ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และแคนาดา ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีน 4 คน เพื่อตอบโต้การละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ของจีน ซึ่งนั่นทำให้ชาวจีนไม่พอใจอย่างมาก จนนำไปสู่การ ‘แบน’ บรรดาแบรนด์ที่เคยออกมาแสดงความกังวลต่อการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ‘Adidas’ (อดิดาส)
สรุปประเด็น ‘แบนฝ้ายซินเจียง’ สู่การแก้แค้นของลูกค้าจีน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Adidas จะถูกแบนก็ตาม แต่ผลประกอบการในไตรมาสแรกของประเทศจีนกลับเติบโตได้ 156% ขณะที่ยอดขายทั่วโลกเพิ่มขึ้น 20% เป็น 5.27 พันล้านยูโร ส่วนผลกำไรอยู่ที่ 558 ล้านยูโร (673.2 ล้านดอลลาร์) จากที่ปีที่แล้วมีกำไรเพียง 31 ล้านยูโร ซึ่งปัจจัยหนุนมาจากรายได้จากผู้บริโภคโดยตรงและอีคอมเมิร์ซ
บริษัทกล่าวว่า มีความมั่นใจมากขึ้นเกี่ยวกับยอดขายในปีนี้ เนื่องจากมีความต้องการผลิตภัณฑ์ทั่วโลกเกินคาด นอกจากนี้ยังมีแรงหนุนจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ รวมถึงการแข่งขันกีฬาสำคัญ ๆ เช่น ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก, ยูฟ่า ยูโรปา และโคปาอเมริกาจะช่วยสนับสนุนธุรกิจด้วย
และแม้ว่าในตลาดจีนจะถูกคว่ำบาตรก็ตาม Kasper Rorsted ซีอีโอของ Adidas กล่าวว่า เขายังคงคาดหวัง ”การเติบโตที่แข็งแกร่งมาก” จากประเทศจีนในปีนี้
“เรายังคงมั่นใจมากว่าเราจะยังคงสร้างตำแหน่งของเราในจีนซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของเรา แต่แน่นอนว่ากรณีการใช้แรงงานชาวอุยกูร์นี่เป็นหัวข้อที่ละเอียดอ่อนและเรากำลังทำทุกวิถีทางเพื่อให้แน่ใจว่าสิทธิมนุษยชนได้รับการคุ้มครอง”
ทั้งนี้ Adidas ยืนยันว่า ไม่เคยผลิตสินค้าในซินเจียงและไม่มีความสัมพันธ์ทางสัญญากับซัพพลายเออร์ในซินเจียงใด ๆ ขณะเดียวกันในปีนี้ Adidas ยังได้เข้าร่วมกับองค์กร ‘Better Cotton Initiative’ ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งเลือกที่จะระงับกิจกรรมในซินเจียงเมื่อปีที่แล้วเนื่องจากความกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชน