‘ธุรกิจประกัน’ เปิดศึกสู้กันดุเดือดเเบบ ‘ไม่มีพัก’ รับโลกยุคใหม่เเละพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค
ความเคลื่อนไหวของ ‘เครือไทย โฮลดิ้งส์’ กลุ่มธุรกิจประกันภัยและการเงินในเครือทีทีซี ของ ‘เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี’ กำลังถูกจับตามองอย่างมาก หลังดึง ‘ฐากร ปิยะพันธ์’ ผู้บริหารมือทองด้านดิจิทัลแบงกิ้ง นวัตกรรมเเละ AI จากค่าย ‘กรุงศรี คอนซูมเมอร์’ มานั่งคุมทัพใหญ่
เมื่อย้ายสู่บ้านหลังใหม่ได้สักพัก ‘ฐากร ปิยะพันธ์’ ได้ฤกษ์เปิดแผนธุรกิจในระยะ 3-5 ปี กับกลยุทธ์สู่เป้าหมายการเป็น ‘ตัวท็อป’ ธุรกิจประกันและการเงินของประเทศไทย พร้อมขยายไปยังอาเซียน
มาดูกันว่าการใช้ ‘Data’ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามความถนัดของฐากร จะนำพา ‘เครือไทย โฮลดิ้งส์’ ไปบนเส้นทางสายใหม่นี้อย่างไร
ปัจจุบัน ‘เครือไทย โฮลดิ้งส์’ หรือ TGH ทำธุรกิจหลักๆ 3 กลุ่ม ได้เเก่ กลุ่มธุรกิจประกัน กลุ่มธุรกิจการเงิน และกลุ่มธุรกิจ Health & Wellness
ธุรกิจสุขภาพด้าน Health & Wellness เป็นพาร์ตใหม่ที่เปิดมารองรับสังคมสูงวัยโดยเฉพาะทั้งการวางเเผนการเงินในวัยเกษียณทำประกันที่คุ้มครองจนสิ้นอายุขัย เเละให้บริการที่พักอาศัย ซึ่งจะมีความคืบหน้าในเร็ว ๆ นี้
หากเจาะลึกลงไปในธุรกิจประกัน จะมีบริษัทลูกในเครืออย่าง อาคเนย์ประกันชีวิต อาคเนย์ประกันภัย และ บมจ.ไทยประกันภัย ที่มีสินทรัพย์รวมกันประมาณ 75,000 ล้านบาท
ส่วนเบี้ยฯ รับรวมทั้งตลาดประกันชีวิตของปี 2563 อยู่ที่ราว 6 เเสนล้านบาท ลดลง 1.75% เเละเบี้ยฯ รับรวมทั้งตลาดประกันภัย อยู่ที่ราว 2.5 เเสนล้านบาท เติบโต 3.9%
ขณะที่ธุรกิจการเงิน จะมีบริษัทลูกอย่าง ‘อาคเนย์แคปปิตอล’ ผู้ให้บริการรถเช่าองค์กร ที่มีสินทรัพย์รวม 15,000 ล้านบาท เป็นที่ 1 ในตลาด เเละ ‘อาคเนย์มันนี่’ ที่กำลังจะเริ่มปล่อยสินเชื่อในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้
การเเพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบไปทุกอุตสาหกรรม ทำให้เครือไทย โฮลดิ้งส์ มีรายได้รวมลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยในปี 2020 มีรายได้รวม 23,300 ล้านบาท ลดลง 4% เเต่ขณะเดียวกันก็สามารถทำกำไร 168% เป็น 739 ล้านบาท จากการบริหารต้นทุน ปรับพอร์ตโฟลิโอ และการบริหารจัดการต่าง ๆ
ทิศทางต่อไปจากนี้ จึงไม่ใช่ ‘งานง่ายๆ’ อย่างเเน่นอน
ปั้น ‘อาคเนย์มันนี่’ รุกสินเชื่อรายย่อย
เเต่เดิม ‘เครือไทย โฮลดิ้งส์’ พึ่งพารายได้ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจประกันภัยเเละประกันชีวิต เเต่ทิศทางหลัง COVID-19 จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะจะหันมารุกสินเชื่อ ’ธุรกิจรายย่อย’ มากขึ้น
จากข้อมูลพบว่า ในปีที่ผ่านมา ธุรกิจการเงินของเครือไทย โฮลดิ้งส์ มีการเติบโตเพิ่มขึ้น 11% สวนทางธุรกิจประกันชีวิตที่เติบโตลดลง 11% เเละธุรกิจประกันภัยที่เติบโตลดลง 3%
ฐากร บอกว่า ‘ตลาดสินเชื่อ’ ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากเเม้จะต้องเผชิญกับคู่เเข่งทั้งสายเเบงก์เเละนอนเเบงก์เเละเข้าตลาดนี้ช้ากว่าก็ตาม
‘อาคเนย์มันนี่’ เพิ่งเปิดตัวเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เขาบอกว่าคือ ‘งานหิน’ ที่ต้องทำให้ได้ โดยจะใช้กลยุทธ์จับมือกับ ‘พาร์ตเนอร์’ ที่มีวิสัยทัศน์ตรงกัน เน้นเป็นบริษัทขนาดกลางที่มีเครือข่ายเข้าถึงลูกค้าอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งมีการเจรจาพูดคุยไว้เบื้องต้นเเล้ว
“ความท้าทายตอนนี้ เหมือนการปีนขึ้นยอดเขาเอเวอเรสต์ แต่เราก็มองว่าจะสามารถเข้าไปซื้อกิจการหรือหาพันธมิตรร่วมทุนได้”
อีกมุมหนึ่ง การมาของอาคเนย์มันนี่ ก็เป็นการเสริมความเเกร่งของธุรกิจรถเช่าอย่าง ‘อาคเนย์ แคปิตอล’ ที่ตอนนี้มีจำนวนรถกว่า 22,100 คัน เเบ่งเป็นลูกค้าภาครัฐ 50% ลูกค้านอกกลุ่มทีซีซี 30% เเละลูกค้ากลุ่มทีซีซี 20% ซึ่งปกติจะมีการประกาศขายรถมือสองอยู่แล้ว
‘อาคเนย์มันนี่’ มีเเผนตั้งเป้าสินเชื่อปล่อยใหม่ภายในปี 2564 ให้ได้ 2,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มต้นจากบริษัทในเครือ ผ่านสินเชื่อเพื่อคู่ค้าก่อน จากนั้นในไตรมาส 3 จะปล่อยสินเชื่อรถยนต์ รถเช่ามือสอง สินเชื่อมอเตอร์ไซค์ และในไตรมาส 4 จะเป็นสินเชื่อจำนำทะเบียน และสินเชื่อส่วนบุคคล
ติดอาวุธเทคฯ พลิกโฉม ‘ประกัน’ ยุคใหม่
เเม้จะบุกหนักไปที่ธุรกิจการเงิน เเต่ผู้บริหาร ‘เครือไทย โฮลดิ้งส์’ ยืนยันที่จะให้ความสำคัญกับธุรกิจประกันยิ่งกว่าเดิม ด้วยเเพชชั่นที่ต้องการทำให้ประกันไปอยู่ในชีวิตของทุกคน
โดยจะมีการปรับพอร์ตธุรกิจประกันขึ้นมาใหม่ นำข้อมูลจำนวนมากที่ธุรกิจประกันมีเป็นจุดเเข็ง มาผสมกับเทคโนโลยีให้ใช้งานง่าย ใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงกลุ่มลูกค้า
สำหรับ ‘อาคเนย์ประกันชีวิต’ มีเบี้ยประกันภัยรับรวมปี 2563 อยู่ที่ 8,345 ล้านบาท ครองอันดับ 9 ของตลาด จะมุ่งกลยุทธ์ไปที่การขยายฐาน ‘ตัวแทนใหม่’ ในต่างจังหวัด พร้อมๆ กับการรักษาพันธมิตรธนาคาร ที่เรียกว่า ‘แบงก์แอสชัวรันซ์’ เเละมองหาพันธมิตรใหม่ช่องทางอื่นไปด้วย โดยคาดว่าสัดส่วนช่องทางขายระหว่างแบงก์และตัวแทนต่อจากนี้ จะอยู่ที่ 60% และ 40% ตามลำดับ
ทั้งนี้ พอร์ตส่วนใหญ่ของบริษัทกว่า 70% มาจากแบงก์แอสชัวรันซ์ ผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
ฐากร ยังตั้งเป้ารายได้ที่จาก ‘ประกันกลุ่ม’ เเละจะออกแบบประกันชีวิตควบการลงทุนอย่าง Unit Linked ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวได้ภายในปีนี้
ตามมาด้วย ‘อาคเนย์ประกันภัย’ ที่ปี 2563 มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง 10,556 ล้านบาท ครองส่วนแบ่งทางการตลาดที่ร้
ส่วนใหญ่เป็นประกันรถยนต์ 66% ทรัพย์สินเเละเบ็ดเตล็ด 24% อุบัติเหตุเเละสุขภาพ 10% โดยปีนี้ บริษัทมีเเผนจะออกผลิตภัณฑ์ที่เเตกต่างจากตลาด เเละรองรับเทรนด์การใช้ชีวิตยุคใหม่อย่าง ประกันรถยนต์ไฟฟ้า EV ฯลฯ
ส่วน ‘ไทยประกันภัย’ ที่ปี 2563 มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงราว 1,321 ล้านบาท จะปรับรูปแบบการทำงานเเละโครงสร้างธุรกิจ เน้นการขายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งตอนนี้มีสัดส่วนอยู่ที่ 25%
โดยจะมีการทุ่มงบ 1,500 ล้านเพื่อพัฒนาระบบดิจิทัล เพิ่มยอดขายทางดิจิทัลของบริษัทในเครือทั้งหมด หลังจากปีที่ผ่านมา มียอดขายเเล้วกว่า 1,200 ล้านบาท เติบโตถึง 70% ส่วนใหญ่มาจากลูกค้าคนรุ่นใหม่
นอกจากนี้จะมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการปรับโครงสร้างการทำงานภายในองค์กรช่วยให้พนักงานทำงานสะดวกเเละลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีเเละรวดเร็ว
ฐากร บอกว่า จะจัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่เพื่อทำ Data Analytics เเละเพิ่มแผนก Business Transformation พร้อมตั้งบริษัท Sofin เพื่อทำ Digital Solution โดยเฉพาะ
‘เครือไทย โฮลดิ้งส์’ ตั้งเป้าหมาย 3 ปี รายได้จะอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 14% กำไรเติบโตเฉลี่ย 20%
โดยในช่วง 2 ปีเเรกจะลุยตลาดในประเทศให้ประสบความสำเร็จก่อน จากนั้นในปีที่ 3 จึงจะขยับไปยังประเทศในอาเซียน เริ่มจากเวียดนาม ที่กลุ่มทีซีซีวางตลาดไว้อยู่เเล้ว ต่อไปจะขยายไปยังสปป.ลาว และกัมพูชา โดยจะรุกให้บริการทางการเงิน สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล ต่อยอดไปเป็นประกันภัยและประกันชีวิต
นี่คือทิศทางต่อไปของ ‘เครือไทย โฮลดิ้งส์’ ภายใต้การนำทัพของ ‘ฐากร ปิยะพันธ์’ ที่หวังจะมาเขย่าวงการประกันยุคใหม่ด้วย ‘Data’ …น่าจับตามองไม่น้อย