-
สถานการณ์ “ไทยเวียตเจ็ท” หลังผู้ติดเชื้อพุ่ง อัตราผู้โดยสารต่อที่นั่งทั้งหมด (Load Factor) ลดเหลือ 72% แต่ประเมินระยะสั้นกระทบน้อย ผู้โดยสารในประเทศ ณ ขณะนี้ เป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องเดินทางอยู่แล้ว
-
ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ปัจจุบันยังไม่ได้อานิสงส์ เพราะนักท่องเที่ยวมาจากโซนยุโรป ขณะที่เส้นทางบินของบริษัทอยู่ในเอเชีย
-
รอลุ้นประเทศในเอเชียเปิดให้นักท่องเที่ยวขากลับเข้าประเทศไม่ต้องกักตัว หรือเปิด Travel Bubble กับภูเก็ต
-
ปีนี้เตรียมเพิ่มฝูงบิน 7 ลำ และเพิ่มเส้นทางบินใหม่ 2-3 จุดในเอเชีย แก้ปัญหาเที่ยวบินดีเลย์ และเตรียมรับท่องเที่ยวบูมช่วงไตรมาสสุดท้าย
“วรเนติ หล้าพระบาง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยเวียตเจ็ท เปิดเผยสถานการณ์ของบริษัทหลังจำนวนผู้ติดเชื้อในไทยพุ่งขึ้นอีกครั้ง ในรอบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาอัตราผู้โดยสารต่อที่นั่งทั้งหมด (Load Factor) ลดเหลือ 72% จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ 78%
วรเนติมองว่า ตัวเลขดังกล่าวลดลงไม่มาก เนื่องจากเที่ยวบินในประเทศขณะนี้มีผู้โดยสารหลักเป็นกลุ่มที่ ‘จำเป็น’ ต้องเดินทางอยู่แล้ว เช่น เดินทางเพื่อเยี่ยมญาติ เดินทางเชิงธุรกิจ มีกลุ่มเดินทางเพื่อท่องเที่ยวไม่สูง
ภาพระยะสั้นการเดินทางในประเทศน่าจะทรงตัวระดับนี้ จนกว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเริ่มนิ่งอีกครั้ง และมีผู้ที่ได้รับวัคซีนเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้นักท่องเที่ยวกลับมามั่นใจในการเดินทาง
ยังไม่ได้อานิสงส์ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์”
ด้านการเริ่มเปิดประเทศโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” วรเนติระบุว่า ไทยเวียตเจ็ทยังไม่ได้ประโยชน์ ณ ขณะนี้ เนื่องจากกลุ่มนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เข้ามายังมาจากฝั่งยุโรปเป็นหลัก ขณะที่บริษัทเป็นสายการบินแถบทวีปเอเชีย มีเส้นทางบินเข้า-ออกภูเก็ตจาก 2 ประเทศคือ เวียดนาม (โฮจิมินห์และญาจาง) และจีน (เจิ้งโจว, ฉางชา, จี้หนาน, ซีหนิง, อี้ชาง และฮูฮอต) (*ปัจจุบันยังไม่กลับมาบินเส้นทางต่างประเทศ)
แม้ว่าภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์จะเปิดให้ชาวจีนและเวียดนามเดินทางเข้าได้ แต่เนื่องจากทั้งสองประเทศยังไม่เอื้ออำนวยให้คนของประเทศตนออกท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยประเทศจีนยังไม่อนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศ ส่วนเวียดนาม นักท่องเที่ยวที่เดินทางออกจะต้องกักตัว 7 วันเมื่อกลับเข้าประเทศ ทำให้ยังไม่มีดีมานด์เข้ามา
ลุ้นสัญญาณประเทศแถบเอเชีย
อย่างไรก็ตาม วรเนติมองว่ามีสัญญาณที่ดีที่บางประเทศในแถบเอเชียอาจปลดล็อกให้นักท่องเที่ยวออกเดินทางต่างประเทศได้สะดวกขึ้น
ยกตัวอย่าง เวียดนาม กำลังจับตามองความสำเร็จของภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ เพื่อนำไปใช้กับบางแหล่งท่องเที่ยวของตนด้วย เช่น ฟูก๊วก ฮาลองเบย์ และอาจจะมีการเจรจา Travel Bubble กับภูเก็ต เพื่อให้มีนักท่องเที่ยวไปมาระหว่างกัน
ส่วนประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งมีแผนจะฉีดวัคซีนให้ประชากรครบ 100% ภายในเดือนตุลาคมนี้ หรือ เกาหลีใต้ ซึ่งคืบหน้าไปมากในการฉีดวัคซีนให้ประชากร ประเทศกลุ่มนี้อาจเปิดให้ออกต่างประเทศได้เร็วหลังฉีดวัคซีน
ในขณะที่ ไต้หวัน นั้นยังติดปัญหาการรับวัคซีนที่ค่อนข้างช้า หรือสิงคโปร์แม้จะฉีดวัคซีนไปถึง 50% ของประชากรแต่แนวโน้มยังตั้งการ์ดสูงในการเปิดประเทศ และเป็นไปได้ที่จะพิจารณาคู่ค้ากับดินแดนที่ได้ประโยชน์ซึ่งกันและกันก่อน เช่น ฮ่องกง ออสเตรเลีย ส่วน จีน ยังคาดเดานโยบายได้ยาก แม้ว่าวันนี้จีนจะส่งสัญญาณ ‘ถอดหน้ากากอนามัย’ แล้วแต่เป็นไปได้ว่าจีนอาจให้ความสำคัญกับการฟื้นท่องเที่ยวในประเทศก่อน
เพิ่มฝูงบิน 7 ลำแก้ดีเลย์ เพิ่มคอลเซ็นเตอร์
วรเนติคาดหวังว่า การเดินทางในประเทศน่าจะปรับตัวดีขึ้นช่วงเดือนสิงหาคมนี้ ส่วนเส้นทางต่างประเทศน่าจะเริ่มดีขึ้นช่วงตุลาคมเป็นต้นไป โดยหวังว่าการเปิดประเทศภายใน 120 วันจะเป็นผลสำเร็จ
ไทยเวียตเจ็ทได้เตรียมรองรับการเดินทางที่น่าจะเป็นขาขึ้นแล้ว โดยเช่าเครื่องบินจากบริษัทแม่เพิ่มอีก 7 ลำ จากเดิมมีอยู่ 15 ลำ ซึ่งน่าจะได้รับมอบภายในปีนี้ (เริ่ม 1 ลำแรกที่เข้ามาแล้วในเดือนกรกฎาคม)
การเพิ่มจำนวนเครื่องบินนี้เป็นกลยุทธ์เพื่อแก้ปัญหาการดีเลย์ของเที่ยวบิน และเตรียมเพิ่มเส้นทางบินในอนาคต
“เรายอมรับว่าเราเคยมีปัญหาเรื่องการดีเลย์ ทำให้คนจดจำเราในทางนี้ แต่ขอเรียนว่าปัญหาหนักได้เกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายมีนาคมถึงต้นเมษายนที่ผ่านมา ปัจจุบันเรามีอัตราการบินตรงเวลา 90% แล้ว และพยายามปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อเนื่องโดยการนำเครื่องบินเข้ามาเพิ่ม” วรเนติกล่าว
นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุง “คอลเซ็นเตอร์” ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกลูกค้าตำหนิสูงในช่วงที่ผ่านมาเช่นกัน โดยมีการเพิ่มจำนวนพนักงานแล้ว และเปิดระบบ self-service manage booking เพื่อลดภาระคอลเซ็นเตอร์ จนปัจจุบันลดเวลาการรอสายคอลเซ็นเตอร์เหลือ 3 นาที จากเดิมมากกว่า 10 นาที
เปิดรูทใหม่ 2-3 เส้นทาง
ส่วนการเปิดเส้นทางบินใหม่นั้นอยู่ระหว่างขออนุญาต โดยวรเนติแย้มว่าจะมี 2-3 เส้นทางใหม่ภายในปีนี้ ทั้งหมดเป็นเส้นทางต่างประเทศในแถบเอเชีย (ยังไม่ระบุว่าเป็นประเทศใดและเป็นประเทศใหม่ที่ยังไม่เคยเปิดบินมาก่อนหรือไม่)
ภาพรวมจนถึงสิ้นปี 2564 วรเนติประเมินว่าจะดีขึ้นจากปีก่อน โดยไทยเวียตเจ็ทมีผู้โดยสารรวมปีก่อน 3 ล้านคน ปัจจุบันครึ่งปีแรก 2564 มีผู้โดยสารแล้วเกือบ 2 ล้านคน เชื่อว่าจนถึงสิ้นปีน่าจะมีผู้โดยสารแตะ 5 ล้านคนได้ โดยความหวังอยู่ที่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี
“ทุกอย่างอยู่ที่วัคซีน ถ้าคนฉีดได้เยอะและเร็วก็จะฟื้นเร็ว ถ้าไม่แก้ตรงนี้ปัญหาก็จะเป็นงูพันหาง รัฐบาลจะได้แต่ใช้เงินถมลงไป” วรเนติให้ความเห็น
เขายังแนะด้วยว่า การผ่อนคลายกิจการปัจจุบันควรให้คนที่ได้รับวัคซีนแล้วเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะกลุ่มที่ฉีดวัคซีนแล้วมักจะมั่นใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น มีการเดินทางท่องเที่ยว หรือกรณีร้านอาหาร มองว่าถ้าสามารถเปิดโมเดลให้ร้านที่พนักงานฉีดวัคซีนแล้วและรับเฉพาะผู้ที่รับวัคซีนแล้วเข้ามารับประทาน อย่างน้อยน่าจะทำให้ร้านมีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่ต้องปิดทั้งหมด เศรษฐกิจเดินหน้าได้