กล้องเปลี่ยนเลนส์ เกมเปลี่ยน กล้องเปลี่ยน

การมาของกล้องดิจิตอลลูกผสมระหว่างกล้องมืออาชีพ DSLR และกล้องคอมแพคอย่างที่เรียกกันว่า “กล้อง (ไร้กระจก) เปลี่ยนเลนส์” หรือ “กล้องคอมแพคเปลี่ยนเลนส์ได้” คือการมาได้ถูกจังหวะเวลา ที่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เบื่อคอมแพค ส่วน DSLR ก็ใช้งานยาก ขนาดใหญ่ และแพงเกินไป ส่งผลให้ตลาดกล้องได้จัดระเบียบเซ็กเมนต์ลูกค้ากันใหม่ และที่สำคัญทำให้แบรนด์กล้องที่ไม่เคยขยับจากตลาดที่สูงกว่าคอมแพคมาก่อนอย่างโซนี่ พานาโซนิค มีที่ยืนในตลาดสูงขึ้น ซึ่งมากลยุทธ์การแข่งขันเต็มรูปแบบ จนแบรนด์เจ้าตลาด DSLR อย่างแคนนอนและนิคอนไม่อาจอยู่นิ่ง เตรียมปล่อยรุ่นใหม่มาชนในกลุ่มนี้ …สมรภูมิใหม่ของตลาดกล้องดิจิตอลกำลังเริ่มต้นขึ้นแล้ว

โอกาสของกล้องไร้กระจกเปลี่ยนเลนส์ หรือ Mirrorless Interchangeable Lens Camera (ซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่ม DSLR (Digital Single-Lens Reflex) เนื่องจากการทำงานรับภาพของตัวกล้องคล้ายกัน แต่ตัวเล็กกว่าเพราะดึงกระจกสะท้อนภาพออก) มาจากพฤติกรรมผู้บริโภค ที่คุ้นเคยกับการใช้กล้องดิจิตอลคอมแพคมาแล้วหลายปี จนกล้องคอมแพคกลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคทุกกลุ่ม เรียกได้ว่าเป็นสินค้าที่เข้าถึง Mass ไปแล้ว เพราะมีระดับราคาตั้งแต่ 2 พันบาทขึ้นไปจนถึงหมื่นกว่า

สภาพตลาดของคอมแพคจึงเดินทางมาถึง Product life cycle ในช่วงใกล้ถึงจุดอิ่มตัว หลังผ่านการไมเนอร์เชนจ์ตัวผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ผ่านการโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขายมาเกือบทุกรูปแบบ จนราคาคอมแพคตกลงเรื่อยๆ ซึ่งจากข้อมูลบริษัทวิจัย GFK ล่าสุดที่ออกมาบอกว่าผู้บริโภคกว่า 50% นิยมซื้อกล้องคอมแพคในราคาไม่เกิน 5,000 บาทเท่านั้น ส่วนยอดขายโตเพียง 10% จำนวนรวม 1.2 ล้านตัว และมูลค่าตลาดกลับลดลงเหลือ 6% ในที่สุดแล้วผู้ผลิตจึงต้องพยายามขับเคลื่อนตลาดด้วยโปรดักต์ใหม่

ขณะเดียวกันเป็นจังหวะที่พฤติกรรมลูกค้าก็อยากยกระดับขึ้นมาให้ใช้กล้องที่ดีขึ้น และทำอะไรได้มากกว่ากล้องคอมแพค เพราะอยากถ่ายรูปได้คุณภาพดีกว่าด้วยกล้องที่มีลูกเล่นมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากกระแสโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค ถ่ายรูปแล้วโพสต์ และรอคอมเมนต์ ทางเลือกหนึ่งหลายคนยอมลงทุนขั้นต่ำ 3-4 หมื่นบาทไปที่ DSLR ตามมืออาชีพ และกึ่งมืออาชีพ เปลี่ยนสถานะจากกล้องป็อกแป๊ก มาเปลี่ยนเลนส์ มีลูกเล่นครบเซต จนปี 2010 GFK คาดว่าตลาด DSLR จะเติบโตถึง 28% มียอดขายรวมถึง 73,000 ตัว โดยมีผู้เล่นในตลาด DSLR รายใหญ่คือแคนนอนและนิคอน ซึ่งแคนนอนยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาดมืออาชีพได้เป็นอันดับ 1 ที่ 50% โดยมีนิคอนตามมาเป็นอันดับ 2 ที่ 20%

ขณะที่แบรนด์อื่นๆ พยายามเข้ามาในตลาด DSLR แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความแข็งแรงในความเป็นแบรนด์ในใจของมืออาชีพของแคนนอนและนิคอน แม้แต่โซนี่ที่มีภาพลักษณ์แบรนด์เป็นสินค้าสำหรับไลฟ์สไตล์มากกว่า และเป็นที่ 1 ในตลาดคอมแพค แต่สำหรับ DSLR ยังคงแพ้ เมื่อมีกล้อง Mirrorless ที่ดึงจุดเด่นของ DSLR และคอมแพคมาใช้ โดยมีพานาโซนิคและโอลิมปัสนำร่องทำตลาดเป็น 2 รายแรก และผู้บริโภคเริ่มให้ความสนใจทำยอดขายได้ จากปี 2009 Mirrorless ยังไม่มีตัวตนในตลาด แต่ในปี 2010 คาดว่าจะทำยอดขายได้ 6,000 ตัว ทำให้โซนี่ไม่ลังเลที่จะลุยเต็มที่กับ Mirroless รุ่นแรก แล้วก็ได้ผลหลังจากเปิดตัวรุ่น NEX-3 และ 5 ทำให้โซนี่ขยับเข้ามาชิงตลาด DSLR ได้มากขึ้น ด้วยยอดจำหน่าย 3,000 ตัวภายใน 1 เดือน ดันส่วนแบ่งตลาด DSLR จาก 6% เป็น 17%

นอกจากนี้ยังมีค่ายเกาหลี ”ซัมซุง” ที่ประกาศในต่างประเทศแล้วว่าพร้อมลงมาในสนามนี้เต็มที่อีกราย เช่นเดียวกับพานาโซนิค ที่ส่งรุ่น Lumix GF1 จนสร้างตัวตนได้ แม้จะได้ส่วนแบ่งไม่มากนัก แต่ถือว่าได้แฟนไปแล้วกลุ่มหนึ่ง จากเดิมแทบจะไม่มีเลย ปรากฏการณ์ของแบรนด์รอง ทำให้นิคอนและแคนนอนไม่อาจนิ่งเฉย หลังจากส่งคอมแพคไฮเอนด์เข้ามาสกัด แต่ดูเหมือนจะต้านไม่อยู่ และอีกไม่นานจะเห็น Mirrorless จาก 2 ค่ายนี้อย่างแน่นอน

Mirrorless คือกรณีที่สรุปได้ชัดว่า สินค้าที่ใช่ มาในจังหวะที่ตรงกับความต้องการของตลาด จึงเป็นโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับผู้เล่นที่มีกลยุทธ์ในตลาดนี้เสมอ

4 แบรนด์ในสนาม Mirrorless

แบรนด์ ส่วนแบ่งตลาด รุ่นเด่น Positioning ราคา (บาท) กลยุทธ์การตลาด
พานาโซนิค 4% Lumix DMC GF 1 ผู้ที่อยากใช้กล้องดีกว่าคอมแพค 29,900 พรีเซ็นเตอร์ เคน ธีรเดช
โซเชี่ยลมีเดีย Facebook
ประกวด อบรมถ่ายภาพ
โซนี่ 17% NEX-5, NEX-3 กลุ่มกึ่งโปรและขยับจากคอมแพค 24,990/20,990 พรีเซ็นเตอร์ คริส หอวัง
โซเชี่ยลมีเดีย Facebook
อบรมทริปถ่ายภาพ
ซัมซุง* NX100 กลุ่มขยัยจากคอมแพค
โอลิมปัส 6% Olympus E-P1 กลุ่มขยับจากคอมแพค 26,900 อมรมถ่ายภาพ
    *เปิดตัวที่ฮ่องกงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา

  • หลักการใช้พรีเซ็นเตอร์ เน้นบุคลิกภาพสะท้อนภาพลักษณ์แบรนด์และคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ โดยเป็นพรีเซ็นเตอร์ทั้งผู้หญิงและผู้ชายชอบ
  • พรีเซ็นเตอร์ผู้หญิงทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่ากล้องรุ่นนี้ใช้งานง่าย ตัดสินใจง่ายขึ้นหาจะซื้อ
  • โซเชี่ยลมีเดีย ช่วยในการสื่อสารให้กลุ่มเป้าหมายตัดสนใจง่ายขึ้น เนื่องจากปัจจุบันคนรุ่นใหม่จะค้นหาข้อมูล และดูคอมเมนต์ ข้อแนะนำ จากเพื่อน และคนในเครือข่ายสังคมเดียวกัน มากกว่าเชื่อโฆษณา

SWOT : Mirrorless Interchangeable Lens Camera

    Strengths

  • พกพาสะดวก เพราะขนาดพอๆ กับคอมแพค เล็กกว่า DSLR เพราะไม่มีกระจกสะท้อนภาพ
  • ด้านเทคนิคมคุณภาพของภาพได้เกือบ DSLR เพราะมีขนาดเซ็นเซอร์ภาพใหญ่ (3/4 นิ้ว) จุดรบกวนต่ำ ชัดตื้นและความไวแสงสูง ทำให้ภาพชัดกว่าคอมแพค
  • เปลี่ยนเลนส์ได้เหมือน DSLR
    Weaknesses

  • ราคาสูง เมื่อต้องซื้อเลนส์ครบเซต
    Opportunities

  • พฤติกรรมลูกค้าพัฒนาหลังจากเล่นคอมแพคมานาน จึงอยากได้กล้องที่มีลูกเล่นมากกว่าคอมแพค
  • กล้อง DSLR ขนาดใหญ่ ยากและซับซ้อนเกินไปสำหรับมือสมัครเล่น
  • กระแสโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค โพสต์รูป อวดรูปมาแรง ผู้บริโภคจึงอยากมีรูปที่มีมุมและสวยยิ่งขึ้น
  • สะท้อนให้เห็นชัดจากตลาดกล้องคอมแพคอิ่มตัว มูลค่าตลาดโตแค่ 6% จากที่เคยโตกว่า 20%
    Threats

  • แนวโน้มราคา DSLR เริ่มลดลง
  • การพัฒนาเทคโนโลยีกล้องคอมแพครุ่นท็อปสูงขึ้น เช่น กรณีของ แคนนอน พาวเวอร์ช็อต G10
    ชื่อเรียก
    ชื่อนิยมเรียกที่สุด คือ Mirrorless Interchangeable Lens Camera
    ชื่ออื่น ๆ

  • New Generation System Cameras
  • EVIL (Electronic Viewfinder with Interchangeable Lens)
  • ILC (Interchangeable Lens Compact)
  • Hybrid cameras
  • SLD (Single Lens digital)
  • Micro Four Thirds เป็นชื่อที่เรียกมาจากขนาดเซ็นเซอร์ภาพ 4/3 นิ้วเหมือน DSLR ที่เป็น Four Thirds System แต่ต่างจากDSLR ที่ไม่มีกระจกสะท้อนภาพ ทำให้ตัวกล้องเล็กลง
จำนวนกล้องดิจิตอลในตลาดเมืองไทย (หน่วย : จำนวนตัว )
ปี คอมแพค DSLR Mirrorless
ปี 2009 10.86 ล้าน 57,000
ปี 2010 12.30 ล้าน 73,000 6,000
ปี 2011 12.70 ล้าน 80,000 12,000
ปี 2012 13 ล้าน 95,000 20,000
ที่มา : GFK

3 เซ็กเมนต์กล้องดิจิตอล

กลุ่มกล้องคอมแพค
Positioning กล้องขนาดเล็กเหมาะสำหรับพกพา และการใช้งานง่าย
Target ลูกค้าที่ซื้อกล้อง เพื่อนำรูปมาแชร์ประสบการณ์ อัพเดตเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
พฤติกรรมเลือกซื้อ ไม่ได้คำนึงเรื่องคุณภาพมากเหมือนกลุ่มมืออาชีพ แต่เน้นถ่ายภาพง่าย สะดวกพกพาและดีไซน์ที่ช่วยเสริมภาพลักษณ์
ประเภทผลิตภัณฑ์
กล้อง Ultra-Compact กะทัดรัด น้ำหนักเบา บาง ระบบเกี่ยวกับการถ่ายภาพค่อนข้างจำกัด การใช้งานไม่สะดวกเท่าไหรเนื่องจากปุ่มควบคุมต่างๆ จะเล็ก จับไม่ค่อยถนัด
กล้อง Compact ขนาดปานกลาง เป็นกล่องส่วนใหญ่ในตลาด มีหลายรุ่น หลายราคา ให้เลือก มีระบบการถ่ายภาพให้เลือกมากกว่าและการใช้ปุ่มต่างๆ คล่องตัวกว่า Ultra-Compact สำหรับใช้งาน และถ่ายภาพท่องเที่ยวทั่วไป
กล้อง SLR-Like เป็นกล้องขนาดค่อนข้างใหญ่ รูปร่างหน้าตาคล้าย DSLR ตามชื่อ มีฟังก์ชันใกล้เคียง DSLR มีช่วงซูมเลนส์มากกว่าแบบ Compact แต่ถอดเปลี่ยนเลนส์ไม่ได้ กล้องสำหรับผู้ที่สนใจการถ่ายภาพที่มีเทคนิคมากขึ้น แบบกึ่งมืออาชีพ แต่ยังไม่อยากลงทุนสูง
กลุ่มกล้อง DSLR
กล้อง DSLR
Positioning กล้องคุณภาพสูง ขนาดค่อนข้างใหญ่และหนัก ราคาสูง มีฟังก์ชันในการบันทึกภาพครบครัน มีอุปกรณ์เสริมมากกว่า สามารถถอดเปลี่ยนเลนส์ได้
Target มืออาชีพ และกึ่งมืออาชีพ
พฤติกรรมเลือกซื้อ ต้องการคุณภาพมากที่สุด ถ่ายภาพชัด มีฟีเจอร์มากมาย โดยมีเหตุผลการตัดสินซื้อคือ 1.Brand น่าเชื่อถือ รองลงมาเป็นรูปลักษณ์ของกล้องที่ทันสมัย และอันดับ 3 เรื่องราคา
กล้อง Mirrorless Interrchangeable Lens
Positioning กล้องคอมแพคที่เปลี่ยนเลนส์ได้ โดยมีคุณภาพใกล้เคียงกับ DSLR และบางแบรนด์อย่างโซนี่ยังสามารถนำเลนส์แบรนด์อื่นมาใช้ได้ด้วย
Target กล้องตัวที่สองของมืออาชีพเพื่อพกพาสะดวกยิ่งขึ้น และกลุ่มที่ขยับสูงขึ้นมาจากกล้องคอมแพค เหมาะกับคนที่มีทุนสูงกว่า SLR-Like รวมไปถึงกลุ่มผู้หญิงที่นอกได้กล้องคุณภาพมากกว่าคอมแพค
พฤติกรรมเลือกซื้อ แบรนด์ ราคา และรูปลักษณ์ ที่มีจุดเด่นการใช้วัสดุดีกว่าคอมแพค และเน้นดูแตกต่างด้วยสีดำ เหมือนกล้องมืออาชีพใช้ ส่วนบางแบรนด์อย่างโอลิมปัสเน้นแนวเรโทร เพราะอิงกับกล้องรุ่นเดิม (Pen) ที่เคยได้รับความนิยมในอดีต