จาก #เเบนfoodpanda สู่ผลกระทบต่อ ‘ไรเดอร์’ เสียงสะท้อนในวิกฤต งานยิ่งน้อย รายได้ยิ่งลด

กระเเส #เเบนfoodpanda สั่นสะเทือนฟู้ดเดลิเวอรี่ยักษ์ใหญ่จากเยอรมนี ที่เข้ามาทำตลาดในไทย ทั้งในเเง่เเบรนด์ดิ้ง กลุ่มลูกค้าเเละพาร์ตเนอร์ร้านอาหารที่ลดลง จากการลบบัญชีถอนตัวจากเเพลตฟอร์ม ที่สำคัญผลกระทบครั้งนี้ ได้ส่งผลโดยตรงไปยังไรเดอร์ที่ทำหน้าที่รับส่งอาหาร ซ้ำเติมรายได้ที่หดหายไปในช่วงวิกฤตโรคระบาด

ย้อนกลับไป foodpanda (ฟู้ดเเพนด้า) เป็นผู้เล่นรายแรกๆ ที่ทำตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ในไทยมาตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งตอนนั้นกระเเสเดลิเวอรี่ไม่ได้บูมเช่นปัจจุบัน โดยเริ่มรุกตลาดต่างจังหวัดไปที่เชียงใหม่’ พร้อมกระจายไปตามหัวเมืองต่างๆ จนครบ 77 จังหวัด ครองตลาดภูธรได้อย่างเหนียวเเน่น ด้วยกลยุทธ์ ‘Hyperlocalization’  

ปัจจุบัน มีร้านอาหารที่แอคทีฟบนแพลตฟอร์ม (มีออเดอร์ทุกวัน) มากกว่า 140,000 กว่าแห่ง เเละมีจำนวนไรเดอร์มากกว่าเเสนราย

หากเเบ่งเป็นสัดส่วนจะเห็นว่า กว่า 90% เป็นร้านอาหารรายย่อยแบบสแตนด์อะโลน ส่วนอีก 10% เป็นร้านอาหารของเชนแบรนด์ใหญ่ เเละมีคำสั่งซื้อจากต่างจังหวัดสูงถึง 50% ของออเดอร์ทั้งหมด

นั่นเเสดงว่า ผลกระทบครั้งนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เเค่ไรเดอร์ในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น เเต่ยังกระจายไปยังไรเดอร์ในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศด้วย

ในต่างจังหวัด ปกติออเดอร์ต่อวันก็น้อยอยู่แล้ว หลังมีกระแสแบนก็ยิ่งน้อยลงไปอีกไรเดอร์รายหนึ่ง บอกกับ Positioningmag

โดยไรเดอร์ foodpanda อีกคนกล่าวว่า ก่อนหน้านี้เขาเคยได้รับออเดอร์วันละ 20 ครั้งขึ้นไป เเต่เมื่อวานนี้ได้รับงานเเค่ออเดอร์เท่านั้น จากรายได้ 700-1,000 บาทต่อวัน แต่ตอนนี้เหลือไม่เกิน 300-400 บาท ซึ่งถือว่าน้อยลงเท่าตัว เเละไม่เพียงพอต่อรายจ่ายในชีวิตประจำวัน

เมื่อยอดสั่งซื้อจากลูกค้าลดลงตามกระเเสบอยคอต ประกอบกับร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าในพื้นที่ 13 จังหวัดควบคุมสูงสุด ต้องปิดให้บริการ (พร้อมงดเดลิเวอรี่) ตามคำสั่งมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล ก็มีส่วนทำให้ยอดรับงานของไรเดอร์ลดลงตามไปด้วย ซ้ำเติมไรเดอร์รายใหม่ที่เพิ่งเข้ามา ยังไม่ได้เริ่มทำงาน เเละยังไม่มีรายได้ 

จากยอดว่างงานที่พุ่งสูง หลายคนหันมาประกอบอาชีพไรเดอร์ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ เเต่การ ลงทุนเริ่มต้น ก็ไม่ได้ราคาถูกเท่าไหร่นัก นอกจากจะต้องมียานพาหนะเเล้ว ก็ต้องลงทุนซื้อเสื้อ กระเป๋าอุปกรณ์เริ่มต้นที่ 850 -กว่าพันบาทเลยทีเดียว

ย้าย หรือ ไม่ย้าย ? 

บางส่วนมองว่า หากกระเเส #เเบนfoodpanda ส่งผลกระทบวงกว้างเเละยาวนานกว่าที่คิด ก็จำเป็นต้องย้ายค่าย ไปทำกับเเบรนด์อื่น ขณะที่หลายคนก็รับงานหลายเจ้าอยู่เเล้ว เพื่อกระจายความเสี่ยง

เเหล่งข่าวไรเดอร์รายหนึ่ง อธิบายถึงจุดเด่นจุดด้อย’ จากมุมมองของคนขับในการร่วมงานกับ foodpanda เมื่อเทียบกับฟู้ดเดลิเวอรี่รายอื่นๆ ให้ Positioningmag ฟัง โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ เช่น

[จุดเด่น]

ระบบจ่ายงานของ foodpanda จะวิ่งเข้ามาที่แอปฯ ของคนขับโดยตรง ไม่ต้องเเย่งชิงเเละจ้องจอมือถือตลอดเวลา ทำให้สามารถทำอย่างอื่นระหว่างรองานได้ ต่างจากบางบริษัทที่จะเป็นระบบกดแย่งงานที่มีการเเจ้งเตือนไปหาคนขับหลายคนใครกดไวกว่าถึงจะได้งานซึ่งเป็นการแข่งขันที่ดุเดือดมากเเละต้องกดรับงานให้ทันในเสี้ยววินาที

ดังนั้นไรเดอร์ที่มีข้อได้เปรียบอย่าง ใช้โทรศัพท์สเปกสูง อินเทอร์เน็ตเเรง เเละอยู่หน้าจอตลอด ก็มีโอกาสได้งานมากกว่า

โดย foodpanda ยังมีระบบการทำงานที่คล้ายๆ งานประจำคือ ต้องมีการจอง ‘shift’ จอง ‘zone’ บริเวณที่จะวิ่งงานล่วงหน้า และต้องทำงานให้เต็มเวลาของ shift ที่ตัวเองเลือกไว้ ต่างจากบางเเบรนด์ที่พอมีเวลาว่างค่อยมาเปิดแอปฯ ก็ได้ ซึ่งเรื่องนี้จะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของเเต่ละคน

ข้อดีคือได้รับงานค่อนข้างสม่ำเสมอกว่าแอปฯ อื่นๆ เพราะการจอง shift จอง zone ทำให้จำนวนคนที่ได้เข้ามาวิ่งงานอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับจำนวนงานเเหล่งข่าวระบุ

Photo : Shutterstock

[จุดด้อย]

ค่าตอบเเทนต่อเที่ยวของ foodpanda นั้นน้อยกว่าเจ้าอื่น โดยเฉลี่ยที่ประมาณ ‘ 30 บาทนิดๆและไม่ได้รับเงินทันทีหลังจบงาน แต่ต้องรอรับตามรอบที่บริษัทจ่ายให้

อีกปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการย้ายไม่ย้ายค่ายนั่นก็คือ การเปิดรับของบริษัทฟู้ดเดลิเวอรี่ ว่าช่วงนี้รับคนอยู่หรือไม่ซึ่งโดยปกติอาชีพไรเดอร์ก็มักจะไม่ได้ยึดติดกับการทำงานที่ใดที่หนึ่งอยู่แล้ว

ผมว่าไรเดอร์ส่วนมากก็มีไอดีหลายค่าย ค่ายไหนผลตอบแทนดี หรือช่วงไหนมีโบนัสก็ไปวิ่งค่ายนั้น เเต่เมื่อตลาดบูม จำนวนคนขับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่สัมพันธ์กับจำนวนงาน ทำให้ได้งานน้อยลง รายได้ก็ลดลง เพราะมีคนมาหารมากขึ้น

ตอนนี้ใครยังวิ่งงานให้เเค่เเอปฯ เดียว อาจจะต้องรีบหาแผนสำรองเตรียมไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ หากเกิดกรณีเช่นนี้อีก

จากที่ผ่านมาบริษัทจะเปิดรับไรเดอร์เเบบไม่จำกัด’ เเต่ตอนนี้เริ่มจำกัดจำนวนไรเดอร์บ้างแล้ว บางเเห่งยังเปิดรับต่อเนื่องเเต่ก็ใช้เวลารับเข้าระบบนานกว่าเดิม

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องนโนบายการคัดกรองไรเดอร์ก่อนรับงานที่เเต่ละบริษัทจะมีกฎระเบียบ ‘เข้มงวดหละหลวม’ ไม่เหมือนกันด้วย เช่น เรื่องการตรวจประวัติอาชญากรรม ระยะเวลาสิ้นสุดคดีความ กรณีต้องเอาใบบริสุทธิ์มายื่น เป็นต้น

กลุ่มไรเดอร์ ร้องเเบรนด์รับผิดชอบที่เป็นรูปธรรมมากกว่าคำขอโทษ 

ด้านความเคลื่อนไหวของ foodpanda หลังกระเเสบอยคอต ได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ โดยเน้นย้ำว่าบริษัทเคารพสิทธิและเสรีภาพทางความคิด จะไม่ปลดไรเดอร์ให้พ้นสภาพ พร้อมเดินหน้าตรวจสอบหาข้อเท็จจริง เเละจะไม่ตอบความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสมบนทุกสื่ออีก

ในขณะที่ทางกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าสหภาพไรเดอร์ ตอบโต้ว่า เเม้ foodpanda จะออกแถลงการณ์มาขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ผลกระทบที่ทางไรเดอร์ได้รับนั้นยังคงดำรงอยู่และต้องมีไรเดอร์จำนวนมากเข้ามาร่วมรับชะตากรรมจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดของบริษัทในครั้งนี้ รวมถึงร้านค้าต่างๆ ที่เป็นคู่สัญญากับบริษัทด้วย

บริษัทจำเป็นต้องมีการประกาศการเคารพเสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง และมีการปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานในการทำงานของไรเดอร์

สหภาพไรเดอร์ ได้เรียกร้องให้ foodpanda ปรับเปลี่ยนสัญญา สภาพการจ้าง การทำงาน ให้เกิดความเป็นธรรมกับไรเดอร์ และร้านค้า เพื่อแสดงความรับผิดชอบที่เป็นรูปธรรมมากกว่าคำขอโทษ โดยมีข้อเสนอ ดังนี้

  • ขอให้บริษัทจ่ายค่าตอบแทนให้กับไรเดอร์ไม่ต่ำกว่า ออเดอร์ละ 25 บาท ทั่วประเทศ
  • ขอให้บริษัทยกเลิกการเก็บเงินค่าอุปกรณ์การทำงาน ได้แก่ ชุดทำงานและกล่องใส่อาหาร โดยไรเดอร์สามารถนำชุดทำงานเก่าและกล่องใส่อาหารที่ชำรุด มาแลกของใหม่จากบริษัทได้ ปีละ 1 ชุด
  • ขอให้บริษัท ลดราคา ค่า GP จากเดิม 30% ให้เหลือ 15% และงดเก็บค่า GP กับร้านค้าเป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1-31 สิงหาคม 2564

งานน้อยลง = รายได้น้อยลง

เมื่อถามถึงโอกาสเเละความท้าทายของการทำงานของไรเดอร์ในช่วงวิกฤตโรคระบาด

ไรเดอร์รายหนึ่ง ตอบว่า งานนี้มันไม่ได้ซับซ้อนมาก เเต่หัวใจหลักคือจัดส่งของให้ถึงผู้รับในสภาพสมบูรณ์ ให้รวดเร็วที่สุด ส่วนรายได้ก็เป็นไปตามปริมาณงานที่ทำ คนไหนทำมากก็ได้มาก ซึ่งความท้าทายที่สุดก็คงจะเป็นความกดดันจากงานที่น้อยลง ซึ่งก็คือรายได้ที่น้อยลงไปด้วย

โดยสิ่งที่อยากจะฝากให้เเบรนด์ฟู้ดเดลิเวอรี่ต่างๆ คำนึงถึงไรเดอร์มากขึ้น เป็นมีเเนวทางกว้างๆ อย่างเช่น เพิ่มสวัสดิการเเละการดูเเลจากต้นสังกัดมากขึ้น บางคนต้องการมีชั่วโมงการทำงานที่ชัดเจน เเละมีประกันรายได้ ฯลฯ

ขณะที่อีกด้านก็มีไรเดอร์บางส่วน มองว่า การนำอาชีพนี้เข้าสู่ระบบอาจจะทำให้อิสระในการทำงานหายไป เช่น อาจจะเลือกวันและเวลาทำงานตามความสะดวกไม่ได้เท่าที่ควร หรืออาจจะไม่สามารถวิ่งหลายเจ้าพร้อมกันได้เหมือนเดิม

เหล่านี้ เป็นนานาทัศนะจากไรเดอร์หนึ่งในอาชีพที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด-19 เป็นเหมือนฟันเฟืองเล็กๆ ที่ทำหน้าที่สำคัญๆ ในยามล็อกดาวน์

การกระทำขององค์กร ควรไตร่ตรองให้ดีก่อน เพราะนั่นคือสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อมาถึงพวกเราทุกคน…