จับตาปัญหา ‘พลังงานขาดแคลน’ ครั้งใหญ่ของ ‘จีน’ ที่ส่อแววสร้างปัญหาซัพพลายเชนทั่วโลก

ประเทศจีนกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านพลังงานครั้งใหญ่ เนื่องจากสภาพอากาศเลวร้าย ความต้องการพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น และการจำกัดการใช้ถ่านหินที่เข้มงวด ส่งผลให้โครงข่ายไฟฟ้าของประเทศได้รับผลกระทบถึงสามเท่า มันเป็นปัญหาที่อาจกระทบไปถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงผลกระทบต่อการค้าโลก

ปัญหาดังกล่าวนับเป็นปัญหาการขาดแคลนพลังงานที่เลวร้ายที่สุดในจีนนับตั้งแต่ปี 2554 เมื่อภัยแล้งและราคาถ่านหินที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ 17 จังหวัดหรือภูมิภาคต่าง ๆ ต้องควบคุมการใช้ไฟฟ้า โรงไฟฟ้าไม่เต็มใจที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวนมากเมื่อถ่านหินที่เผามีราคาแพง ขณะที่ปักกิ่งควบคุมต้นทุนพลังงาน ดังนั้นผู้ผลิตจึงไม่สามารถขึ้นราคาได้ง่าย ๆ

สาเหตุหนึ่งที่ราคาถ่านหินพุ่งขึ้นมาจาก ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ต้องการให้จีนปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2060 ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่ทะเยอทะยานสำหรับประเทศที่ใช้ถ่านหินรายใหญ่ที่สุดของโลก ทำให้เหมืองถ่านหินของประเทศผลิตน้อย ลงส่งผลให้ราคาสูงขึ้น เหยา เป่ย หัวหน้านักยุทธศาสตร์ของบริษัทโบรกเกอร์ Soochow Securities ของจีนกล่าว

มณฑลเกือบ 12 มณฑลในจีนกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านพลังงานในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา อาทิ มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตที่มีมูลค่าถึง 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นมากกว่า 10% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจประจำปีของจีนกำลังเจอปัญหาด้านพลังงานทำให้ บริษัทต่าง ๆ ในมณฑลต้องปิดตัวลง 2-3 วัน/สัปดาห์ เพื่อแบ่งสันปันส่วนในการใช้พลังงาน ซึ่งหน่วยงานท้องถิ่นคาดการณ์ว่าสถานการณ์ดังกล่าวอาจคงอยู่ยาวจนถึงสิ้นปี

จีนกระทบเท่ากับโลกกระทบ

การขาดแคลนนั้นอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของจีน และอาจเป็นการเพิ่มปัญหาให้กับซัพพลายเชนทั่วโลกที่กำลังเจอกับวิกฤตนับตั้งแต่การระบาดเริ่มดีขึ้น โดย Yan Qin หัวหน้านักวิเคราะห์คาร์บอนของ Refinitiv กล่าวว่า “การปันส่วนพลังงานจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การขาดแคลนไฟฟ้าสามารถลดการผลิตในแทบทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ รวมถึงอุตสาหกรรมการก่อสร้างและการผลิตที่สำคัญ สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ในปีที่แล้วธุรกิจดังกล่าวใช้ไฟฟ้าเกือบ 70% และเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการฟื้นตัว ในปี 2564

Chengde New Material ซึ่งมีฐานอยู่ในกวางตุ้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเหล็กกล้าไร้สนิมรายใหญ่ที่สุดของประเทศ บอกกับลูกค้าเมื่อปลายเดือนที่แล้วว่าทางบริษัทจะ ปิดการดำเนินงานเป็นเวลา 2 วันต่อสัปดาห์ จนกว่าจะไม่มีการปันส่วนพลังงานอีกต่อไป บริษัทคาดว่าปริมาณการผลิตจะลดลง -20% หรือมากถึง 10,000 ตัน ต่อเดือน

“บริษัทสมาชิกของหอการค้ามากถึง 80 แห่งในจีนอาจได้รับผลกระทบจากคำสั่งของรัฐบาลให้ระงับการดำเนินงานเป็นเวลาสองสามวันต่อสัปดาห์ บริษัทบางแห่งถึงกับเริ่มเช่าเครื่องปั่นไฟดีเซลราคาแพงเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้” Klaus Zenkel ประธานหอการค้าสหภาพยุโรปในจีนตอนใต้กล่าว

การลดกำลังการผลิตทั่วประเทศจีนยังเสี่ยงต่อการเพิ่มปัญหาให้กับซัพพลายเชนทั่วโลกที่ตึงตัวอยู่แล้ว เพราะแค่กวางตุ้งเพียงแห่งเดียวคือศูนย์กลางการผลิตซึ่งคิดเป็น 1 ใน 4 ของการค้าทั้งหมดของจีน ตั้งแต่ เสื้อผ้า ของเล่น และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

“ปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้า อาจยิ่งทำให้การขนส่งทั่วโลกเกิดความล่าช้า” Henning Gloystein ผู้อำนวยการฝ่ายพลังงาน สภาพภูมิอากาศ และทรัพยากรของ Eurasia Group กล่าว

ไม่ใช่แค่ปัญหาด้านพลังงาน เพราะมณฑลกวางตุ้ง กำลังเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาด้านการขนส่งอยู่ในปัจจุบัน การจัดส่งที่ค้างอยู่อาจใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะเคลียร์ และนำไปสู่การขาดแคลนสินค้าเทศกาลช้อปปิ้งช่วงวันหยุดสิ้นปี

ลดใช้ถ่านหินแต่พลังงานหมุนเวียนไม่พอ

Lauri Myllyvirta หัวหน้านักวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศบริสุทธิ์ กล่าวว่า ถ่านหินยังคงมีส่วนร่วมถึง 60% ของการใช้พลังงานของประเทศ แต่รัฐบาลระวังว่าตัวเลขดังกล่าวจะพุ่งสูงขึ้น และได้พยายามลดการใช้ถ่านหิน เพื่อเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2060 อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดในการใช้ถ่านหินนั้นอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องการใช้พลังงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขณะที่ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาด้านสภาพอากาศ นั่นทำให้เกิดความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างอุปสงค์และอุปทาน

อากาศร้อนจัดในบางพื้นที่ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้คนใช้เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นมากขึ้น ในขณะเดียวกันมีความตึงเครียดอย่างมากในการผลิตพลังงานแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น ไฟฟ้าพลังน้ำ ที่จีนกำลังประสบปัญหาภัยแล้ง

Gloystein ของ Eurasia Group กล่าวว่า การนำเข้าถ่านหินมีราคาแพงมาก ซึ่งราคาได้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในปีที่แล้ว นอกจากความตึงเครียดทางการค้ากับออสเตรเลียที่ปี 2019 มีส่วนสำคัญในการนำเข้าถ่านหินของจีนเกือบ 60% แต่เมื่อปีที่แล้ว ออสเตรเลียได้เรียกร้องให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับต้นกำเนิดของ COVID-19 ในจีน ทำให้จีนหันไปนำเข้าถ่านหินจากอินโดนีเซียและแอฟริกาใต้เพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยการขาดดุล แต่นั่นก็ไม่ได้เติมเต็มช่องว่าง

“สิ่งนี้ทำให้สาธารณูปโภคบางอย่างของจีนขาดแคลนเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้า และคงเป็นเรื่องยากที่จะได้รับอุปทานเพิ่มเติมในเวลาอันสั้นจากประเทศต่าง ๆ เช่น อินโดนีเซีย”

ปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปอย่างน้อยในหลายเดือนข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความต้องการยังคงสูงในช่วงฤดูร้อน Qin จาก Refinitiv กล่าวว่า ยังมีความเสี่ยงที่สำคัญที่ภาคใต้และภาคกลางของจีนที่จะต้องแบ่งปันส่วนพลังงานต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสภาพอากาศร้อนกว่าปกติ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็มีทางเลือกอื่น เช่น กลับลำมานำเข้าถ่านหินของออสเตรเลีย แม้ว่านั่นจะทำให้ ปักกิ่งดูค่อนข้างอ่อนแอ

ท้ายที่สุด ทางการอาจต้องคิดที่จะปรับเป้าหมายด้านสภาพอากาศลงบางส่วน เพราะปัญหาที่จีนต้องเผชิญคือ จะตอบสนองความต้องการด้านไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ต้องการลดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างไร เพราะในขณะที่จีนกำลังพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียนจำนวนมาก แต่แหล่งเหล่านั้นก็ยังไม่เสถียรเท่ากับแหล่งที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

Source