ผู้คนทั่วโลกกว่า 5 ล้านคน ขึ้นเเท่นเป็น ‘เศรษฐี’ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนเเรงที่สุดในรอบศตวรรษ ด้วยเเรงสนับสนุนของตลาดหุ้น บ้านเเละที่ดิน ปรับราคา ‘เเพงขึ้น’
งานวิจัยความมั่งคั่งของประชากรโลก หรือ ‘Global Wealth Report’ ฉบับล่าสุด โดย Credit Suisse ระบุว่า ปี 2020 ที่ผ่านมา จำนวนเศรษฐีเงินล้าน (Millionaires) เพิ่มขึ้น 5.2 ล้านคน เป็น 56.1 ล้านคนทั่วโลก ขณะที่คนยากจนยิ่งจนลงเรื่อยๆ ในช่วงโรคระบาดโควิด-19
โดยประชากรวัยผู้ใหญ่มากกว่า 1% ก้าวสู่สังคม ‘เศรษฐีเงินล้าน’ เป็นครั้งแรก จากปัจจัยการฟื้นตัวของ ‘ตลาดหุ้น’ และ ‘ราคาบ้านและที่ดิน’ ที่ปรับตัวสูงขึ้น ช่วยเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินให้คนเหล่านี้
Anthony Shorrocks นักเศรษฐศาสตร์และผู้เขียนรายงานฉบับนี้ กล่าวว่า การระบาดใหญ่ส่งผลกระทบ ‘ระยะสั้น’ ต่อตลาดมั่งคั่ง
โดยเห็นได้ว่า ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2020 ตลาดหุ้นตกอยู่ในภาวะ ‘ขาลง’ ก่อนที่จะพลิกกลับมาเติบโตได้ในช่วงครึ่งปีหลัง นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา
“ไม่ใช่เเค่ทรงตัวได้เมื่อยามเผชิญวิกฤต เเต่ตลาดมั่งคั่งทั่วโลก กลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งปีหลัง”
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ แม้จะมีเศรษฐีเพิ่มมากขึ้น แต่งานวิจัยก็พบว่า หากตัดปัจจัยด้าน ‘อสังหาริมทรัพย์’ ออกไปความมั่งคั่งของครัวเรือนทั่วโลกก็อาจจะลดลง โดยคนที่รวยเเค่ระดับมีกินมีใช้ส่วนใหญ่อยู่ในระดับเท่าเดิมเเละหลายรายน้อยลงกว่าเดิม
การกระตุ้นเศรษฐกิจของบรรดาธนาคาร ส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น และตลาดหุ้นขยับขึ้น เเต่หากต่อไปมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย มูลค่าสินทรัพย์เหล่านี้ก็จะลดลงตามไปด้วย
จากผลวิจัยโดยรวม พบว่า ในปี 2020 ความมั่งคั่งทั่วโลก เติบโตที่ 7.4% และนับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 ประชาชนผู้ถือครองทรัพย์สิน ระหว่าง 10,000-100,000 ดอลลาร์สหรัฐ มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าจาก 507 ล้านคนในปี 2000 มาอยู่ที่ 1,700 ล้านคนในช่วงกลางปี 2020
การขยายตัวนี้ สะท้อนให้เห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยเฉพาะจีน ที่มีการขยายตัวของชนชั้นกลางมากที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
ขณะเดียวกัน นโยบายเเละกฎระเบียบของภาครัฐ เเละการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกในช่วงโรคระบาด ก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดการกระจายรายได้ทั่วถึงมากขึ้น
Nannette Hechler-Fayd’herbe หัวหน้าสายงานด้านการลงทุนของ Credit Suisse ให้ความเห็นว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลต่างๆ เเม้จะช่วยพยุงเศรษฐกิจให้เดินหน้าในช่วงวิกฤต เเต่ก็มี ‘ราคาที่ต้องจ่าย’ เเละต้องระมัดระวัง โดยขณะนี้ ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ในหลายประเทศทั่วโลก ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 20%
- COVID-19 เร่ง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ให้ร้าวลึก เศรษฐีรวยเเล้วรวยอีก คนจนยิ่งจนลง
- จัดการเงิน ‘กงสี’ ยุคใหม่อย่างไร ? KBank ปรับทิศทางบริหารพอร์ตครอบครัวเศรษฐี 1.2 แสนล้าน
ที่มา : BBC , Global Wealth Report