‘Nike’ ยังแกร่ง! ทำรายได้ทะลุ 3.9 แสนล้านบาท โต 96%

ย้อนไปเมื่อช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ปี 2020 ‘Nike’ (ไนกี้) ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้มีรายได้เพียง 6.31 พันล้านดอลลาร์ ลดลงมากถึง -38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่โดยมียอดขาดทุนสุทธิ 790 ล้านดอลลาร์ แต่จากนั้นไนกี้ก็ปรับตัวโดยการมุ่งไปที่ออนไลน์จนสามารถพลิกสถานการณ์กลับมาได้ และในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ปี 2021 หรือไตรมาสที่สี่ของปีงบประมาณ ไนกี้สามารถทำรายได้ถึง 3.92 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 96%

ถือว่าฟื้นคืนชีพจากที่เคยโดนพิษโควิดเล่นงานอย่างสวยงาม เพราะเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ไนกี้สามารถเติบโตได้ถึง 96% โดยทำรายได้ถึง 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์หรือราว 3.92 แสนล้านบาท ขณะที่ไตรมาสก่อนหน้าทำรายได้ที่ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ จากการเติบโตดังกล่าวทำให้หุ้นของไนกี้พุ่งขึ้น 12% ส่งผลให้มูลค่าบริษัทอยู่ที่ 7.6 ล้านล้านบาท

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ไนกี้สามารถเติบโตอย่างมากมาจากผู้บริโภคที่ยังมองหาเสื้อผ้าที่ใส่สบายและเสื้อผ้าสำหรับออกกำลังกาย แม้ว่าคนจะเริ่มกลับไปโรงเรียนหรือออฟฟิศแล้วก็ตาม แต่คนก็ยังมองหารองเท้าผ้าใบและกางเกงผ้ายืดเพื่อใส่ออกไปนอกบ้าน ขณะที่ยอดขายจากช่องทางออนไลน์ก็เติบโตขึ้นถึง 41% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเพิ่มขึ้นถึง 147% เมื่อเทียบกับสองปีก่อน

นอกจากนี้ การทำรูปแบบสมาชิกยิ่งช่วยขับเคลื่อนธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยการซื้อออนไลน์จากสมาชิกซึ่งได้รับสิทธิ์เข้าถึงผลิตภัณฑ์พิเศษและสิทธิพิเศษอื่น ๆ ก่อนลูกค้าทั่วไป ทำให้ไนกี้มียอดขายทำสถิติสูงถึง 3 พันล้านดอลลาร์ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปัจจุบัน ไนกี้มีสมาชิกมากกว่า 300 ล้านคนทั่วโลก

“ด้วยแรงผลักดันจากโมเมนตัมของเรา เรายังคงลงทุนในนวัตกรรมและความเป็นผู้นำด้านดิจิทัลของเรา เพื่อสร้างรากฐานสำหรับการเติบโตในระยะยาวของ Nike” John Donahoe ซีอีโอของ Nike กล่าว

(Photo by Noam Galai/Getty Images)

ด้านภูมิภาคที่ไนกี้สามารถทำได้ดีก็คือ อเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท (46%) โดยยอดขายพุ่งขึ้นกว่า 141% ทำรายได้เป็น 5.38 พันล้านดอลลาร์ ส่วน ยุโรป, ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (25%) ยอดขายเพิ่มขึ้น 124% ด้าน เอเชียแปซิฟิก และละตินอเมริกา (13%) ยอดขายเติบโต 82%

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของจีน (16%) หนึ่งในตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดของบริษัทกลับเติบโตได้เพียง 17% ซึ่งสาเหตุอาจมาจากที่ไนกี้เคยถูกแบนเพราะบริษัทได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับข้อกล่าวหาเรื่องการบังคับใช้แรงงานในซินเจียง

“จากประวัติศาสตร์ 40 ปีของเราในจีนแผ่นดินใหญ่ เรายังคงลงทุนอย่างต่อเนื่องในการให้บริการผู้บริโภคด้วยผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดที่ โดยไนกี้นำเสนอในรูปแบบสินค้าที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นCFO Matt Friend กล่าว

ทั้งนี้ ปัญหาด้านโลจิสติกส์ยังคงเป็นสิ่งที่ไนกี้ให้ความกังวล โดยคาดว่าจะยังมีความล่าช้าในระบบซัพพลายเชน รวมถึงต้นทุนที่จะยิ่งสูงขึ้นตลอดปีงบประมาณ 2565 โดยไนกี้คาดว่าการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และการขาดแคลนคนขับรถบรรทุก รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ จะทำให้การขนส่งสินค้าตั้งแต่จากท่าเรือไปยังโกดังสินค้าไปจนถึงบ้านของผู้ซื้อเป็นไปอย่างล่าช้า และจะยังเป็นปัญหาต่ออุตสาหกรรมค้าปลีกไปอีกหลายเดือน

Source