การที่ค่ายช้างหันมาเลือกใช้ Music Marketing เป็นอาวุธหลักในเวลานี้ น่าจะมาจากการประเมินแล้วว่า สามารถต่อกรกับค่ายสิงห์ที่กำลังมาแรงด้วยสปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง หลังจากที่ค่ายสิงห์เคยเพลี่ยงพล้ำให้กับค่ายช้าง จนสูญเสียส่วนแบ่งตลาดเหลือเพียงแค่ 10% เป็นบทเรียนอันบอบช้ำที่ทำให้ค่ายสิงห์กลับไปลับเขี้ยวเล็บ กลับมาทวงคืนตลาดอีกครั้ง
จนทำให้ช่วง 2-3 ปีมานี้ ช้างต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับค่ายสิงห์ไปไม่น้อย โดยช้างเองก็ต้องลุกขึ้นมารีแบรนดิ้งเบียร์ช้างใหม่ ยกระดับแบรนด์ให้มีความพรีเมียมมากขึ้น ใส่ความเป็นไลฟ์สไตล์ ผ่านบุคลิก 3 หนุ่มที่มีความชอบต่างกัน เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่
สวนค่ายสิงห์ หันมาให้น้ำหนักด้วยสปอร์ต มาร์เก็ตติ้ง ที่ค่ายสิงห์บินไปเซ็นสัญญากับ 2 ทีมดังของพรีเมียร์ลีก แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด และลิเวอร์พูล
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ ผู้บริหารค่ายสิงห์มองว่า เป็นสปอร์ต มาร์เก็ตติ้ง คือ เอนเตอร์เทนเมนต์ชั้นดี ที่มีทั้งความเป็นแมส สามารถดึงคนดูพร้อมกันทีเดียวจำนวนมาก และยังสร้างประสบการณ์ร่วมกับแบรนด์ผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งในและนอกสนาม
ส่วนค่ายเบียร์ช้าง นับจากการเป็นสปอนเซอร์ให้กับการถ่ายทอดฟุตบอลโลกเมื่อหลายปีที่แล้ว ซึ่งเป็นจุดระเบิดชื่อเสียง และสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ นับจากนั้นเบียร์ช้างก็ยังไม่เคยใช้ประโยชน์จากสปอร์ตมาร์เก็ตติ้งได้อีกเลย แม้แต่การเป็นสปอนเซอร์ให้กับทีม “เอเวอร์ตัน” ของอังกฤษก็ตาม ยิ่งต้องมาเจอกับค่ายสิงห์จับมือกับแมนฯ ยู และลิเวอร์พูล ซึ่งต่างก็รู้ดีว่าเป็นทีมอันดันต้นๆ ทีมีแฟนคลับทั่วโลกด้วยแล้ว เอเวอร์ตันก็ยิ่งไม่ใช่อาวุธที่จะมาต่อกรกับเบียร์สิงห์ได้
เบียร์ช้าง จึงต้องหันไปทุ่มน้ำหนักกับ “มิวสิกมาร์เก็ตติ้ง” เพราะนอกจากลูกค้าคุ้นเคยดี หากมองในมุมของ Trade Marketing แล้ว ศิลปินเพลงเหล่านี้มีส่วนอย่างมากในการเป็นใบเบิกทางให้กับเบียร์ช้าง นำไปต่อรองกับบรรดา Outlet ต่างๆ เพื่อขยับความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับ Outlet และในบางครั้งก็แลกกับการขายสินค้าของแบรนด์ตัวเองเพียงผู้เดียวในคืนที่จัดคอนเสิร์ต ก่อนแปรเปลี่ยนสถานภาพ Outlet เหล่านี้เป็น Exclusive Partner ต่อไปในอนาคต
เบียร์ช้างยอมรับว่า การนำศิลปินไปตระเวนแสดงคอนเสิร์ตตามผับ บาร์ ร้านอาหารทั่วประเทศ เป็น Trade Promotion ที่ได้ผลดี
Outlet จะได้ศิลปินไปแสงแบบฟรี หรือไม่ก็จ่ายเงินในจำนวนไม่มาก เพราะศิลปินเปรียบเหมือนของแถมที่แลกกับการจำหน่ายเบียร์ ซึ่งหากร้านเหล่านี้ต้องจ้างศิลปินดังระดับประเทศมาแสดงเอง ในบางครั้งเมื่อบวกลบแล้วอาจได้ไม่คุ้มเสีย
นอกจากนี้ การมีศิลปินมาแสดงในร้านของตัวเองอย่างต่อเนื่อง ย่อมเป็นช่องทางโปรโมตร้านให้ติดหูกับผู้บริโภคได้ดีที่สุด ยังไม่นับรวมกับยอดขายที่การันตีได้เลยว่า คืนที่มีศิลปินขึ้นแสดงย่อมขายได้ดีกว่าคืนปกติทั่วไป เพราะจะมีการบังคับให้ซื้อดริ้งค์หน้าร้านก่อนเข้า โดยราคาขั้นต่ำแล้วแต่จะกำหนด
เมื่อ Outlet ได้ลูกค้าเข้าร้านแน่ๆ โอกาสที่จะเชียร์ให้กับค่ายเบียร์นั้นๆ เป็นพิเศษ หรือไปถึงขั้นผูกขาดกับค่ายเบียร์เพื่อมีศิลปินดัง มาดึงดูดลูกค้าเข้าร้าน ย่อมมีโอกาสเกิดได้สูง