ไฮเนเก้นเอง เป็นอีกแบรนด์ที่กำลังพยายามขยับความสัมพันธ์ที่ดีกับบรรดา Outlet เหล่านี้อย่างขะมักเขม้น เพราะที่แล้วมาไฮเนเก้น ประสบความยากลำบากในการทำตลาด เป็นผลมาจากการปรับตัวรับกับกฎระเบียบคุมเข้มโฆษณาแอลกอฮอล์ไม่ทัน ไม่เหมือนกับเบียร์ท้องถิ่น สิงห์ และช้าง
ต้องยอมรับว่า ภาพยนตร์โฆษณา เป็นกลไกสำคัญที่สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้กับแบรนด์ไฮเนเก้น เมื่อไม่สามารถออนแอร์ได้เหมือนอย่างที่เคย การรับรู้ของไฮเนเก้นย่อมขาดหายไปจากความทรงจำของผู้บริโภค
ยิ่งสัดส่วนเบียร์ในเซ็กเมนต์พรีเมียม ที่มีเพียง 6% ของตลาดรวมมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านบาท เม็ดเงินที่จะนำไปทุ่มกับกิจกรรมและแคมเปญที่ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายรูปแบบ Below the line จึงเทียบไม่ได้กับ 2 บริษัทใหญ่อย่างสิงห์และช้าง
งานอีเวนต์ใหญ่ ที่ไฮเนเก้นทำสำเร็จมาแล้ว เช่น แฟตเฟสติวัล หรือ แจ๊ส เฟสติวัล ก็ไม่สามารถทำได้ ไฮเนเก้นจึงต้องพบลิกสถานการณ์หันมาใช้ Experience with the Brand จัดงาน “Green space” ขึ้นในช่วงเทศกาลเบียร์ปลายปี เพื่อเลี่ยงการใช้ชื่อแบรนด์โดยตรง แต่ก็ต้องมาเจอกับสถานที่จัดงาน ที่เปรียบเหมือนเป็น Signature Event ของไฮเนเก้น ต้องปิดตัวลง ความยุ่งยากของไฮเนเก้นก็ยิ่งมากขึ้น
ในปีนี้ ไฮเนเก้นจึงต้องใช้กลยุทธ์ “ดาวกระจาย” ลดขนาดลงจัดงานลง และกระจายไปยังจัดตามแหล่งของคนทำงาน ทั้งหมด 7 จุด เช่นที่ Arena 10 ที่ K-Village หรือบนชั้นดาดฟ้าของอาคาร United Center เป็นต้น ขณะเดียวกันในต่างจังหวัดยังได้จับมือกับบรรดา Outlet ต่างๆ นับสิบแห่ง ยึดพื้นที่บางส่วนของ Outlet จำลองบรรยากาศลานเบียร์ขนาดย่อมไว้ที่นั่น ซึ่งนอกจากสร้างความพึงพอใจใก้กับผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นการเอาใจผู้ประกอบการผับ บาร์ และร้านอาหารอีกทางหนึ่ง
ในปีหน้า ไฮเนเก้นจะเดินหน้าต่อด้วยกลยุทธ์ Winning Value Strategy โดยตั้งเป้าท้าทายตัวเองด้วยยอดขายปีหน้าที่คาดว่าจะเติบโตถึง 6% จากที่ปีนี้ติดลบประมาณ 3%
ปัญญา บอกว่า 3 สิ่งที่จำเป็นต้องทำในปีหน้า ได้แก่ การปรับปรุงกระบวนการจัดจำหน่ายทั้ง Suppy Chain ตั้งแต่ผู้ผลิตจนถึงผู้บริโภค พร้อมกับเพิ่มเติมในส่วน Trade Promotion เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้า ให้พวกเขาค้าขายมีกำไรมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังพัฒนาแคมเปญการตลาดเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยเน้นไปที่ Music และ Sport พร้อมกับเพิ่มงบประมาณมากขึ้นกว่าปี 2553 ประมาณ 10 %
และสุดท้าย คือ การกลับมาโฟกัสใน Premium Brand Portfolio หลังจากช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา ทางบริษัทฯหันไปมุ่งเจาะตลาดเบียร์ในเซ็กเมนต์สแตนดาร์ด และอีโคโนมี ในแบรนด์ไทเกอร์ และเชียร์ โดยล่าสุดได้เสริมไลน์ผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยมของบริษัทฯ โดยเป็นตัวแทนจำหน่ายเบียร์นำเข้า กินเนสส์ และคิลเคนนี่ ทั้งสองเป็นสินค้าภายใต้การผลิตของดิอาจิโอ
แอนดรูว์ ลามอนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคม 53 หลังจากประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการสร้างแบรนด์ไฮเนเก้นที่เวียดนาม บอกว่า ตลาดพรีเมียมในประเทศไทยยังมีโอกาสอีกมาก เพราะในตลาดที่เข้าสู่สถานะ Mature แล้ว เบียร์พรีเมียมจะมีสัดส่วนเป็น 15% ของตลาดเบียร์ทั้งหมด
แต่ปัญหาหนักคือ พฤติกรรม Trade Down ของผู้บริโภค หรือการหาไปหาเหล้าราคาถูก ที่เป็นโจทย์หนักของทางแอนดรูว์ที่ต้องพยายามหยุดให้ได้ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สวนทางกับตลาดโลก ที่ตอนนี้สภาวะตลาดอยู่ในช่วง Trade Up