-
หลังโรคระบาดเกิดขึ้น ผู้บริโภคเคยชินกับการซื้อของออนไลน์ รวมถึงลูกค้า “พฤกษา” ที่เปลี่ยนพฤติกรรม ซื้อผ่านออนไลน์ถึง 70% แล้ว
-
บริษัทพบสถิติไตรมาสแรกปีนี้ ผู้ซื้อค้นหาบ้าน-คอนโดฯ ใน Google Search เพิ่มขึ้น 20% การให้ข้อมูลทางดิจิทัลอย่างละเอียดคือสิ่งที่ต้องทำ การถ่ายภาพจำลอง 360 องศาเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
-
ด้านยอดเข้าชมโครงการของพฤกษาช่วงระบาดรอบ 3 ไม่กระทบ แต่ลูกค้าตัดสินใจซื้อยากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมองว่าทั้งปี 2564 ตลาดจะโตกว่าปีก่อนอย่างน้อย 5% ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว
“บ้าน” หรือ “คอนโดฯ” เป็นสินค้าใหญ่ ลงทุนสูง หลายคนอาจเคยกังขาว่าอสังหาฯ จะ “ขายออนไลน์” ได้จริงหรือ แต่พฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนไปแล้วหลังเกิดโรคระบาดขึ้น “ปิยะ ประยงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาสแรกปี 2564 บริษัททำยอดขายได้รวม 6,940 ล้านบาท โต 14% YoY โดยเป็นยอดขายจากออนไลน์ถึง 70%
นอกจากนี้ ยังพบสถิติจาก Google Search ว่า ผู้บริโภคค้นหาเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20% บางโครงการอาจเพิ่มขึ้น 30% เห็นได้ว่าผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่เกาะติดกับโลกดิจิทัลสูงขึ้น
“ลูกค้าใช้ดิจิทัลเยอะขึ้นในการศึกษาสินค้า ดังนั้น การให้ข้อมูลในโลกดิจิทัลสำคัญมาก ต้องมีให้อย่างละเอียด ข้อมูลที่ลงต้องครบถ้วน อย่างเทคโนโลยีถ่ายภาพห้องหรือบ้าน 360 องศาจะต้องมี” ปิยะกล่าว
แต่ไม่ใช่ว่าจะตัดการให้ข้อมูลหรือโฆษณาออฟไลน์ได้สิ้นเชิง เพราะถึงแม้ออนไลน์จะมีอิทธิพลมากกับความสนใจหรือการตัดสินใจของลูกค้า แต่สื่อออฟไลน์ยังต้องมี เช่น ป้ายบอกทางไปที่โครงการ เพื่อนำทางลูกค้าไปที่โครงการได้ถูกต้อง
ที่จริงแล้ว แนวโน้มของผู้บริโภคมุ่งมาทางออนไลน์มากขึ้นตั้งแต่ปี 2562 โดยการวิจัยของ Terra BKK พบว่า คนเจนวายนั้นเปิดรับสื่อเกี่ยวกับอสังหาฯ จำพวกรีวิวออนไลน์และงานอีเวนต์มาก ขณะที่เจนซีนั้นเปิดรับสื่อจากทาง YouTube มาก เป็นกลุ่มที่พฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเจนเอ็กซ์และเบบี้บูมเมอร์ที่ยังรับสื่อออฟไลน์มากอยู่
เมื่อคนกลุ่มเจนวายจนถึงเจนซี (เกิดหลังจากปี 2523 หรืออายุไม่เกิน 41 ปีในปีนี้) มาเป็นกลุ่มใหญ่ที่ซื้ออสังหาฯ ในปัจจุบัน จึงไม่น่าแปลกใจที่โรคระบาดยิ่งเป็นตัวเร่งให้การใช้ดิจิทัลเข้าหาข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยยิ่งสูงขึ้น
ยอดเข้าชมปกติ แต่ตัดสินใจยากขึ้น
ด้านผลกระทบจาก COVID-19 ระบาดรอบ 3 ปิยะกล่าวว่า ค่อนข้างน่าแปลกใจที่ยอดเข้าชมโครงการไม่ตกลง ยังมีลูกค้าเข้าชมปกติ
แต่ที่ต้องจับตาคือ “การตัดสินใจซื้อ” จากเดิมโดยเฉลี่ยจะมีผู้เข้าชมโครงการที่ตัดสินใจซื้อ 1 คนจากผู้เข้าชม 4 คน ขณะนี้เพิ่มเป็น 1 ใน 5 หรือ 6 คนแล้วแต่โครงการ เห็นได้ว่าผู้ซื้อตัดสินใจยากขึ้น และทำให้ยอดขายไตรมาส 2/64 ของพฤกษาอยู่ที่ราวๆ 80-90% ของยอดปกติที่ควรทำได้
สำหรับเซ็กเมนต์ที่มองว่ายังไปได้ดี ได้แก่ ทาวน์เฮาส์ราคา 2-3 ล้านบาท, บ้านเดี่ยวราคา 5-15 ล้านบาท และคอนโดมิเนียมราคา 2-5 ล้านบาท เพราะสินค้ากลุ่มนี้จะจับลูกค้ารายได้ 30,000-100,000 บาทต่อเดือน ซึ่งยังได้รับผลกระทบเศรษฐกิจน้อยกว่าผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่านี้ โดยเฉพาะกลุ่มรายได้ 50,000-100,000 บาทต่อเดือน ถือว่าขายดีมาก
ไม่ปรับเป้า เชื่อตลาดยังโตได้ 5%
ผู้สื่อข่าวถามถึงผลกระทบจาก COVID-19 รอบ 3 จะทำให้พฤกษาปรับเป้าหรือไม่ ต่อประเด็นนี้ ปิยะยังยืนยันว่าไม่มีการปรับเป้าใดๆ ทั้งการเปิดตัวโครงการยังคงไว้ที่ 29 โครงการเช่นเดิม และเป้าหมายยอดขาย-รายได้ยังเท่าที่ประกาศเมื่อต้นปี
เนื่องจากมองว่า สถานการณ์เศรษฐกิจได้ผ่านจุดต่ำสุดในปี 2563 มาแล้ว เชื่อว่าตลาดรวมอสังหาฯ เองก็น่าจะโตจากปีก่อนได้อย่างน้อย 5% ขึ้นอยู่กับความเร็วในการกระจายวัคซีนและฟื้นฟูกิจกรรมเศรษฐกิจด้วย โดยดูจากโมเมนตัมไตรมาสแรกก่อนเกิดโรคระบาด ตลาดอสังหาฯ รวมทำยอดขายไป 7.39 หมื่นล้านบาท โต 32% YoY สะท้อนให้เห็นสัญญาณที่ดี
พฤกษายังรายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2564 ทำรายได้ไป 6,888 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย -4% YoY และกำไรสุทธิ 606 ล้านบาท ลดลงแรง -34% YoY เนื่องจากไตรมาสแรกยังใช้กลยุทธ์ลดราคาโปรโมชันเพื่อล้างสต็อกอยู่ เช่น โปรโมชันอยู่ฟรี 36 เดือน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ซื้อ