อินไซต์ ‘บอลยูโร 2020’ ไม่คึกคัก คนไทยใช้จ่ายลด เงินสะพัดต่ำสุดรอบ 10 ปี ความเชื่อมั่นฟื้นช้า

Photo : Shutterstock
บอลยูโร 2020ไม่คึกคัก เจอพิษโควิดซัด คนไทยใช้จ่ายลด เงินสะพัดต่ำสุดในรอบ 10 ปี กว่า 50% ติดตามน้อยถึงไม่สนใจ

จากผลสำรวจของ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ถึงพฤติกรรมและการใช้จ่ายของผู้บริโภค ในช่วงมหกรรมฟุตบอลยูโร ปี 2020” จากกลุ่มตัวอย่าง 1,200 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15-18 มิถุนายน 2564 พบว่า

ประชาชนส่วนใหญ่ใช้จ่ายน้อยลงทั้งในส่วนของการใช้จ่ายในระบบและนอกระบบ ผลกระทบหลักๆ มาจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เงินสะพัดโดยรวมในช่วงการเเข่งขันฟุตบอลยูโร 2020 ลดลงถึง 20.3% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี มูลค่าอยู่ที่ 62,440 ล้านบาท โดยเลือกใช้จ่าย 5 อันดับสูงสุดได้เเก่

  • ซื้ออาหาร เครื่องดื่ม 98.1 %
  • ซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ /อุปกรณ์รับสัญญาณ 64%
  • ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า 60.5%
  • ซื้ออุปกรณ์กีฬา 38.9 %
  • เล่นการพนัน 27.5%

เเยกเป็นเงินสะพัดในระบบอย่างการซื้อสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์การดูฟุตบอล และอาหารจัดเลี้ยง อยู่ที่ราว 15,200 ล้านบาท ลดลง 15.1%

ส่วนเงินสะพัดนอกระบบ จากการพนันฟุตบอล อยู่ที่ราว 45,800 ล้านบาท ลดลง 22.3% มีเป้าหมายเพื่อต้องการเงินรางวัล มากกว่าแฟชั่นหรือความสนุกสนาน ส่วนใหญ่เลือกเล่นผ่านช่องทางออนไลน์มากที่สุด ตามด้วยคนรู้จักแนะนำ

มีการใช้เงินในแต่ละนัดเฉลี่ย 1,000-5,000 บาท โดยที่มาของเงินมาจากเงินออมและรายได้ปกติ

อย่างไรก็ตาม คาดว่าเม็ดเงินที่สะพัดในช่วงฟุตบอลยูโร จะมีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมในปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.1% ซึ่งหากดูการขยายตัวเฉพาะไตรมาส 3 จะกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม 0.3% ส่วนการขยายตัวทั้งปีของเศรษฐกิจไทย คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2-2.5%  

จากการสำรวจ ยังพบว่า ประชาชน 50% ติดตามน้อยถึงไม่สนใจ เเละอีก 50% ติดตามเหมือนเดิมและสนใจมากขึ้น

ด้านการติดตามนั้น จะเป็นจากญาติหรือเพื่อน 53.5% โทรทัศน์ 49.8% ตามมาด้วยสื่อโซเชียล 47% เว็บไซต์ 41% หนังสือพิมพ์เเละนิตยสาร 8.3% วิทยุ 1.8% ส่วนใหญ่ติดตามรอบแรกและรอบชิง

โดยทีมที่คนไทยเชียร์มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้เเก่ อังกฤษ โปรตุเกส ฝรั่งเศส อิตาลี เบลเยียม

ส่วนทีมที่คาดจะได้คว้าแชมป์ยูโร 2020 คือ ฝรั่งเศส โปรตุเกส อิตาลี เยอรมัน และเบลเยียม เเละคาดว่าคู่ชิงอันดับแรกคือ อิตาลีฝรั่งเศส อันดับ 2 คือ เบลเยียมฝรั่งเศส อันดับ 3 คือ อิตาลีโปรตุเกส

ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มองว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่มียอดการติดเชื้อ และสายพันธุ์เดลต้ายังกระจายอยู่ จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้า และมีผลต่อจิตวิทยาของผู้บริโภค 

หากรัฐกระจายวัคซีนได้ดีขึ้น อาจจะทำให้ผู้บริโภคมีความหวังเเละกลับมากล้าใช้จ่ายอีกครั้ง

ส่วนมาตรการภาครัฐที่เยียวยาประชาชน อย่าง โครงการคนละครึ่งที่ให้วงเงินคนละ 3,000 บาท ยังน้อยไปที่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนมาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้ก็ยังค่อนข้างอืด

โดยหากเปิดประเทศได้ คาดว่าในช่วงไตรมาส 4 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 1 ล้านคน เม็ดเงินสะพัดราว 5-6 หมื่นล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มได้ประมาณ 0.2-0.3% ซึ่งหากโมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ได้ผลดีเชื่อว่าจะสร้างความเชื่อมั่นได้