ก่อนหน้านี้คงไม่มีใครคิดว่าธุรกิจ “บริการ” ประเภทร้านอาหาร โรงแรม สปา สถานเสริมความงาม จะสามารถซื้อขายแบบอีคอมเมิร์ซได้ แต่หลังจากที่เว็บไซต์ Groupon เกิดขึ้นที่เมืองชิคาโกในอเมริกาเมื่อปี 2008 ก็ได้สร้างประสบการณ์ช้อปปิ้งออนไลน์รูปแบบใหม่ ด้วยการให้ผู้บริโภครวมตัวกันเพื่อซื้อโปรโมชั่นดีๆ ในราคาโดนๆ จากร้านค้าท้องถิ่นที่ร่วมจัดโปรโมชั่นกับเว็บไซต์ จนเกิดศัพท์ใหม่ที่เรียกกันว่า “Social Commerce”
การช้อปปิ้งออนไลน์รูปแบบใหม่นี้ได้นำ “Social Network” อย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ มาเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการ “บอกต่อ” ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่นักการตลาดต้องการมากที่สุดในเวลานี้เพราะกระจายข้อมูลได้รวดเร็วผ่านเครือข่ายที่เป็นกลุ่มเพื่อน ซึ่งผู้บริโภคจะรู้สึกเชื่อถือในสิ่งที่เพื่อนแนะนำมากกว่าการโฆษณาจากแบรนด์โดยตรง และที่สำคัญคือฟรี!
นอกจาก Groupon จะนำเสนอดีลส่วนลดตั้งแต่ 50-80% จากผู้ประกอบการที่เป็นร้านค้าต่างๆ แล้วยังสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการสัมภาษณ์เจ้าของร้านค้าทุกรายเพื่อคัดเลือกคุณภาพก่อนที่จะทำโปรโมชั่นร่วมกัน เท่ากับว่างานนี้จึง Win Win Win ทั้ง 3 ฝ่าย
เจ้าของร้านได้ขายสินค้าและบริการ ผู้ซื้อได้รับโปรโมชั่นสุดคุ้ม และ Groupon ก็ได้รับส่วนแบ่งจากร้านค้าเมื่อเกิดการซื้อขึ้นจริง
ปัจจุบัน Groupon มีจำนวนสมาชิกถึง 17 ล้านคน ขยายธุรกิจไปกว่า 200 เมืองในสหรัฐฯ รวมถึงต่างประเทศ เช่น แคนาดา ญี่ปุ่น อเมริกาใต้ ยุโรป และด้วยประโยชน์ที่น่าดึงดูดและไม่มีเทคโนโลยีซับซ้อนมากนักจึงทำให้กระแส Social Commerce จาก Groupon ส่งตรงมายังไทยด้วย โดยมีเว็บไซต์หลายรายนำไอเดียนี้มาใช้ เช่น Ensogo, Sanook Coupon, DealDidi, Dealicious Thailand และอีกหลายเว็บไซต์ที่เตรียมตัวเปิดในไม่นานนี้อย่าง DealThailand, Thai City Deal เป็นต้น
ผ่าโมเดลความสำเร็จ Groupon
ธุรกิจ Social Commerce เป็นสิ่งใหม่มากๆ สำหรับไทย ในอเมริกาเองก็เพิ่งเกิดมาแค่ 2 ปี
บรรดานักการตลาดด้านสื่อดิจิตอลต่างให้ความเห็นว่ารูปแบบนี้จะเป็นการช่วยโฆษณาและประชาสัมพันธ์ร้านค้าให้ฟรี จึงเหมาะกับผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่มีงบการตลาด แถมยังช่วยบริหารเรื่องการจัดการสินค้าในสต๊อกหรือบริการที่เกี่ยวเนื่องกับช่วงเวลา เช่น โรงแรมในช่วง Low Season ร้านอาหารในช่วงเวลาที่ไม่มีลูกค้ามากนัก
“ทุกวันนี้คนมักจะมองหาดีลดีๆ ที่ส่งมาอัพเดตให้ทางอีเมลทุกวัน เว็บไซต์เหล่านี้จะคัดเลือกสินค้าและบริการที่มีคุณภาพดีมาขาย จึงทำให้เกิดการบอกต่อทำให้สินค้าขายได้และผู้บริโภคเกิดความมั่นใจที่จะซื้อของพวกนี้ได้มากขึ้น” อุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธอมัส ไอเดีย จำกัด ให้ความเห็น สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดออนไลน์อย่าง อภิศิลป์ ตรุงกานนท์ มองว่าวิธีนี้จะช่วยส่งเสริมบทบาทเรื่องอีคอมเมิร์ซในไทยที่จะทำให้คนกล้าช้อปออนไลน์มากขึ้น เพราะต่างจากอีคอมเมิร์ซทั่วไปที่เป็นสินค้าซึ่งผู้บริโภคมักกังวลเรื่องสินค้าคุณภาพไม่ดี แบรนด์ไม่เป็นที่รู้จักและไม่มีการตรวจสอบสินค้ามาก่อน ขณะที่บริการต่างๆ เหล่านี้ผู้บริโภคจะทราบอยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร และยังสามารถไปตรวจสอบคุณภาพบริการได้ที่ร้าน จึงทำให้คนกล้าจับจ่ายใช้สอยผ่านออนไลน์มากขึ้น
แน่นอนว่าในต่างประเทศมีผู้ทำธุรกิจแบบนี้เป็นจำนวนมาก แต่รายใหญ่ที่สุดก็ยังเป็น Groupon เพราะมีความน่าเชื่อถือและมีการส่งดีลจำนวนมากมาอัพเดตที่อีเมลขอลลูกค้าในแต่ละวัน และโมเดลนี้ทำให้เกิดการแข่งขันขึ้นในไทย ดังที่จะเห็นได้จากหลายเว็บไซต์ที่มีการนำเสนอดีลอย่างต่อเนื่องแทบทุกวัน
“ถ้าผมเป็นลูกค้าก็จะสมัครสมาชิกทุกเว็บไซต์ดีลเพื่อดูว่าของใครมีโปรโมชั่นที่น่าสนใจมากกว่ากัน ดังนั้นผู้ทำธุรกิจนี้ต้องหาดีลให้ดีที่สุดเพราะนี่คือโปรดักต์ของเขา ถ้าใครได้ดีลที่ดีที่สุดก่อนก็จะได้ลูกค้าไป” นิวัฒน์ ชาตะวิทยากูล ครีเอทีฟ ไดเรคเตอร์และโปรเจ็ค แมเนเจอร์ บริษัท แบรนด์ เบคเกอร์ จำกัด ซึ่งเขาเปรียบว่าธุรกิจ Social Commerce ก็คล้ายกับหนังสือแนะนำร้านอาหารหรือสถานที่ท่องเที่ยว แต่สิ่งที่ต่างกันคือเรื่องเรียลไทม์และเรื่องอินเตอร์แอคทีฟที่บนออนไลน์มอบให้ได้มากกว่า
อย่างไรก็ตาม นักการตลาดออนไลน์ต่างก็ยอมรับว่าธุรกิจ Social Commerce ในไทยน่าจะไปได้สวย เคสที่สามารถเห็นได้ชัดเจนคือ Ensogo.com ที่เพิ่งเปิดตัวแค่เพียง 5 เดือนก็มีรายได้เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังสร้างพาวเวอร์กับแบรนด์ได้ดี จึงเหมือนผู้ที่มีสื่ออยู่ในมือก็สามารถเลือกดีลที่ดีได้ ขณะที่การใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางทำตลาดที่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนวัยทำงานที่มีกำลังซื้อได้เป็นจำนวนมาก และเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของผู้ที่ทำธุรกิจ Social Commerce
เวลานี้ “ผู้เล่น” ทุกรายต่างก็มีแพลตฟอร์มที่แทบไม่ต่างกัน เพราะเป็นช่วงเริ่มต้นจึงมีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ดังนั้นอาจต้องใช้เวลาสักระยะถึงจะเห็นว่าใครเป็นผู้นำในตลาดนี้เช่นเดียวกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
- ดีลแบบไหนถึงจะเวิร์ค
- ต้องเป็น Exclusive Deal ซึ่งเป็นส่วนลดที่ไม่สามารถหาได้บนโลกออฟไลน์ เพื่อทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าแตกต่างและมีความพิเศษกว่า
- สรรหาวิธีทำให้คนสนใจดีลและตัดสินใจซื้อ เช่น การใช้ภาษาที่ดึงดูด การส่งอีเมลแจ้งดีลใหม่ทุกครั้ง
- การจำกัดจำนวนสินค้าและเวลาดีลทำให้ผู้ซื้อรู้สึกพิเศษ
- การทำตามคนที่ชื่นชอบหรือเพื่อนที่มีข้อเสนอแนะ
- การแลกเปลี่ยน หรือได้ทดลองใช้ฟรี
ที่มา : Ensogo.com
- 6 เครื่องมือสร้าง Social Commerce
- สามารถวัดความนิยมและการรีวิวสินค้าหรือบริการ
- ข้อเสนอแนะและการแนะนำผลิตภัณฑ์
- ฟอรั่มและชุมชน เช่น กระทู้ในพันทิป เว็บบอร์ดต่างๆ
- การแชร์ใน Social Network ของผู้ที่กำลังช้อปปิ้ง
- ใช้ Social Media เป็นช่องทางโปรโมทเหตุการณ์และเนื้อหา
- ใช้แอพพลิเคชั่นหรือโฆษณาบนโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คมาช่วยโปรโมต
ที่มา : Ensogo.com
Success Deal
โปรโมชั่น GAP
แบรนด์เสื้อผ้าดังอย่าง GAP ก็ร่วมมือกับ Groupon อเมริกา และกลายเป็นดีลตัวอย่างของ Social Commerce กับโปรโมชั่นลดราคาเสื้อจาก 50 เหรียญเหลือเพียง 25 เหรียญ โดยมีคนต้องการซื้อขั้นต่ำถึง 1,000 คน หลังจากประกาศโปรโมชั่นนี้ออกไปผ่านทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์เพียงแค่วันเดียวก็มีผู้ให้ความสนใจกว่า 300,000 คน และเกิดการซื้อขึ้นถึงกว่า 23,000 ครั้ง ทำให้ GAP มีรายได้จากการขายสินค้าถึง 11 ล้านเหรียญ
โรงแรมช่วงโลว์ซีซั่น
โรงแรมหรือรีสอร์ตช่วง Low Season เหมาะกับการใช้ Social Commerce เป็นเครื่องมือการตลาด เช่น เคสของโรงแรมสันติยาบนเกาะพงันที่ร่วมดีลกับ DealDidi.com โดยให้ส่วนลดห้องพักถึง 70% จากราคาเต็ม 9,500 บาท เหลือเพียง 2,850 บาทพร้อมอาหารเช้า เมื่อเข้าพักในช่วงวันที่ 5 พ.ย. 2553 – 15 ธ.ค. 2553 หรือวันที่ 1 พ.ค. 2554 – 31 ก.ค. 2554 โดยสามารถขายได้ถึง 38 ห้องจากที่ตั้งเป้าขั้นต่ำไว้เพียง 10 กว่าห้องเท่านั้น
Website | Ensogo.com | Coupon.Sanook.com | DealDidi.com |
Ensogo Thiland จำนวนแฟน 45,851 คน | SanookCoupon จำนวนแฟน 2,602 คน | DealDidi จำนวนแฟน 20,449 คน | |
@EnsogoThailand Follower 858 Following 8 | @SanookCoupon Follower 150 Following 0 | @DealDidi Follower 676 Following 0 | |
Target | ผู้หญิงอายุ 25-35 ปี ตั้งแต่นักศึกษาจนถึงวัยทำงาน มีไลฟ์สไตล์ชอบกิน ชอบเที่ยว | ทุกเพศ อายุ 25 ปีขึ้นไป วัยทำงานรายได้ระดับ C ขึ้นไป ไลฟ์สไตล์ชอบกิน ชอบเที่ยว | ทุกเพศอายุ 18-25 ปี รายได้ระดับ B+ ขึ้นไป ไลฟ์สไตล์ชอบกิน ชอบเที่ยว |
Payment Gateway | PayPal PaySbuy บัตรเครดิต โอนเงินผ่านธนาคาร หรือชำระเงินสดโดยตรงที่ออฟฟิศของ Ensogo | PaySbuy บัตรเครดิต โอนเงินผ่านธนาคาร หรือชำระที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส | PayPal PaySbuy บัตรเครดิต โอนเงินผ่านธนาคาร ชำระเงินสดที่ออฟฟิศ Deal Didi หรือชำระที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส |
Credit | ชวนเพื่อน 1 คนได้รับส่วนลด 100 บาท ถ้าชวนถึง 20 คน ผู้ชวนไม่ต้องจ่ายค่าดีลนั้นเลย ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยสร้างการ “บอกต่อ” | ชวนเพื่อน 1 คนได้รับส่วนลด 100 บาทเพื่อใช้ในการซื้อคูปองครั้งถัดไป | แนะนำเพื่อน 1 คนได้รับส่วนลด 100 บาท |
ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อช้อปปิ้งออนไลน์ไทย | |
90% | สิ่งอำนวยความสะดวกการชำระเงินที่ปลอดภัย |
90% | วิธีการชำระเงินที่สะดวก |
86% | ราคาและคุณภาพสินค้า |
81% | บริการลูกค้าที่ดี |
81% | การโอนที่รวดเร็ว |
80% | เว็บไซต์ที่ใช้งานง่าย |
79% | ค่าใช้จ่ายต่ำการจัดส่ง |
74% | ชื่อเสียงของเว็บไซต์ |
69% | โปรโมชั่นพิเศษ |
ที่มา : Ensogo.com |
70% ของผู้ใช้บริการ Social Commerce คือผู้หญิง เพราะมีพฤติกรรมชอบช้อปปิ้ง สนใจเรื่องความสวยงามและท่องเที่ยวมากว่าผู้ชาย