สมาคมโรงแรมไทย (THA) เปิดข้อเสนอภาครัฐเปิดรับนักท่องเที่ยวที่รับวัคซีนครบโดสแล้วเข้าไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว เริ่มแซนด์บ็อกซ์แรกที่ จ.ภูเก็ต วันที่ 1 ก.ค. นี้ บิ๊กเนมธุรกิจโรงแรมชี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวหายใจรวยริน วอนมองจากมุมเศรษฐกิจและการจ้างงานควบคู่กับสุขภาพ แนะเพิ่มยี่ห้อวัคซีนที่นำเข้า-เปิดให้เอกชนนำเข้าเองได้ ติดสปีดการฉีดวัคซีนให้คนไทยทั้งประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานจากการเสวนา “Thai Hotel Leaders Roundtable” ก่อนเริ่มงาน Thailand Tourism Forum 2021 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 10 โดยมีซีอีโอระดับนำของธุรกิจโรงแรมและหน่วยงานรัฐร่วมเสวนา
ภายในงานเสวนาครั้งนี้ “มาริสา สุโกศล หนุนภักดี” นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) เปิดเผยว่า ทางสมาคมฯ ได้หารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และจัดทำข้อเสนอการเปิดประเทศกับภาครัฐ ซึ่งจะส่งต่อให้กับคณะรัฐมนตรีนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาต่อไป
ข้อเสนอดังกล่าวมีทั้งหมด 4 ข้อ เพื่อสนับสนุนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ คือ
1) ขอให้มีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว เข้ามาในไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว แต่ยังต้องปฏิบัติตามกฎสวมหน้ากากอนามัยในประเทศ เริ่มวันที่ 1 กรกฎาคมนี้
2) ขอให้ภาครัฐชี้แจงแผนการดำเนินงานเกี่ยวกับ COVID-19 อย่างชัดเจนเพื่อให้ภาคเอกชนมีระยะเวลาเตรียมตัว
3) แผนการเปิดประเทศดังกล่าว ขอให้เปิดในลักษณะแซนด์บ็อกซ์ที่ จ.ภูเก็ต ก่อนเป็นแห่งแรก
4) การเปิดแซนด์บ็อกซ์ที่ จ.ภูเก็ต ให้พนักงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของ จ.ภูเก็ต มีสิทธิรับวัคซีนป้องกัน COVID-19 ก่อน เพื่อความปลอดภัยต่อสุขอนามัย
มาริสาแจกแจงว่า จากการหารือพูดคุยกับทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทำให้มองว่าไทม์ไลน์ที่เป็นไปได้ของการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้ว น่าจะเป็นช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 เนื่องจากท่าทีของ สธ. ต้องการให้คนไทยในพื้นที่รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 70% ของประชากร จึงเห็นควรงดกักตัวในพื้นที่นั้นได้
ดังนั้น หากจะเปิดพื้นที่ จ.ภูเก็ต เป็นแซนด์บ็อกซ์ ประชากรบนเกาะภูเก็ตต้องได้รับวัคซีนแล้วเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้วัคซีนราว 930,000 โดส จึงจะฉีดให้ประชากรภูเก็ตได้ครบ นั่นหมายความว่าจะต้องรอวัคซีนแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ที่จะเริ่มฉีด ‘บิ๊กล็อต’ ประมาณ 6 ล้านโดสในเดือนมิถุนายน 2564 แผนงานนี้จึงจะสามารถดำเนินต่อไปได้
ทั้งนี้ แผนงานปัจจุบันของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค. ประกาศแผนจะเปิดประเทศได้เป็นบางส่วนในเดือนตุลาคม 2564 โดยเลือกจากพื้นที่ที่บุคลากรการแพทย์และประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว และคัดเลือกประเทศต้นทางของนักท่องเที่ยวร่วมด้วย แต่วงเสวนากลุ่มซีอีโอโรงแรมมองว่าการรอจนถึงเดือนตุลาคมนั้นยาวนานเกินไป
ชั่งน้ำหนักความเสี่ยงสุขภาพ vs เศรษฐกิจ
ข้อเสนอดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นข้อเสนอที่ THA มองตามความเป็นไปได้แบบประนีประนอมกับหน่วยงานสาธารณสุขซึ่งจะยึดถือความปลอดภัยของสุขอนามัยเป็นหลัก ในขณะเดียวกัน “สเตฟาน ฟานเดน อาวาเล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) แสดงความเห็นคัดค้านข้อจำกัดที่มีมากเกินไปของข้อเสนอนี้ซึ่งอาจปฏิบัติไม่ได้จริง
อาวาเลมองว่า การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วควรจะเปิดทั่วประเทศในคราวเดียว เพราะความเป็นจริงแล้ว นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่นิยมมาเที่ยว จ.ภูเก็ต แห่งเดียว แต่จะแวะกรุงเทพฯ ด้วย หรือเที่ยวสถานที่อื่นด้วย การจำกัดพื้นที่จึงไม่ตรงกับธรรมชาติของการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ อาวาเลยังมองว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยไม่ควรต้องรออีก 3 เดือนกว่าเพื่อเปิดประเทศแต่ควรจะเปิดได้ทันที ก่อนที่จะมีธุรกิจต้องปิดตัวมากกว่านี้ และขอให้รัฐชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงจากการแพร่เชื้อของผู้ที่รับวัคซีนแล้วซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ กับผลกระทบทางเศรษฐกิจและแรงงานภาคท่องเที่ยวที่ยังคงตกงาน 4-5 ล้านคน ณ ขณะนี้
สำหรับความกังวลของสาธารณสุขไทยนั้น เกิดจากคำถามที่ว่า “วัคซีนจะป้องกันไม่ให้บุคคลนั้นเป็นพาหะแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาด้วยหรือไม่” ปัจจุบันยังมีเฉพาะผลการศึกษาที่ยังไม่ผ่านการพิจารณา Peer review ใน “อิสราเอล” ประเทศที่มีประชากรรับวัคซีนแล้วมากที่สุดในโลก จัดทำโดย “ไฟเซอร์” พบว่าผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา เมื่อฉีดวัคซีนแล้วมีไวรัสในร่างกายลดลง 4 เท่า ซึ่งน่าจะหมายถึงโอกาสแพร่เชื้อต่อที่น้อยลงไปด้วย
หากว่าผู้รับวัคซีนแล้วยังสามารถแพร่เชื้อต่อให้กับบุคคลอื่นที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันได้ การเปิดประเทศก็จะเป็นความเสี่ยงสำหรับประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับวัคซีน ดังนั้น ในมุมมองสาธารณสุขจึงอาจจะต้องชั่งน้ำหนักเหตุผลนี้ร่วมด้วย
วัคซีน 2 เจ้าไม่พอและช้าเกินไป
กุญแจสำคัญอีกดอกหนึ่งที่ธุรกิจท่องเที่ยวจับตา คือการสั่งซื้อและระดมฉีดวัคซีนให้กับประชากรไทย โดย “เดิร์ก อังเดร ลีน่า คุยเบอร์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท อ้างอิงถึงประเทศอิสราเอลว่าหลังจากฉีดวัคซีนไปจำนวนมาก ทำให้มีผู้ติดเชื้อลดลง และชีวิตกลับมาเป็นปกติ
ประเด็นนี้ “บิลล์ ไฮเนคกี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ให้ความเห็นว่าภาครัฐควรเร่งความเร็วในการจัดหาวัคซีน และไทยควรจะเปิดให้การรับรองวัคซีนยี่ห้ออื่นเพิ่มโดยเร็ว จากปัจจุบันให้การรับรองและนำเข้าวัคซีนเพียง 2 ยี่ห้อคือ ซิโนแวค (Sinovac) และแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) โดยชี้ว่านายกรัฐมนตรีควรใช้อำนาจสั่งการตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อจัดการประเด็นนี้
วงเสวนายังเห็นตรงกันด้วยว่าประเทศไทยควรอนุญาตให้เอกชนนำเข้าวัคซีนเองได้ ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อที่รัฐให้การรับรองแล้ว หรือยี่ห้ออื่นซึ่งต้องการนำเข้า รัฐก็ควรให้การสนับสนุนเพื่อทำให้การฉีดวัคซีนกระจายได้ไวที่สุด
ปัจจุบันแผนการกระจายวัคซีนของ ศบค. วางไทม์ไลน์จนถึงเดือนธันวาคม 2564 จะมีการกระจายวัคซีนรวม 63 ล้านโดส หากฉีดให้ประชาชน 2 โดสต่อคน วัคซีนทั้งหมดจะครอบคลุมประชากรไทย 31.5 ล้านคนหรือคิดเป็นเพียง 47% ของจำนวนประชากรรวม 66.5 ล้านคนของไทย