ด้วยประสบการณ์ในแวดวงโฆษณาออนไลน์เกือบ 10 ปีของทอม ศรีวรกุล อดีตประธานกรรมการบริหาร บริษัท อิมแพ็ค อินเตอร์แอ็คทีฟ จำกัด ซึ่งดูแลด้านโฆษณาออนไลน์ให้กับ MSN และอดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดแมกซ์ เนทเวิร์กส จำกัด ที่เป็นตัวแทนขายโฆษณาให้กับเว็บไซต์ต่างๆ กว่า 3,800 เว็บไซต์ทั่วเอเชียใต้ รวมทั้งยังติดตามเทรนด์ใหม่ๆ จากโลกดิจิตอลอยู่เสมอ ทำให้เขานำแนวคิดของ Groupon มาเปิดเว็บไซต์ Ensogo.com ผู้เริ่มต้นธุรกิจ Social Commerce รายแรกของไทยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
“Ensogo มาช่วยเสริมเรื่องการโฆษณาออนไลน์ให้เห็นว่าสามารถเกิดการซื้อขายขึ้นจริง เพราะมีลูกค้านำคูปองออนไลน์ที่ซื้อจากเรามาใช้งานที่ร้านค้า” ทอมกล่าวในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นโซโก้ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมอบส่วนลดตั้งแต่ 50-90% ให้กับผู้ซื้อดีล และมีการแบ่งค่าคอมมิชชั่น 40% ในแต่ละดีลจากผู้ประกอบการ
เขาร่วมมือกับน้องชายอีก 2 คือ จอห์นและพอล ที่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจออนไลน์เช่นกันมาก่อตั้ง Ensogo.com โดยได้รับเงินทุน 70 ล้านบาทจากกลุ่ม Rebate Networks ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้าน Social Commerce ที่มีชื่อเสียงในยุโรปเพื่อช่วยขยายธุรกิจของ Ensogo ให้ครอบคลุมทั่วประเทศไทยพร้อมกับขยายไปถึงฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่เขามองว่าก็มี “โอกาส” สูงไม่แพ้กัน
Ensogo ต่างจาก Groupon คือ “ไม่ต้องรวมกลุ่ม” ก็สามารถซื้อดีลที่ต้องการได้ ดังนั้นแม้จะมีผู้สนใจซื้อดีลแค่เพียงรายเดียวการซื้อขายก็ยังเกิดขึ้นเช่นกัน แต่ยังคงกลยุทธ์ “บอกต่อ” เพื่อรวมกลุ่มกันซื้อให้ได้ดีลในราคาที่ถูกลง โดยให้สมาชิกของเว็บไซต์ชวนเพื่อนมาซื้อดีลเพื่อให้ได้ส่วนลดจำนวน 100 บาทต่อคน หากชวนเพื่อนถึงจำนวนมากที่สุดที่ตั้งไว้คือ 20 คน ผู้ซื้อดีลคนแรกก็ไม่ต้องจ่ายค่าดีลนั้นเลย จึงคล้ายกับธุรกิจ MLM ที่ชวนกันรวมตัวมากๆ แล้วคนที่ชวนคนแรกจะได้ซื้อดีลในราคาที่ถูกลงหรือไม่ต้องจ่ายเลย
หลังจากที่เปิด Ensogo ได้สักระยะ ทอมมองเห็นกลุ่มเป้าหมายชัดเจนขึ้น โดยลูกค้าหลักถึง 70% เป็นผู้หญิง อายุระหว่าง 25-35 ปี มีตั้งแต่ระดับนักศึกษาถึงวัยทำงาน และกลุ่มรองลงมาคือผู้ชาย ดังนั้นเขาจึงวาง Positioning ของกลุ่มธุรกิจที่ไปดีลมาเพื่อเอาใจกลุ่มนี้โดยเฉพาะ อันดับแรกคือร้านอาหาร ตามด้วยบริการที่เกี่ยวกับความสวยงาม เช่น สปา ร้านทำผม ต่อมาคือโรงแรม โดยระดับราคามีตั้งแต่ C ถึง B+ ขึ้นไป ก็เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย
5 เดือนในการทำตลาด Ensogo ก็มีดีลเกิดขึ้นกว่า 200 ดีล โดยเลือกผู้ประกอบการจากชื่อเสียงที่ดีแต่ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นแบรนด์ที่มีคนรู้จักมากนัก แต่แบรนด์ใหญ่อย่างร้านพิซซ่านารายณ์ พิซเซอเรีย ร้านไอศกรีมไอเบอรี่ โรงภาพยนตร์เอสเอฟซีเนม่า ก็สนใจร่วมดีลกับ Ensogo เช่นกัน
ทอมมองว่า โอกาสทางธุรกิจของธุรกิจประเภทนี้อยู่ที่การประหยัดงบทำโปรโมชั่นให้กับเจ้าของแบรนด์ ไม่ต้องลงทุนจ้างเอเยนซี่หรือทำการตลาดเอง เขาเชื่อว่าคอนเซ็ปต์ของ Ensogo จะได้รับความสนใจจากแบรนด์ใหญ่ๆ เพราะไม่มีการจ่ายค่าการตลาดล่วงหน้า และตรวจวัดผลได้จริงจากจำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการที่ร้าน
เพื่อให้มีแบรนด์มาเป็นตัวเลือกมากขึ้น เพราะยิ่งมีแบรนด์ในมือมากก็ยิ่งดึงดูให้ผู้บริโภคสนใจดีลและตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น ลูกค้าจะมีทั้งผู้ประกอบการในเขตกรุงเทพฯ ชั้นนอก เช่น บางนา ปิ่นเกล้า เกษตร-นวมินทร์ รวมถึงหัวเมืองใหญ่อย่าง เชียงใหม่ โคราช ภูเก็ต หัวหิน ได้ร่วมขายดีลส่วนลดบน Ensogo เพื่อดึงดูดคนในพื้นที่หรือนักท่องเที่ยวให้มาใช้บริการด้วย
นอกจากสื่อออนไลน์ เฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ สื่อออฟไลน์ต่างๆ สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ ก็จำเป็นสำหรับการโปรโมตแบรนด์ พันธมิตรของเขา เช่น การร่วมมือกับนิตยสารคลีโอ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เครือเนชั่น คลื่นวิทยุเวอร์จิ้น ฮิตส์ โปรโมต Ensogo ติดหูคนทั่วไปได้อย่างรวดเร็ว
ปัจจุบัน Ensogo มีสมาชิกกว่า 9 หมื่นคน โดยทอมตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีจำนวนสมาชิกถึง 2.5 แสนราย และคาดว่าปีหน้าจะมีถึง 1 ล้านคน ลูกค้ามากกว่า 60% สนใจส่วนลดร้านอาหารญี่ปุ่น