เซ็กเมนต์ผู้ใช้แรงงาน หรือ Blue Collar นอกจากเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักและเข้มแข็งของเครื่องดื่มชูกำลัง จนตลาดนี้แข่งขันกันอย่างคึกคักแล้ว อีกเทรนด์หนึ่งที่น่าสนใจ คือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ที่กลุ่ม Blue Collar กำลังเลือกดื่มมากขึ้น โดยเฉพาะที่มาแรงอย่างนมถั่วเหลือง ชา และนมเปรี้ยว
ทั้งนี้ มีผลวิจัยจากบริษัท ฟาร์อีสท์ ดีดีบี ที่ได้สำรวจความคิดเห็นกับผู้ตอบแบบสอบถามกับกลุ่ม Blue Collar เพศชายที่มีอายุระหว่าง 20-45 ปี จำนวนทั้งหมด 200 คน ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเป็นการทำการศึกษาผ่านทาง Insights Springboard ซึ่งเป็นเครื่องมือการศึกษาเบื้องลึกของผู้บริโภคที่สามารถทำให้เข้าใจเกี่ยวกับทัศนคติ และความต้องการของผู้บริโภคและสังคมแวดล้อมได้อย่างลึกซึ้ง ดังนี้
อายุ | |
20 – 29 ปี | 38% |
30 – 39 ปี | 31% |
40 – 45 ปี | 31% |
N=200 |
อาชีพ | |
คนขับรถสาธารณะ | 46% |
คนทำงานกลางคืน | 20% |
ค้าขาย | 18% |
ผู้ใช้แรงงาน | 11% |
รับจ้างทั่วไป | 5% |
N=200 |
เขาดื่มอะไรกันอีก
จากผลการวิจัยกับกลุ่มตัวอย่าง 200 คน พบว่า นอกจากเครื่องดื่มชูกำลังแล้ว มีเครื่องดื่มพร้อมดื่มอีกหลายชนิดที่กลุ่มตัวอย่างได้ดื่มอยู่ในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น 66% บอกกับทางทีมงานว่าตนเองได้ดื่มนมถั่วเหลืองพร้อมดื่ม รวมถึงนมเปรี้ยวพร้อมดื่ม (41%) ที่หลายคนอาจจะรู้สึกแปลกใจ ถ้ามัวแต่คิดว่านมเปรี้ยวพร้อมดื่มป็นเครื่องดื่มสำหรับเด็กและผู้หญิงเท่านั้น
ประเภทเครื่องดื่มที่ดื่มใน 3 เดือนที่ผ่านมา | |
นมถั่วเหลืองพร้อมดื่ม | 66% |
ชาพร้อมดื่ม | 57% |
นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม | 41% |
เครื่องดื่มรสช็อกโกแลตพร้อมดื่ม | 41% |
นมวัวพร้อมดื่ม | 20% |
น้ำผัก/ผลไม้พร้อมดื่ม | 17% |
ซุปไก่สกัด | 8% |
รังนก | 4% |
เครื่องดื่มธัญพืชพร้อมดื่ม | 3% |
N=200 |
เมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพิ่มเติมอีกสักเล็กน้อย จะพบว่า สำหรับการดื่มนมถั่วเหลืองพร้อมดื่มของคนกลุ่มนี้นั้น กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุมากสักหน่อย (40-45 ปี) จะมีเปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ดื่มนมถั่วเหลืองพร้อมดื่มมากกว่ากลุ่มที่มีอายุน้อยกว่า ในขณะที่นมวัวพร้อมดื่มนั้นที่ในภาพรวมมีเพียง 20% ของกลุ่มตัวอย่างกลุ่มนี้ที่มีการดื่มในปัจจุจบัน พบว่า มีเปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างที่จัดอยู่ในกลุ่มที่มีอายุน้อยที่สุด (20-29 ปี) ในการศึกษาครั้งนี้ มากกว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุมากกว่า ซึ่งน่าจะมีนัยบางอย่างที่นักการตลาดอาจจะต้องนำไปศึกษาต่อยอดต่อไปอีกสักหน่อย
นมถั่วเหลืองช่วยบำรุงร่างกายเท่านั้นหรือ…
คราวนี้ เรามาดูกันว่า กลุ่มตัวอย่างเข้าใจว่านมถั่วเหลืองนั้นมีประโยชน์ต่อพวกเขาอย่างไรกันบ้าง จากการศึกษาพบว่า 69% บอกว่านมถั่วเหลืองเป็นเครื่องดื่มที่ให้ประโยชน์และบำรุงร่างกาย ซึ่งเราไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มอายุในประเด็นนี้ แต่ถ้าเป็นในประเด็นของการมีโปรตีนสูงและคุณสมบัติในแง่ของการให้พลังงานแก่ร่างกายแล้ว จากการวิเคราะห์พบว่ามีจำนวนของกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุระหว่าง 40-45 ปี มากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีอายุน้อยกว่า ที่เข้าใจในคุณประโยชน์ของนมถั่วเหลืองด้านนี้
ความเข้าใจต่อประโยชน์ของนมถั่วเหลือง | |
มีประโยชน์ต่อร่างกาย/บำรุงร่างกาย | 66% |
ช่วยให้อิ่ม สบายท้อง | 57% |
มีโปรตีนสูง | 41% |
ให้พลังงานแก่ร่างกาย | 41% |
มีคุณค่าทางโภชนาการสูง | 20% |
ช่วยบำรุงสมอง | 17% |
ดื่มแทนอาหารมื้อหลักได้ | 8% |
ดื่มแล้วช่วยเคลือบกระเพาะอาหาร | 4% |
ดีต่อระบบขับถ่าย | 3% |
อื่นๆ* | 4% |
*อื่นๆ เช่น ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน ดื่มง่าย ไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่ทำให้เกิดอาการแพ้(เพราะเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ) ฯลฯ | |
N=200 |
อะไรคือเครื่องดื่มที่ไม่คิดจะซื้อมาดื่ม
อย่างไรก็ตาม ในมุมกลับกัน ทีมงานเชื่อว่าน่าจะมีเครื่องดื่มบางประเภทในกลุ่มนี้ ที่กลุ่มตัวอย่างอาจจะปฏิเสธที่จะซื้อมาดื่ม จึงตั้งคำถามขึ้นอีกหนึ่งคำถามเพื่อ Cross Check ดูและก็พบว่า เครื่องดื่มประเภทซุปไก่สกัดและรังนกติดโผเป็นเครื่องดื่มที่คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มจะปฏิเสธมากกว่าใครเพื่อน
ประเภทเครื่องดื่มที่ไม่คิดจะซื้อมาดื่ม | |
รังนก | 25% |
ซุปไก่สกัด | 25% |
เครื่องดื่มธัญพืชพร้อมดื่ม | 15% |
นมถั่วเหลืองพร้อมดื่ม | 5% |
N=200 |
ที่จริงแล้ว ก็คงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไร เพราะว่าสาเหตุหนึ่งที่คนกลุ่มนี้ไม่คิดจะซื้อมาดื่มก็น่าจะไม่พ้นเรื่องของราคาของสินค้าที่ไปกันคนลทิศละทางกับรายได้ที่หาได้ในแต่ละเดือนซึ่งต้องนำไปใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพของตัวเองและครอบครัว ทีมงานเชื่อเหลือเกินว่า ลึกๆ แล้ว คนกลุ่มนี้ก็คงอยากจะดื่มผลิตภัณฑ์ประเภทนี้อยู่บ้างไม่มากก็น้อย และเขาเหล่านี้ก็คงกำลังรอคอยให้มีผลิตภัณฑ์นี้ในเวอร์ชั่นที่อยู่ในระดับราคาที่หาซื้อได้ (ในบางโอกาส) อย่างไม่ลำบากใจ
มองให้กว้างขึ้นมาอีกนิด
จากการนำข้อมูลทั้งหมดว่าทำการวิเคราะห์เพิ่มเติมด้วย Perceptual Mapping เราพบข้อมูลที่อาจจะน่าสนใจสำหรับนักการตลาดดังนี้ ในมุมมองของกลุ่มตัวอย่าง เมื่อนำเครื่องดื่มที่อยู่ในกลุ่มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพทั้งหมดดูมาเปรียบเทียบกัน
เครื่องดื่มนํ้าผักผลไม้ ถูกมองว่าเป็นเครื่องดื่มสำหรับผู้หญิงเท่านั้น ในขณะที่เครื่องดื่มธัญพืชและเครื่องดื่มประเภทนมเปรี้ยวนั้น กลุ่มตัวอย่างมีความเชื่อมโยงกับการเป็นเครื่องดื่มที่ดื่มแล้วทำให้รู้สึกว่าเป็นคนที่ใส่ใจในสุขภาพ
- และนมถั่วเหลืองและนมวัวมีความใกล้เคียงกันในหลายประเด็นดังนี้
- เป็นเครื่องดื่มที่ให้พลังงาน
- ดื่มแล้วอิ่มท้อง
- เป็นเครื่องดื่มที่ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน
- เป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางอาหารสูง
ส่วนเครื่องดื่มประเภทรังนกและซุปไก่สกัดนั้น ได้รับการมองว่าเป็นเครื่องดื่มที่ดื่มแล้วรู้สึกเป็นคนทันสมัยและที่น่าสนใจก็คือ ในการศึกษาครั้งนี้ยังไม่พบว่ามีเครื่องดื่มใด (ยกเว้นกาแฟกระป๋อง) ที่กลุ่มตัวอย่างจะมองว่า เป็นเครื่องดื่มที่สามารถดื่มทดแทนเครื่องดื่มบำรุงกำลังได้อย่างจริงจัง
Blue Collar เริ่มสนใจสุขภาพบ้างแล้ว
ปิดท้ายด้วยมุมมองเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของคนกลุ่มนี้ ซึ่ง 60% ของกลุ่มตัวอย่างยอมรับว่าตนเองได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอไม่ต่ำกว่าวันละ 6 ชั่วโมง นอกจากนั้นก็จะมีประเด็นอื่นๆ อีก ดังแสดงในภาพต่อไปนี้
ทัศนคติต่อการดูแลสุขภาพ | |
ผมดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว | 59% |
ผมเริ่มที่จะสนใจข้อมูลข่าวสารเกี่นวกับการดูแลสุขภาพ | 52% |
เครื่องดื่มที่เพิ่มสารอาหารหรือวิตามินเป็นสิ่งที่น่าสนใจ | 48% |
การตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้งเป็นสิ่งจำเป็น | 45% |
%ของผู้ที่เห็นด้วยกับแต่ละข้อความ | |
N=200 |
สุดท้ายนี้ ทีมวิจัยเชื่อเหลือเกินว่า ข้อมูลในครั้งนี้ อาจจะช่วยเป็นแรงบันดาลใจ (Inspire) ให้ผู้ประกอบการและนักการตลาดคิดค้นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่สามารถเข้าใจถึงกลุ่ม Blue Collar ซึ่งน่าจะกำลังค่อยๆ มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านทัศนคติและพฤติกรรมเกี่ยวกับเครื่องดื่มต่างๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อาจจะต้องมีแรงผลักดันบ้างบางส่วนจากผู้ผลิตสินค้า เพื่อกระตุ้นให้เกิดหรือสร้างกระแสใหม่ๆ หรือความต้องการใหม่ๆ ท่ามกลางกลุ่มเป้าหมายที่มักจะถูกมองว่าเป็นคนใช้แรงงาน แต่อาจจะกำลังเป็นคลืนใต้น้ำที่ก่อตัวเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่มี่ความคิดความอ่าน รวมถึงความต้องการที่เปลี่ยนไป ซึ่งจากเดิมอาจจะเป็นเพียง Blue Collar แต่ในอนาคตอาจจะพัฒนาไปเป็น Super Blue Collar ก็ได้ ใครเลยจะรู้