ดนตรีกับเครื่องดื่มเป็นของคู่กัน ค่ายวิสกี้ และไวท์สปิริต ก็ใช้ Music Marketing เป็นเครื่องมือ ค่ายวิสกี้ ที่เลือกใช้ Music Marketing มาโดยตลอด ถ้าเป็นแบรนด์ที่มีฐานลูกค้ากว้าง และเป็นที่รู้จัก มักจะจัดงานใหญ่
อย่าง 100 Pipers ที่มีกลุ่มแมส ทุกเพศและหลากหลายวัย ลูกค้ากลุ่มใหญ่ 20+ ปี ล่าสุดเข้าเป็นหนึ่งในสปอนเซอร์หลัก Big Mountain Music Festival เพื่อขยายฐานไปสู่กลุ่ม คนที่ชอบฟังดนตรีประเภทอื่นๆ นอกเหนือไปจากดนตรีร็อก คาดว่าจะมีคนเข้าร่วมงาน 30,000 คน ลงทุน 15 ล้านบาท กับอีเวนต์เดียว (จากงบการตลาดทั้งหมด 200 ล้านบาทต่อปี) ขณะที่กิจกรรมที่เป็นเอกลักษณ์อย่าง 100 Rock Festival ยังคงจัดอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในภูมิภาค
ขณะที่ Ballantine’s ที่เพิ่งรุกตลาดอย่างจริงจังในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ก็ปักหมุดเหนียวแน่นกับบุรินทร์ วงศ์สงวน ทั้งอีเวนต์ในผับบาร์ที่กรุงเทพฯ และการทัวร์คอนเสิร์ตทั่วประเทศ เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายคนเมืองรุ่นใหม่ วัยทำงาน โดยมีบุรินทร์ เป็นตัวแทนคนกลุ่มเป้าหมาย
ส่วน Red Label คู่แข่งในเซ็กเมนต์พรีเมียม ก็มีงาน Redioactive เน้นสีสันความมันส์ของดนตรีกระแสหลักเช่นป๊อป ร็อก เป็นหลัก ทางด้านBlack Label จะอยู่เซ็กเมนต์ซูเปอร์พรีเมียม กับคอนเซ็ปต์ Black Planet ล่าสุดเมื่อกันยายน 2553 จัดงานในธีม The Blacklist จำลองการจัดงาน After Party ของการแข่งรถฟอร์มูล่า วัน เพื่อสะท้อนความเป็นพรีเมียม
ขณะที่ไวท์สปิริตและลิเคียวร์ เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้หญิง และกลุ่มที่มีไลฟ์สไตล์ คนทำงานรุ่นใหญ่ ส่วนใหญ่เน้นธีมจัดงาน ที่เป็น Signature ของตนเองเป็นหลัก จะมีเพียง Absolut Vodka ที่จริงจังกับการทำ Music Marketing ด้วยรูปแบบของบาร์วอดก้ามา 2 ปีติดต่อกัน โดยปีนี้ใช้ชื่อว่า Absolut Iceberg Bangkok ณ พาร์คพารากอน ด้วยการใช้ศิลปินรุ่นใหม่มาแสดงมินิคอนเสิร์ตด้วยกว่า 24 ชีวิต เนื่องจากว้อดก้าจัดเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมสูงสุดในกลุ่มไวท์สปิริต Execution ด้านดนตรีจึงเริ่มแมสแต่ก็ยังไม่แมสมากพอจะใช้ศิลปินอย่างค่ายแกรมมี่และอาร์เอส
ส่วน RTD อย่าง Breezer by Bacardi เน้นดีเจชื่อดังทั้งไทยและเทศเป็นหลักเพื่อฉีกตัวสร้างความแตกต่าง ซึ่งเป็นทิศทางที่ใกล้เคียงกับ Smirnoff ด้าน Bailey’s ซึ่งเป็นลิเคียวร์ประเภทไอริช ครีม ก็เน้นจัดปาร์ตี้ผสมผสานกับแฟชั่นโชว์เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เป็นต้น
เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซับซ้อนมาก มีไลฟ์สไตล์ ไม่ยึดติดกับนักร้อง แต่ความชื่นชอบในสไตล์ของการจัดปาร์ตี้ แบรนด์ และรสชาติอยู่แล้ว ความ Loyalty จึงมีสูง หากจะเกิดการ Switch Brand ก็เป็นการเปลี่ยนไปมาในเซ็กเมนต์เดียวกัน ระดับราคาเดียวกัน โดยไม่ค่อย Trade Down ให้เห็นได้ชัด