No Trade, No Vaccine ความท้าทายของห่วงโซ่อุปทานวัคซีนโลก

Photo : Shutterstock
อ.ดร.ดวงดาว มหากิจศิริ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในรายการคลังเศรษฐกิจ คนเศรษฐศาสตร์ เรื่อง “การค้าระหว่างประเทศกับภารกิจสร้างภูมิคุ้มกันให้โลก” ชี้วัคซีนเป็นสินค้าที่สามารถผลิตได้ในไม่กี่ประเทศ แต่ด้วยนโยบายการค้าระหว่างประเทศทำให้ผู้คนทั่วโลกมีโอกาสเข้าถึงมากขึ้น แนะลดขั้นตอนนำเข้ายุ่งยากและร่วมมือกันขนส่ง เป็นกุญแจสำคัญให้ทุกคนเข้าถึงวัคซีน

จากการศึกษาเรื่องปริมาณการนำเข้าส่งออกวัคซีนทุกชนิดไม่จำกัดเฉพาะวัคซีนโควิด-19 ของ OECD พบว่า ประเทศที่นำเข้าวัคซีนมีจำนวน 208 ประเทศ แต่ประเทศที่ส่งออกได้มีเพียง 90 ประเทศ อีกทั้งกระจุกตัวสูงในผู้ส่งออก 10 ประเทศ ที่ครอบคลุมมูลค่าการส่งออกกว่า 93% ของโลก

ในขณะที่วัคซีนเป็นสินค้า Percentile ที่ 6 ที่มีความต้องการนำเข้าสูงที่สุดจากจำนวน 5,384 สินค้า ถือเป็นเรื่องของความไม่เท่ากันของอุปสงค์อุปทาน ที่ประเทศพัฒนาแล้ว และมีทุนทรัพย์พร้อมย่อมได้สั่งซื้อก่อน

ยิ่งในช่วงเวลาวิกฤตโควิด-19 การเข้าถึงวัคซีนมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น เพราะห่วงโซ่อุปทานวัคซีนเป็นลักษณะการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันในระดับโลก ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนหลัก คือ 1.การค้นคว้าวิจัยพัฒนาวัคซีน 2.การผลิตแบบ Mass Production และบรรจุลงภาชนะ 3.การกระจายวัคซีน

vaccine covid-19 pfizer
Photo : Shutterstock

ยกตัวอย่างเช่น วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ที่คิดค้นร่วมกับบริษัทสัญชาติเยอรมัน ไบโอเอ็นเท็ค (BioNTech) เคยประกาศว่าจะผลิตให้ได้ 2,000 ล้านโดสในปี 2021 นับเป็นห่วงโซ่อุปทานที่ซับซ้อนที่สุดในอุตสาหกรรมยา ด้วยแหล่งผลิตของไฟเซอร์มากกว่า 40 แห่ง และซัพพลายเออร์อีกมากกว่า 200 แหล่งทั่วโลก (อ้างอิง https://www.pfizer.com/science/coronavirus/vaccine/manufacturing-and-distribution)

อ.ดร.ดวงดาว ให้ข้อมูลถึงห่วงโซ่ของวัคซีนไฟเซอร์ เริ่มตั้งแต่การผลิตวัคซีน มีการใช้สารประกอบถึง 280 ชนิด จากซัพพลายเออร์ 86 แหล่ง ใน 19 ประเทศ โดยสารประกอบสำคัญ 4 ชนิด ได้แก่

  1. สารที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกัน ผลิตในเม็กซิโก จีน ตุรกี
  2. สารกันเสีย ผลิตในเยอรมัน อาร์เจนตินา อินเดีย
  3. สารเพิ่มความคงตัว ผลิตในฝรั่งเศส จีน เยอรมัน
  4. ยาปฏิชีวนะ ผลิตใน จีน สวิตเซอร์แลนด์
Photo : Shutterstock

ถัดมาคือกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์

  • ขวดบรรจุวัคซีน ผลิตในจีน เยอรมัน อิตาลี
  • จุกยางปิดขวดวัคซีน ผลิตในจีน เยอรมัน โปแลนด์
  • กระบวนการขนส่งในรูปแบบระบบห่วงโซ่เย็น (Cold Supply Chain) ที่ต้องใช้อุปกรณ์การเก็บความเย็นตามอุณหภูมิที่กำหนดไว้
  • การฉีดเข้าสู่คน อุปกรณ์ที่จำเป็นคือ หลอดและเข็มฉีดยา อุปกรณ์ป้องกัน อาทิ ชุด PPE หน้ากาก เฟสชิลด์ มีการกระจายการผลิตในหลายประเทศทั่วโลก

ด้วยความก้าวหน้าทางการค้าระหว่างประเทศ ปัจจุบันค่าเฉลี่ยของภาษีวัคซีนทั่วโลกอยู่ในระดับ 0.76% ถือว่าต่ำมากเพียง 1 ใน 10 เท่าของภาษีสินค้านำเข้าทั่วไป แต่ยังคงมีการเก็บภาษีนำเข้าสารประกอบวัคซีนที่อัตราภาษี 2.6 – 9.4% และอุปกรณ์การฉีดที่อัตราภาษี 4.4 – 4.5%

Photo : Shutterstock

ส่วนภาชนะบรรจุวัคซีนและอุปกรณ์การกระจายวัคซีน เช่น กล่องเย็น และฟรีซเซอร์ มีภาษีนำเข้าสูงถึง 12.7% นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีทำให้บางประเทศเข้าถึงวัคซีนล่าช้า เช่น ข้อบังคับด้านเทคนิคหรือด้านสุขอนามัย การควบคุมราคา และมาตรการนำเข้าที่ซับซ้อน รวมทั้งการขนส่งที่ต้องรวดเร็วซึ่งการขนส่งทางอากาศมีความเหมาะสมที่สุด แต่ปัญหาคือถูกจำกัดด้วยเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ลดลง หมายถึงค่าขนส่งทางอากาศที่สูงขึ้น

“ในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้ จึงต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศที่ช่วยผลักดันให้วัคซีนข้ามพรมแดนมาโดยเร็วที่สุด อาทิ การเปิดเสรี การลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบหรือสารประกอบ การลดขั้นตอนความยุ่งยากของการข้ามพรมแดน เป็นกุญแจสำคัญให้ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานสามารถดำเนินได้อย่างคล่องตัว โดยเฉพาะกับประเทศยากจนเพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการรับวัคซีน เพราะเรื่องของโรคระบาด ไม่มีใครปลอดภัย จนกว่าทุกคนจะปลอดภัย”

ทั้งนี้ การตรวจสอบการส่งออกวัคซีนสามารถทำได้โดยการค้นหารหัสพิกัดศุลกากรตามระบบ Harmonized System ซึ่งจะแสดงยอดรวมในหมวดวัคซีน โดยสามารถเทียบกับฐานปีก่อนหรือเดือนก่อนหน้า เพื่อพิจารณาร่วมกับการใช้มาตรการจำกัดการส่งออกวัคซีนในบางประเทศได้