ท่ามกลางคลินิกความงามที่แบรนด์และจำนวนสาขาเริ่มเข้ายึดพื้นที่ชุมชนสำคัญๆ รวมทั้งครองพื้นที่เกือบหนึ่งชั้นในห้างสรรพสินค้า
ยังมีช่องว่างทางการตลาดเหลือพอให้กับการรักษาผิวหนังและดูแลความงามของโรงพยาบาล โดยเฉพาะสถานรักษาพยาบาลที่มีขนาดกลางขึ้นไป ซึ่งตอนนี้ต่างยกระดับจากแค่แผนกหนึ่ง ตั้งศูนย์ความงามเพิ่มเติมขึ้นมา ที่ดูแลคนไข้ทั้งการรักษาโรค และทรีตเมนต์ความงาม
พญ.ศิเรมอร ทองสิมา หรือ คุณหมอกระตา แพทย์ประจำศูนย์ Aesthetics by Nakornthon ซึ่งเป็นศูนย์รวมศาสตร์แห่งความงามเพื่อสุขภาพผิวของโรงพยาบาลนครธน ที่เพิ่งรีโนเวตใหม่ในช่วงต้นปี 2553 บอกว่า การปรับตัวของโรงพยาบาล เนื่องจากปัจจุบันมีคนไข้ที่กังวลเกี่ยวกับเรื่องผิวพรรณและความงามมากขึ้นเรื่อยๆ และมีคนไข้ที่มาพบแพทย์ผิวหนังเพื่อเรื่องความงามอย่างเดียวสัดส่วนเพิ่มขึ้น 70% ขณะที่ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคผิวหนังและต้องการพบแพทย์มีสัดส่วนน้อยลงเหลือเพียง 30% เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม คนไข้เหล่านี้ไม่รู้สึกสะดวกใจในการเดินเข้าไปยังคลินิกความงามที่เปิดตามห้างสรรพสินค้า เพราะพวกเขากังวลในเรื่องของมาตรฐานการรักษาพยาบาล รวมทั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ พวกเขายอมจ่ายในราคาที่สูงกว่าเพื่อแลกกับการรักษาจากมืออาชีพ ทั้งแพทย์ พยาบาลวิชาชีพ และเภสัชกร
โรงพยาบาลจึงเป็นทางเลือกที่ตอบความต้องการสำหรับกลุ่มเป้าหมายนี้ได้ดีกว่าคลินิกความงาม
มุมมองของคนไข้ที่มีต่อศูนย์เฉพาะทางเกี่ยวกับผิวหนังและความงามในโรงพยาบาลสอดคล้องกับตำแหน่งของศูนย์ฯ และมาตรฐานการรักษาพยาบาลที่ได้วางไว้ ซึ่งทางนครธนตั้งใจให้ศูนย์ Aesthetics พัฒนาไปในคอนเซ็ปต์ของ Non-invasion โดยลดการใช้อุปกรณ์ภายนอกบุกรุกเข้าไปยังภายในร่างกายของคนไข้ ยกเว้นการใช้เข็มฉีดยาเท่านั้น
คุณหมอกระตา บอกว่า ด้วยโรงพยาบาลส่วนใหญ่ได้รับการรับรองมาตรฐาน HA จากกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้นการดำเนินงานต่างๆ ทั้งการรักษา บุคลากร เครื่องมือที่นำมาใช้ ล้วนจึงต้องเป็นไปตามมาตรฐานนี้ไม่ต่างจากการรักษาคนไข้ในแผนกอื่น
การรักษา ถือเป็นหัวใจหลักที่ศูนย์เฉพาะทางเกี่ยวกับผิวหนังและความงามให้ความสำคัญสูงสุด และเป็นจุดขายหลัก อย่างเช่น ศูนย์ Aesthetics ของนครธน มีแพทย์ประจำอยู่ทั้งหมด 6 คน แต่ละคนจะผลัดเปลี่ยนกันมาวันละ 2 – 3 คน โดยครั้งแรกที่มาพบแพทย์ คนไข้จะใช้เวลากับหมอไม่ต่ำกว่า 15 นาทีต่อคน
ที่นี่ ไม่มีผู้ช่วยแพทย์ แต่ใช้พยาบาลวิชาชีพในการทำหน้าที่ที่ผู้ช่วยแพทย์ต้องทำทั้งหมด ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่จ่ายยา ก็จะใช้เภสัชกร มาเป็นผู้ดูแล ไม่ได้ให้พนักงานทั่วไปจัดการ
เพราะนอกจากเป็นไปตามมาตรฐาน HA แล้ว จากการคลุกคลีอยู่กับคนไข้มาระยะหนึ่ง คุณหมอกระตาค้นพบว่า คนไข้ที่มารักษาเรื่องผิวหน้า มีความใส่ใจในรายละเอียดของยาและการใช้ยาสูงสุด เวลาจ่ายยา เภสัชกรต้องลงลึกถึงขั้นว่า ต้องทายาตัวไหนก่อนหลัง และมักจะมีคนไข้โทรมาสอบถามเกี่ยวกับยาอย่างสม่ำเสมอในทุกวัน
สำหรับเครื่องมือและนวัตกรรมต่างๆ ที่ทางนครธนเลือกนำมาใช้ เน้นถึงประสิทธิภาพสูงสุดของการรักษาเป็นหลัก โดยจะเลือกเฉพาะเครื่องมือที่ผลิตโดยบริษัทที่คิดค้นเท่านั้น ถึงแม้ว่าราคาจะสูงกว่าเครื่องที่ผลิตตามมาทีหลังโดยเฉพาะจากแห่งผลิตในประเทศจีน โดยราคาสูงสุดของเครื่องมือที่เคยซื้อมาอยู่ที่ 5 ล้านบาท
ที่ต้องลงทุนมากถึงขนาดนั้น เพราะโรงพยาบาลต้องคำนึงถึงชื่อเสียงเป็นหลัก และคนไข้ที่มาใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชนมีกำลังซื้อสูงอยู่ในระดับ A-B ที่ราคาเริ่มต้นต่อการรักษาหนึ่งครั้งอยู่ที่ 550 บาท ซึ่งแพงกว่าคลินิกความงามทั่วไป และคนไข้กลุ่มนี้ก็คาดหวังถึงผลลัพธ์ที่จะได้รับจากการรักษาสูง โดยส่วนใหญ่มากันเป็นครอบครัว พ่อ-แม่-ลูก โดยคุณพ่อมักชอบมาทำทรีทเมนต์หน้า คุณแม่ปรึกษาเรื่องริ้วรอย ส่วนลูกปรึกษาเรื่องสิว
โดยทางโรงพยาบาลจะปฏิเสธการรักษาให้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี โดยที่ไม่มีผู้ปกครองพามา โดยเฉพาะกรณีที่ต้องการฉีด filler เพื่อปรับแต่งรูปหน้าตามเทรนด์เกาหลี ที่กำลังฮิตมากในกลุ่มวัยรุ่นและอยากจะสวยแบบเกาหลีมากแค่ไหน แต่ศัลยกรรมพลาสติกยังไม่เป็นที่นิยมในประเทศไทยมากนัก เพราะจากการสอบถามกับคนไข้ส่วนใหญ่ต้องการดูดี แต่ไม่ต้องการโดดเด่น ซึ่งศัลยกรรมพลาสติกจะทำให้พวกเธอโดดเด่นจนเกินไป
ถึงแม้จะมีกฎเหล็กที่โรงพยาบาลต้องทำตาม และจำกัดความหวือหวาในการทำตลาดเมื่อเทียบกับคลิกนิกความงามทั้งหลาย แต่นี่เป็นข้อดีที่สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคที่กังวลถึงมาตรฐานการรักษาเป็นสำคัญ เพราะโรงพยาบาลจะไม่นำเครื่องมือ หรือทรีตเมนต์ที่ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ยืนยันชัดเจนถึงผลลัพธ์ที่ได้มาใช้อย่างเด็ดขาด ตัวอย่างเช่น ทองคำ ที่หลายคลินิกกำลังโฆษณากันอยู่ตอนนี้ ซึ่งทางคุณหมอกระตาบอกว่า ทองคำไม่ได้มีหลักฐานยืนยันทางการแพทย์ถึงผลที่ได้รับ ซึ่งถึงแม้จะมีความต้องการจากคนไข้มากแค่ไหน แต่ทางโรงพยาบาลก็จะไม่นำมาเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาอย่างเด็ดขาด
อย่างไรก็ตาม การคืนทุนของศูนย์เฉพาะทางผิวหนังและความงามคงไม่รวดเร็วเท่ากับบรรดาคลินิกความงามทั้งหลาย เนื่องจากการลงทุนที่สูงกว่าคลินิก เป็นตัวเลขหลายสิบล้านบาทแล้ว และต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพราะมีนวัตกรรมใหม่ออกมาเรื่อยๆ และธุรกิจศูนย์เฉพาะทางเกี่ยวกับผิวหนังและความงามในโรงพยาบาลไม่ได้ Mass Marketing แบบคลินิกที่ขยายสาขาไปทั่วประเทศ แต่เป็น Niche Marketing ที่มีขึ้นเพื่อตอบความต้องการของคนไข้ที่มาใช้บริการในโรงพยาบาลเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียงกับที่ตั้งของโรงพยาบาล