามารถสร้างต้นแบบให้ประเทศอื่นได้เดินตามและสางปมความเศร้าในยุคโมเดิร์นไลฟ์ต่อไป.

ที่มา :