เรตติ้งเรียกได้ด้วย Twitter TV

เคยสังเกตพฤติกรรมตัวเอง หรือคนรอบข้างบ้างไหมว่า ทุกวันนี้พฤติกรรมการรับชมโทรทัศน์นั้นเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด ไม่ใช่แค่รีโมตคอนโทรลที่วางอยู่ข้างมือเท่านั้น แต่ยังต้องมีโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์พกพาวางไว้ใกล้ตัวอีกด้วย เพื่อท่องอินเทอร์เน็ต หรือแชตกับเพื่อนระหว่างรับชมโทรทัศน์

โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้งาน Twitter ที่มักแบ่งปันข้อมูลและความรู้สึกนึกคิดระหว่างการรับชมรายการใดรายการหนึ่งทางโทรทัศน์อย่างสม่ำเสมอ

จนกลายเป็นความคุ้นชิน ที่หากไม่ได้ Tweet ระหว่างรับชมโทรทัศน์ หรือเข้าไปถกแบบ Real-time กับเพื่อน เซเลบฯ หรือคนแปลกหน้าเกี่ยวกับรายการที่ดูอยู่ผ่านทาง Twitter เท่ากับอรรถรสในการเสพรายการลดลงไปกว่าครึ่ง

การแชร์ความรู้สึกเกี่ยวกับรายการที่กำลังรับชม ไม่ว่าจะเป็นข่าว คอนเสิร์ต เรียลลิตี้ เกมโชว์ หรือละคร ผ่านทาง Twitter ถูกจัดเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเรียกเรตติ้งให้กับรายการโทรทัศน์ อนาคตของ Interactive Entertainment ที่มีกรณีศึกษาให้เห็นถึงความสำเร็จมาแล้ว อย่างเช่น Current TV และ MTV Video Music Awards

Current TV เชื่อมั่นว่า สื่อโทรทัศน์สามารถเป็น Two-way Medium ได้อย่างแท้จริง ถึงแม้ที่ผ่านมาคนทั่วไปรับรู้ว่าสื่อโทรทัศน์เป็น One-way Communication ก็ตาม

ดังนั้น Current TV จึงพยายามหาไอเดียเพื่อขับเคลื่อนความเชื่อก่อนมาลงตัวที่ Twitter

ทั้ง Current และ Twitter ได้จับมือกันเป็นครั้งแรก เพื่อนำเสนอการ Tweet on-air ในรายการถ่ายทอดสด โดยเริ่มต้นจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี 2008 ตั้งแต่การโต้วาที จนถึงวันประกาศผลเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่คนอเมริกันทั่วประเทศให้ความสนใจสูงสุด

ความสำเร็จของการแหกกฎสื่อโทรทัศน์ช่วยให้ Current TV เป็นที่รู้จักในชั่วข้ามคืน ขณะที่ Twitter ได้รายงานว่ามีสมาชิกที่สมัครเพิ่มขึ้นถึงสามหลักในช่วงระหว่างการเลือกตั้ง

ขณะเดียวกัน ก็ยังได้ช่วยจุดประกายให้กับ Evan Williams ผู้ร่วมก่อตั้ง Twitter ถึงแนวทางธุรกิจที่ชัดเจนของ Twitter หลังจากที่เขาไม่มั่นใจว่า Twitter จะเป็น Social Network หรือเป็นแค่ Facebook Feature แต่ตอนนี้เขาเข้าใจชัดเจนแล้วว่า

“Twitter คือ Real-time Information Network”

และในอนาคตอันใกล้ Twitter กำลังจะกลายเป็น “Interactive Platform” สำหรับสื่อโทรทัศน์ ที่สามารถเรียกเรตติ้งจำนวนผู้ชมได้อย่างมหาศาล

ที่ผ่านมา Twitter ได้ช่วยให้การประกาศผลรางวัลทางดนตรี MTV Video Music Awards (VMA) รอดพ้นจากความตกต่ำในแง่จำนวนผู้ชมมาได้ หลังจากลดลงเหลือเพียง 5.8 ล้านคนในปี 2006

ในปี 2008 ทีมงาน MTV ได้สมัครสมาชิก Twiiter ให้กับศิลปิน อย่างเช่น Soulja Boy, Timbaland, Boys Like Girls และ Little Mama ก่อนส่งโทรศัพท์มือถือฟรีไปให้คนละหนึ่งเครื่อง และสอนพวกเขา Tweet เพื่อให้ศิลปินชื่อดังเหล่านี้ Tweet บรรยากาศที่การถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ไม่สามารถนำเสนอได้ อย่างเช่น ช่วงเวลาบนพรมแดง หลังเวที และหลังจากการแสดงต่างๆ โดยเนื้อหาที่ Tweet จะเกี่ยวกับตัวเองและศิลปินคนอื่น

และเรื่องเหลือเชื่อได้เกิดขึ้น เมื่อจำนวนผู้ชมการถ่ายทอดสดของ VMA ในปี 2008 ขยับขึ้นเป็น 7.1 ล้านคน และมีผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ MTV.com สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 2.6 ล้านคนภายในวันเดียว

ล่าสุดในปี 2010 Twitter กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของการถ่ายทอดสด VMA ทั้งในช่วงก่อนการประกาศผลรางวัลจะเริ่มขึ้น รวมถึงกิจกรรมต่างๆ บนเวที ซึ่งไม่ใช่แค่ “ออนไลน์และบอกว่าคิดอย่างไร” เพราะนี่เป็นแนวคิด Interactive ที่ตกยุคไปแล้ว

แต่ต้องเฟ้นหา “VMA Moment” บน Twitter ที่มีจุดประสงค์ให้ผู้ชมมีส่วนร่วมมากขึ้นกว่าเดิม อย่างเช่น การให้ผู้ชมร่วมโหวต #vmabestdressed เป็นต้น

หรือถามผู้ชมว่า จะเกิดอะไรขึ้นหาก Justin Bieber เจอเข้ากับ Lady Gaga ซึ่งในเพียงเสี้ยววินาที #ifbiebermetgaga กลายเป็นกระแสทั่วประเทศ

ระหว่างการถ่ายทอดสด มีการ Tweet 2.3 ล้านครั้ง และมีผู้ชม VMA ในปี 2010 ทั้งสิ้น 11.4 ล้านคน ซึ่งมากกว่าในปี 2006 เกือบเท่าตัว เพิ่มขึ้นจากปี 2009 ประมาณ 27% และเป็น VMA ที่มีผู้รับชมการถ่ายทอดสดมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา

นี่เป็นการยืนยันว่า Twitter ทำได้มากกว่าการส่ง Real-time Information ซึ่ง Interface ในอนาคตที่กำลังพัฒนาอยู่ จะไม่ได้นำเสนอแค่ Real-time updates เท่านั้น แต่รวมถึงความคิดเห็น รูปภาพ และที่สำคัญ วีดีโอ

ที่มา : นิตยสาร Fastcompany ฉบับเดือนธันวาคม 2553