เปิดกลยุทธ์คลินิกความงาม

ไม่น่าเชื่อว่าคลินิกความงามที่น่าจะมีข้อจำกัดในการโฆษณามากกว่าผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจความงามอื่นๆ แต่กลับพบว่ามีรูปแบบการสื่อสารการตลาดที่หวือหวา เนื่องจากมีการใช้เอเยนซี่ดูแลเป็นเรื่องเป็นราว ต่างคนต่าง “จัดหนัก ใส่เต็ม” เพื่อดันแบรนด์ของตนเองให้ติดตลาดและเป็น Top of Mind ของผู้บริโภคให้ได้

1.ภาพยนตร์โฆษณา ส่วนใหญ่เป็นคลินิกความงามเกรด C ถึง C+ และอาจมี C+ ถึง B บ้าง ปัจจุบันมีอย่างน้อย 4 คลินิก คือ วุฒิ-ศักดิ์ คลินิก นิติพล คลินิก ราชเทวี คลินิก และพรเกษม คลินิก (มี TVC แต่ไม่ใช้พรีเซ็นเตอร์)

2.โฆษณาและทำกิจกรรมกับคลื่นวิทยุและนิตยสารแฟชั่นความงาม กิจกรรมของคลินิกความงามทั้งหลายจะแห่แหนกันเข้าไปทำกับคลื่นวิทยุที่มีฐานผู้ฟังเป็นทั้งวัยรุ่นและวัยทำงาน เช่น แพน คลินิก จับมือกับ EFM 94.0 หรือเอเพ็กซ์จับมือกับนิตยสารแพรว เป็นต้น

3.Fan Page ใน Facebook ส่วนใหญ่มี Fans ในหลักพันมีน้อยรายที่จะมี Fans ถึงหลักหมื่น เช่น ราชเทวี คลินิก และมักทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ผ่านเครื่องมือนี้

4.โปรแกรมผ่อนชำระกับบัตรเครดิตต่างๆ เช่น บีบี คลินิก มีโปรแกรมผ่อนชำระ 0% 10 เดือนกับเคทีซี หรือวุฒิ-ศักดิ์ คลินิก มีโปรแกรมผ่อนชำระ 0% 6 เดือนกับบัตรเครดิตหลายใบ เช่น เซ็นทรัล คาร์ด โรบินสัน กสิกรไทย ซิตี้แบงก์ เป็นต้น

5.ลดราคาแพ็กเกจ นำเสนอการขายแบบคอร์ส โดยมีตั้งแต่ 15%-70% นอกจากนี้ยังมีการเสนอขายในรูปแบบ Privilege Card หรือเป็น Smart Purse ซื้อเป็นแพ็กเกจราคาถูกกว่า ทั้งนี้ส่วนใหญ่จะโปรโมตผ่าน In-store Media และช่องทางเว็บไซต์ของตัวเอง

6.โรดโชว์และ/หรือจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น รมย์รวินท์ จัดกิจกรรมเวิร์คช็อปความงามให้กับว่าที่เจ้าสาวร่วมกับที่รักสตูดิโอ เป็นต้น

7.เน้นขายผลิตภัณฑ์ความงาม แต่ละคลินิกต่างมีสกินแคร์จำหน่ายกันถ้วนหน้า ในบรรจุภัณฑ์สวยงาม นอกเหนือจากสำหรับจำหน่ายให้ลูกค้าที่มาใช้บริการที่คลินิกแล้ว ยังหวังผลยาวจากลูกค้าที่รักษาหายแล้วให้ใช้ผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องด้วย