ใครกันแน่ปฏิวัติสิ่งพิมพ์

e-Magazine, e-Book และดิจิตอล แมกกาซีนบน iPad หลายคนอาจถามคำถาม ใครแน่คือผู้ที่เปลี่ยนโฉมหน้าสิ่งพิมพ์ไปสู่โลกดิจิตอลอย่างแท้จริง

ยุค e-Magazine

นับเป็นยุคแรกของการที่นิตยสารฉบับปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์ โดยให้ผู้อ่านโหลดไฟล์ ในรูปแบบนามสกุล PDF มาดูบนเว็บไซต์ เรียกว่าเป็นแค่การเพิ่มทางเลือก จากอ่านบนสิ่งพิมพ์มาอยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งการอ่านนั้นไม่แตกต่างจากแมกกาซีน

ยุค e-Book

ต่อมาร้านขายหนังสือออนไลน์ คลอด e-Book ออกสู่ตลาด เช่น Kindle จากค่าย Amazon หรือ Nook จาก Barn & Noble เป็นอีกยุคที่เปลี่ยนผ่านของการอ่านหนังสือ เมื่อหนอนหนังสือจะได้เปลี่ยนบรรยากาศมาอ่านหนังสือบนเครื่องพกพาขนาดจิ๋ว ที่เดินทางไปกับนักอ่านได้ทุกที่ โหลดหนังสือจากอินเทอร์เน็ตมาอ่านได้ฟรี และการอ่านก็สบายตากว่าการดูจากจอคอมพิวเตอร์

ยุค Digital Magazine

แม้ว่า e-Book จะตอบสนองการอ่านได้สะดวกยิ่งขึ้น แต่หลายคนมองว่ายังไม่ใช่จุดเปลี่ยนของดิจิตอลมีเดียที่แท้จริง จนกระทั่งการมาของ iPad ด้วยความนิยมในตัวเครื่อง บวกกับการอยู่ในรูปแบบของแอพพลิเคชั่นบวกกับ Content หลายคนเชื่อว่าการปฏิวัติสิ่งพิมพ์เริ่มขึ้นแล้ว

เมื่อ iPad สามารถเป็นได้ทั้ง Digital Picture Book (แอพพลิเคชั่นที่ประกอบด้วยเนื้อหาจากหนังสือภาพ), Digital Magazine โดยมีตัวอย่างของนิตยสารชื่อดังอย่าง Times นั้นประเดิมคลอดแอพพลิเคชั่นให้ผู้ใช้ iPad สามารถดาวน์โหลดไปเพื่ออ่านบทความ ชมวิดีโอ ฟังโฆษณา และอื่นๆ ได้

ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน คือ นิตยสารจะไม่ได้มีแต่โฆษณาภาพนิ่งอีกต่อไป แต่สามารถแสดงในรูปแบบวิดีโอ พ่วงเครือข่ายสังคม หรือดึงข้อมูลจากระบบ CRM เพื่อโอกาสต่อยอดสู่การซื้อสินค้าได้เลย

ไม่มีอายุ ในโลกของดิจิตอล แมกกาซีน นอกจากค่ายสิ่งพิมพ์จะไม่ต้องรอรอบวันเวลาวางแผง จะวางถี่แค่ไหนก็ทำได้ เนื่องจากไม่มีต้นทุนการพิมพ์ แถมสามารถวัดฟีดแบ็กได้ทันใจ ไม่ต้องรอปลายปี

กำเนิด Ad 3.0 อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์จะต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงานทั้งระบบ โรงพิมพ์จะกลายเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับสื่อสิ่งพิมพ์จะต้องปรับตัว โฆษณาออนไลน์จะเข้าสู่ยุค Ad 3.0 เปลี่ยนรูปแบบโฆษณาเดิมๆ ไปอย่างสิ้นเชิง

สุธิดา มาไลยพันธุ์ Executive Vice President – Digital Media บริษัท โพสต์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) เชื่อว่า Digital Media คือเซ็กเมนต์ใหม่ที่สิ่งพิมพ์ต้องทำ โดยเฉพาะการมาของ โฆษณา 3.0 ที่จะมีบทบาทต่อไป

“Ad 1.0 คือโฆษณาในก่อนยุคอินเทอร์เน็ตเกิด Ad 2.0 เป็นยุคของเว็บไซต์ โฆษณาเริ่มวัดผลการเข้าชมจากจำนวนคลิกได้ ขณะที่ Ad 3.0 จะทำให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ตรงมากขึ้น กูเกิลคือตัวอย่าง และยังรู้ด้วยว่ารู้ว่าลูกค้าเป็นใคร ชอบอะไร เมื่อกำหนดกลุ่มลูกค้าได้ วัดผลได้ การลงทุนก็คุ้มค่ามากขึ้น และลูกค้าสามารถเลือกได้ ว่าต้องการรับโฆษณาสินค้าอะไรบ้าง”

จุดอ่อนสำคัญของ Digital Media คือปัญหาการถูกก๊อบปี้ แต่หลายคนเชื่อว่าการจัดการลิขสิทธิ์ดิจิตอลหรือ DRM ในโลกของ Digital Media จะเกิดขึ้นอย่างจริงจังในไม่นานนี้ แต่ถ้าแมกกาซีนฉบับใดหารายได้จากโฆษณา ปัญหาการก๊อบปี้ก็ไม่ใช่อุปสรรคแต่อย่างใด

เกิดเซ็กเมนต์ใหม่

นักสังเกตการณ์เชื่อว่า Digital Media จะกระทบต่อสิ่งพิมพ์ดั้งเดิมบางส่วนเท่านั้น โดยสื่อเหล่านี้ควรมอง Digital Media ในฐานะของโอกาสใหม่ ไม่ใช่จุดตายของสื่อสิ่งพิมพ์

วิโรจน์ อัศวรังสี รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิ แอสไพเรอร์ส กรุ๊ป จำกัด เชื่อว่า ดิจิตอล มีเดียจะทำให้เกิดเซ็กเมนต์ใหม่ในตลาด

เขายกตัวอย่าง นิตยสาร People เปิดให้ลูกค้าใหม่ดาวน์โหลด Digital Magazine ในราคา 3.99 เหรียญ แต่สำหรับสมาชิกให้โหลดฟรี เห็นได้ชัดว่าวิธีนี้ทำให้สื่อใหม่ และสื่อใหม่เก่าอยู่รวมกันได้

“เวลานี้ นิตยสารไทยอย่าง Mars ก็เริ่มทำแล้ว อีกเดือน 2 เดือนนี้เราจะเห็นมากขึ้น PC World ของเราก็จะทำเหมือนกัน” วิโรจน์ยืนยันถึงการนำแอสไพเรอร์ส ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตนิตยสารหัวใหญ่ PC World เข้าสู่ดิจิตอลแมกกาซีนในเร็วๆ นี้

วิโรจน์กล่าวว่า ค่ายนิตยสารต้องปรับตัวเพื่อรองรับได้กับทุกแพลตฟอร์มหนังสือดิจิตอลยุคใหม่ e-Book, e-Magazine และล่าสุดคือ Digital Magazineแต่ก็ยอมรับว่าโจทย์นี้จะยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกของ Publisher ทั่วโลกก็ตาม

สุปรีย์ ทองเพชร กรรมการผู้จัดการ บริษัท คัลเลอร์ดอกเตอร์ จำกัด มองเห็นโอกาสการเปลี่ยนแปลง เปิดบริษัทรับงานที่ปรึกษาดิจิตอลมีเดีย มองว่า การเกิดของดิจิตอลมีเดียทำให้ธุรกิจสิ่งพิมพ์ต้องปรับตัว โดยเฉพาะเนื้อหา เพราะความที่ข้อความและรูปภาพไม่เพียงพอต่อการสร้าง Digital Media แต่จะต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญในศาสตร์แขนงใหม่เพื่อเพิ่มความสนุกสนานและสร้างแรงดึงดูดนักโฆษณา

“ถ้าคิดว่าจะเปลี่ยนแค่จากกระดาษมาเป็นจอภาพมันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้น เราต้องผลิตคอนเทนต์ที่เหมาะสม เราต้องเป็น Template Provider ธุรกิจนี้จะเป็นตัวเสริมให้ธุรกิจ Printed Magazine เพราะเราสามารถเสนอบางเนื้อหาที่รูปเล่มนิตยสารทำไมได้ มาเสริมเนื้อหาในภาพรวมดีขึ้น”

    ศัพท์ใหม่ยุค Digital Media

  • จากคำเรียกแผงจำหน่ายหนังสือพิมพ์นิตยสารตามร้านค้าปลีกว่า News Stand วันนี้เกิดศัพท์คำว่า Hand Stand ขึ้นมาแล้ว เพราะมันคือร้านจำหน่ายหนังสือพิมพ์นิตยสารที่อยู่บนมือของเราเอง
  • In App Perchaser ศัพท์ใหม่สำหรับเรียกกลุ่มตลาดเซ็กเมนต์ใหม่ ลูกค้ากลุ่มนี้คือผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่น เชื่อว่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในธุรกิจโฆษณาบนแอพพลิเคชั่นคัญของ Digital Magazine