‘ญี่ปุ่น’ ฉีดวัคซีน COVID-19 ช้า เหตุ ‘เข็มฉีดยา’ มีไม่พอ

ญี่ปุ่นฉีดวัคซีน
(Photo by Behrouz Mehri - Pool/Getty Images)
‘ญี่ปุ่น’ ถือเป็นประเทศที่ได้รับสิทธิ์ในการฉีดวัคซีน COVID-19 อย่างน้อย ‘564 ล้านโดส’ ซึ่งเป็นปริมาณที่มากที่สุดใน ‘เอเชีย’ แต่การฉีดวัคซีนดันล่าช้ากว่าเป้าหมายไปมากเนื่องจาก ‘เข็มฉีดยา’ มีไม่พอ

ประเทศญี่ปุ่นมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่ได้รับการยืนยันแล้วประมาณ 438,000 ราย มีผู้เสียชีวิต 8,251 ราย โดยญี่ปุ่นได้เริ่มแจกจ่ายวัคซีนไปช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มจากการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีประมาณ 4.8 ล้านคน ก่อนที่จะขยายไปสู่ประชากรสูงอายุ 36 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 สัปดาห์ที่เริ่มฉีดวัคซีนนั้น ปัจจุบันมีบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนเพียงแค่ 46,500 โดส ขณะที่ประชากรญี่ปุ่นมี 126 ล้านคน ดังนั้น หากจะฉีดให้ครบด้วยอัตราเฉลี่ยดังกล่าวจะต้องใช้เวลาถึง 126 ปี ขณะที่ ‘เกาหลีใต้’ ที่เริ่มฉีดวัคซีนหลังประเทศญี่ปุ่นถึง 1 สัปดาห์ แต่กลับมีปริมาณการฉีดวัคซีนมากกว่าญี่ปุ่นถึง 7 เท่า

ปัญหาความล้าช้าดังกล่าวมีจาก 2 ปัจจัย โดยปัจจัยแรกมาจากอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะ ‘เข็มฉีดยา’ และอีกปัจจัยมาจากกฎหมายในประเทศ ที่การใช้ยาใหม่ทุกชนิดจะต้องผ่านการทดสอบทางคลินิกก่อน โดยปัจจุบันวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในญี่ปุ่นมีเพียงแค่วัคซีนของไฟเซอร์เท่านั้น ส่วนวัคซีนของแอสตราเซเนกา และโมเดอร์นา ยังอยู่ในขั้นตอนทดลองทางคลินิก และรอการอนุมัติจากทางการ

นายทาโร โคโนะ รัฐมนตรีผู้ดูแลเรื่องโครงการฉีดวัคซีน กล่าวว่า การเริ่มฉีดวัคซีนสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีจะเริ่มในเดือนหน้า แต่ปัญหาคืออุปกรณ์จะมีจำนวนจำกัดอย่างมาก อย่างไรก็ตาม คาดว่าภายใน 1-2 เดือนนี้ จะสามารถกระจายวัคซีนได้เร็วขึ้นหากได้รับอุปกรณ์มาเพิ่มเติมอย่างเพียงพอ

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นกำลังดำเนินการเจรจากับไฟเซอร์อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าการนำเข้าของเดือนเมษายนจะเพิ่มขึ้น 4 เท่าจากเดือนมีนาคม ขณะที่การขนส่งแต่ละครั้งจะต้องได้รับการอนุมัติจากสหภาพยุโรป ซึ่งกลไกดังกล่าวถูกนำมาใช้ในช่วงปลายเดือนมกราคม เพื่อติดตามการส่งออกวัคซีนหลังจากไฟเซอร์ไม่สามารถผลิตวัคซีนได้ตามกำหนด

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นคาดว่าจะได้รับวัคซีนจำนวน 564 ล้านโดส จากไฟเซอร์, โมเดอร์นา และแอสตราเซเนกา ซึ่งเป็นปริมาณที่มากที่สุดในเอเชีย และคาดว่าจะเพียงพอต่อประชากร 157 ล้านคน ขณะที่นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะได้ให้คำมั่นว่าจะมีเพียงพอสำหรับประชากรทั้งหมดภายในเดือนมิถุนายนก่อนที่จะเริ่มการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียวในวันที่ 23 กรกฎาคม

reuters / japantoday