ผ่าตลาดแรงงานครึ่งปีแรก “ท่องเที่ยว-โรงแรม-การบิน” ยังเคว้งอีกยาว “อาหาร” ยังต้องการสูง

ผ่าตลาดแรงงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 คนไทยยังมีความต้องการสมัครงานสูง การแข่งขันสูงขึ้น กลุ่มอาหาร ยานยนต์ และบริการ ยังมีความต้องการสูงที่สุด ส่วนกลุ่ม “ท่องเที่ยว-โรงแรม-การบิน” ยังเคว้งอีกยาว หลายองค์กรเริ่มเปิดรับการทำงานแบบ Work from Home มากขึ้น

โลกการทำงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน โดยมีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับตลาดแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดทำให้เกิดนวัตกรรม เกิดอาชีพใหม่ๆ ตลอดจนปัญหาระบบการศึกษาที่ไม่สามารถผลิตคนได้ตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบกับตลาดแรงงานเป็นวงกว้าง

แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการของจ๊อบไทย (JobThai) เปิดเผยถึงข้อมูลการหางาน สมัครงาน จากการรวบรวมข้อมูลในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 พร้อมวิเคราะห์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบกับตลาดแรงงานไทย พบว่า ในเดือนมกราคม – มิถุนายน 2564 มีผู้ต้องการหางาน สมัครงาน เพิ่มขึ้นกว่าปี 2563

Photo : Shuttetstock
  • มีผู้ใช้งานสะสมมากกว่า 13 ล้านคน เติบโตขึ้น 17%
  • มีการสมัครงาน 9.6 ล้านครั้ง เติบโตขึ้น 8%
  • องค์กรมีการเปิดรับพนักงานรวมทั้งหมด 772,145 อัตรา เพิ่มขึ้น 13.70%
  • ในช่วงที่ผ่านมาหลายองค์กรมีการเปิดรับบุคลากรโดยสามารถทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) หรือทำงานทางไกล (Remote Working) 11,036 อัตรา เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3-4 ปี 2563 18.70%
  • องค์กรยังเปลี่ยนมาสัมภาษณ์งานทางออนไลน์มากถึง 78,101 อัตรา เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3-4 ปี 2563 ถึง 208.10%

สำหรับข้อมูลความต้องการแรงงาน และความต้องการของผู้สมัครงานทั่วประเทศ ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 มีดังนี้

5 ประเภทธุรกิจมีความต้องการแรงงานมากที่สุด

  1. ธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม 66,977 อัตรา

องค์กรที่มีความต้องการแรงงานมากในธุรกิจนี้ เช่น บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเครื่องดื่มในประเทศไทย และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, บริษัท ไทย อกริ ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตอาหาร เครื่องดื่ม อาหารสำเร็จรูป อาทิ อาหารกระป๋อง และอาหารแช่แข็งเพื่อการส่งออก, บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด ผู้ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์โคคา-โคล่า และผลิตภัณฑ์อื่นๆ

2. ธุรกิจยานยนต์/ชิ้นส่วนยานยนต์ 57,390 อัตรา

องค์กรที่มีความต้องการแรงงานมากในธุรกิจนี้ เช่น บริษัท ท็อปเบส์ท จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนโครงสร้าง ตัวถัง ประกอบรถโดยสาร และตัวถังรถบรรทุก และจัดจำหน่ายรถโดยสารและรถบรรรทุกเพื่อการพาณิชย์, MAXXIS INTERNATIONAL (THAILAND) CO.,LTD. ผู้ผลิตและจำหน่ายยางรถยนต์, บริษัท สยามกลการอุตสาหกรรม จำกัด ผู้นำเข้า จัดจำหน่ายและบริการซ่อม และอะไหล่ รถ Forklift ในแบรนด์ของ Unicarrier ประเทศไทย

3. ธุรกิจบริการ 51,822 อัตรา

องค์กรที่มีความต้องการแรงงานมากในธุรกิจนี้ เช่น บริษัท เอ็มโอแค็ป จำกัด ซึ่งทำธุรกิจด้าน Outsourcing Contact Center, บริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน) ธุรกิจด้าน Customer Service Management, Thailand YellowPages ผู้บุกเบิกธุรกิจการให้บริการค้นหาข้อมูล รายชื่อ และหมายเลขโทรศัพท์ขององค์กรธุรกิจ การค้นหาสินค้า และบริการต่างๆ เป็นรายแรกของประเทศไทย

4. ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง – รับเหมาก่อสร้าง 50,132 อัตรา

องค์กรที่มีความต้องการแรงงานมากในธุรกิจนี้ เช่น บริษัทดูโฮม จำกัด (มหาชน) ผู้จำหน่ายวัสดุก่อสร้างครบวงจร, บริษัท เจ ดับบลิว เอส คอนสตรัคชั่น จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจด้านรับเหมาก่อสร้างด้วยเทคโนโลยีก่อสร้างชั้นสูง, บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด แหล่งรวมสินค้า และวัสดุอุปกรณ์เพื่อการตกแต่งซ่อมแซมที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร

5. ธุรกิจขายปลีก 47,956 อัตรา

องค์กรที่มีความต้องการแรงงานมากในธุรกิจนี้ เช่น บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด หรือโลตัส ประเทศไทย, บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ผู้จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค, วัตสัน ประเทศไทย ร้านเพื่อสุขภาพ และความงาม

5 สายงานที่มีการเปิดรับมากที่สุด

สายงานที่มีการเปิดรับมากที่สุด ได้แก่

  1. งานขาย 158,753 อัตรา
  2. งานผลิต/ควบคุมคุณภาพ 89,279 อัตรา
  3. งานช่างเทคนิค/อิเล็กทรอนิกส์ 83,440 อัตรา
  4. งานธุรการ/จัดซื้อ 43,574 อัตรา
  5. งานวิศวกร 40,697 อัตรา
Photo : Shutterstock

5 สายงานไอทีที่มีการเปิดรับมากที่สุด

  1. โปรแกรมเมอร์ (Programmer) 12,296 อัตรา

ทำหน้าที่พัฒนาระบบซอฟต์แวร์รวมถึงดูแลระบบ ให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ

ทักษะที่จำเป็น : ทักษะการเขียนโปรแกรมและความรู้ด้านภาษาคอมพิวเตอร์ โดยมีความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมด้วยภาษาที่นิยมใช้ เช่น JavaScript, C#, Python และ PHP

2. ไอทีแอดมิน/เน็ตเวิร์กแอดมิน (IT Admin/Network Admin) 5,629 อัตรา

ทำหน้าที่ดูแลระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบเน็ตเวิร์ก ทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพื่อให้พนักงานแผนกต่าง ๆ สามารถทำงานได้อย่างราบรื่น

ทักษะที่จำเป็น : มีความรู้ความสามารถในเรื่องของระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์ และระบบเน็ตเวิร์ก

3. เทคนิคซัพพอร์ต (Technical Support/Help Desk) 3,598 อัตรา

ทำหน้าที่ดูแลการใช้งานโปรแกรมและอุปกรณ์ต่างๆ ของพนักงานภายในบริษัท และช่วยเหลือให้คำแนะนำเรื่องการใช้โปรแกรมกับลูกค้าหากเกิดปัญหาขึ้น

ทักษะที่จำเป็น : มีความรู้ความสามารถในเรื่องการใช้งานและแก้ปัญหาโปรแกรมต่าง ๆ

Bearded IT Technician in Glasses with Laptop Computer and Black Male Engineer Colleague are Using Laptop in Data Center while Working Next to Server Racks. Running Diagnostics or Doing Maintenance Work

4. วิศวกรคอมพิวเตอร์ (Computer Engineering) 2,354 อัตรา

ทำหน้าที่ออกแบบและพัฒนาระบบและสถาปัตยกรรมทางด้านคอมพิวเตอร์ครอบคลุมทั้งในส่วนฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของระบบ

ทักษะที่จำเป็น : มีความรู้ด้านระบบ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และการออกแบบสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์

5. นักทดสอบซอฟต์แวร์ (Software Tester) 1,961 อัตรา

ทำหน้าที่ทดสอบซอฟต์แวร์เพื่อค้นหาข้อผิดพลาด ตรวจสอบคุณภาพของระบบซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้น เพื่อให้คนใช้งานสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทักษะที่จำเป็น : ความรู้พื้นฐานทางด้าน Software Testing, การวิเคราะห์ ออกแบบการ Test

นอกจากสายงานที่กล่าวไปข้างต้นแล้วยังมีอาชีพงานไอทีที่น่าจับตามองอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น วิศวกรความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security), นักพัฒนาบล็อกเชน (Blockchain Developer), นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist), นักพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence Engineer)

กระทบการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่

ในแต่ละปีจะมีนักศึกษาจบใหม่เข้ามาในตลาดแรงงาน ซึ่งในปีนี้นักศึกษาจบใหม่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและผลกระทบจากโควิด-19 โดยในจ๊อบไทยมีบัญชีผู้ใช้งานที่เป็นนักศึกษาจบใหม่ 178,399 คน คิดเป็น 17.14% ของจำนวนผู้สมัครงานทั้งหมดในแพลตฟอร์ม ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

  • สายงานที่เปิดรับนักศึกษาจบใหม่มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ 1.งานขาย 35,031 อัตรา 2.งานช่างเทคนิค/อิเล็กทรอนิกส์ 14,074 อัตรา 3.งานผลิต/ควบคุมคุณภาพ 11,332 อัตรา 4.งานบริการ 8,777 อัตรา และ 5.งานวิศวกร 7,677 อัตรา
  • สายงานที่มีนักศึกษาจบใหม่สมัครมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ 1.งานธุรการ/จัดซื้อ 60,780 คน 2.งานผลิต/ควบคุมคุณภาพ 47,137 คน 3.งานขาย 36,980 คน 4.งานวิศวกร 30,565 คน และ 5.งานขนส่ง-คลังสินค้า 28,344 คน

นักศึกษาจบใหม่ท่องเที่ยว / โรงแรม / การบินเคว้ง

ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น โรงแรม หรือการบิน ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยตรง ทำให้องค์กรต่างๆ ไม่มีการจ้างงานในสายนี้เพิ่มมากนัก นักศึกษาจบใหม่ในสาขานี้จึงได้รับผลกระทบไปด้วย

โดยข้อมูลจาก กลุ่มบนเฟซบุ๊ก “JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน” ซึ่งมีสมาชิกภายในกลุ่มกว่า 200,000 คน พบว่าประเด็นในการพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหาของเด็กจบใหม่ในสาขาดังกล่าว มีดังนี้

  • การหางานด้านท่องเที่ยว โรงแรมยาก ทำให้ว่างงานนานขึ้น
  • คนที่ทำงานด้านท่องเที่ยว โรงแรม เช่น ไกด์ พนักงานในโรงแรม พนักงานบริษัททัวร์ ถูกลดเงินเดือน ให้ลาไม่รับค่าจ้าง ตลอดจนถูกปลด เนื่องจากบริษัทต้องหยุดดำเนินกิจการชั่วคราวหรือถาวร
  • ต้องหางานข้ามสายซึ่งต้องแข่งขันกับคนที่จบมาตรงสาย

ด้านข้อมูลในจ๊อบไทยพบว่า 5 สายงานที่นักศึกษาจบใหม่ด้านท่องเที่ยว/โรงแรมสมัครมากที่สุด ได้แก่ 1.งานธุรการ/จัดซื้อ 11,590 ครั้ง 2.งานบริการ 5,998 ครั้ง 3.งานขาย 5,682 ครั้ง 4.งานบุคคล/ฝึกอบรม 3,127 ครั้ง และ 5.งานการตลาด 2,633 ครั้ง

ในสถานการณ์นี้ปฏิเสธไม่ได้ว่านักศึกษาจบใหม่ในธุรกิจท่องเที่ยว/โรงแรม/การบิน ต้องเพิ่มโอกาสในการหางานจนกว่าสถานการณ์เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัว โดยต้องนำทักษะที่มีไปต่อยอดใช้กับสายงานอื่น (Transferable Skills) อย่างคนที่มีทักษะความสามารถทางภาษาอาจมองหาโอกาสในสายงานดูแลลูกค้าหรือบริการในธุรกิจอื่น ๆ  ที่ไม่ได้รับผลกระทบมาก หรือ งาน Account Executive ในเอเจนซี่ ซึ่งเป็นการใช้จุดแข็งทางด้านภาษาและการสื่อสารที่มีอยู่แล้ว และเพิ่มคอร์สเรียนเกี่ยวกับการตลาดออนไลน์ รวมทั้งการใช้ Social Media ก็จะทำให้โปรไฟล์เข้าตา HR มากขึ้นได้ หรืออาชีพเสริมอื่น ๆ เช่น ติวเตอร์สอนภาษา เนื่องจากช่วงนี้นักเรียนต้องเรียนออนไลน์ก็อาจเป็นโอกาสในการทำงานของเราได้