โตดีเพราะล็อกดาวน์! ลูกค้าเลือกช่องทาง “ออนไลน์” ซื้อของกินของใช้สูงขึ้นในปี 2020

Kantar เปิดข้อมูลการซื้อสินค้า “ของกินของใช้” ประเภท FMCG ปี 2020 พบว่า ช่องทาง “ออนไลน์” กลายเป็นช่องทางเติบโตสูงในการซื้อสินค้ากลุ่มนี้ โดยการเติบโตสอดคล้องกับมาตรการ “ล็อกดาวน์” ทวีปยุโรปโตแรงที่สุด ส่วนทวีปเอเชียมีสัดส่วนการซื้อผ่านออนไลน์สูงที่สุด

บริษัทวิจัย Kantar เก็บข้อมูลจาก 26 ประเทศทั่วโลก รวมประเทศไทย วิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อสินค้าประเภท FMCG ในปี 2020 พบข้อมูลที่น่าสนใจคือ ช่องทาง “ออนไลน์” กลายมาเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคเลือกใช้มากขึ้นในการซื้อสินค้ากลุ่มนี้

โดยคาดว่าสอดคล้องกับมาตรการ “ล็อกดาวน์” ที่ทำให้ผู้บริโภคต้องการอยู่บ้านให้มากขึ้น ลดการออกไปในที่ชุมชน ทำให้ทั่วโลกมีการซื้อสินค้า FMCG ผ่านช่องทางออนไลน์คิดเป็นสัดส่วน 12% ของการซื้อทั้งหมด ถือเป็นการเติบโตที่ปกติต้องใช้เวลา 2 ปีจึงจะโตได้เท่านี้

เมื่อแบ่งออกเป็นทวีปต่างๆ พบว่าทวีป “ยุโรป” โตมากที่สุด แม้จะยังมีสัดส่วนจากออนไลน์น้อยเพียงแค่ 9% แต่ในรอบปีก่อนโตเทียบเท่ากับที่ปกติต้องใช้เวลาถึง 9 ปี

อย่างไรก็ตาม ผู้นำในตลาดนี้คือ “เอเชีย” ซึ่งมีสัดส่วนการซื้อ FMCG ผ่านออนไลน์สูงที่สุดถึง 22% ปีก่อนมีการเติบโตมากกว่าปกติเช่นกัน โดยโตเทียบเท่ากับปกติต้องใช้เวลา 1 ปีกับอีก 3 ไตรมาส

เป็นไปได้ว่าทวีปยุโรปมีการเติบโตที่สูงมาก เพราะเป็นภูมิภาคที่เผชิญการล็อกดาวน์บ่อยครั้งและนานที่สุดเมื่อปีก่อน ทำให้ต้องพึ่งพิงการซื้อออนไลน์มากขึ้นเมื่อต้องการของกินของใช้ในบ้าน

 

FMCG ขายดีเพราะ ล็อกดาวน์

ไม่เพียงแต่ช่องทางออนไลน์ที่โต ภาพรวมในปี 2020 สัดส่วน 2 ใน 3 ของสินค้า FMCG ทั่วโลกมียอดขายที่สูงขึ้น โดยกลุ่มสินค้าที่เติบโตมากที่สุดปีก่อน ได้แก่ เนื้อสัตว์บรรจุกระป๋อง, ซุปกระป๋อง, น้ำยาฟอกขาว, ผ้าอ้อมผู้ใหญ่, ซอสมะเขือเทศ, น้ำตาลและสารให้ความหวาน, อาหารแช่เย็นและแช่แข็ง กลุ่มนี้โตมากกว่า 10%

ส่วนกลุ่มสินค้าที่ยอดขายตก สอดคล้องกับกิจวัตรที่ต้องอยู่แต่ในบ้าน ทำให้สินค้าประเภทเครื่องสำอาง, น้ำหอม และผลิตภัณฑ์กันแดด ติดลบมากกว่า 10%

ทั้งนี้ มีบางประเทศที่เทรนด์ไม่เป็นไปตามสถานการณ์โลก ได้แก่ จีน ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ โคลัมเบีย และเอกวาดอร์ ที่สินค้า FMCG กลับมียอดขายลดลง ส่วนประเทศอื่นๆ เป็นไปตามที่กล่าวข้างต้น

Kantar มองว่า สำหรับยอดขายสินค้า FMCG ไตรมาส 1 ปี 2021 ทั่วโลกจะโตประมาณ 10% โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม นม และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน ยังโตได้ต่อเนื่อง

แต่คาดว่าทั้งปี 2021 กลุ่มที่เคยขายดีเหล่านี้จะชะลอการเติบโตลง โดยอาจจะติดลบ 1-2% ขณะที่กลุ่มบิวตี้ที่เคยติดลบเมื่อปีก่อนจะกลับมาโต 6% เหตุเพราะว่าโลกน่าจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการการล็อกดาวน์อย่างช้าๆ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โรคระบาดอาจเปลี่ยนแปลงได้เสมอ และมีผลต่อการขาย “ของกินของใช้” เหล่านี้